xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำหม่องเพิ่งตื่นไว้อาลัย 3 วันเหยื่อนาร์กีส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#3366FF>ภาพธงชาติพม่าที่ลดครึ่งเสาในใจกลางกรุงย่างกุ้งเมื่อวันที่ 20 พ.ค.2551 เป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์พายุพัดถล่มซึ่งผ่านมาแล้วเป็นเวลา 18 วัน โดยยอดผู้เสียชีวิตหรือสูญหายอย่างเป็นทางการล่าสุดอยู่ที่ 133,000 ราย.</CENTER>
ผู้จัดการออนไลน์ -- หลังจากมีผู้คนเสียชีวิตและสูญหายไปกว่าแสนคน และหลังจากไซโคลนนาร์กีสพัดทำลายไปได้ 17 วัน วันจันทร์ (19 พ.ค.) ที่ผ่านมา ทางการพม่าจึงได้ประกาศไว้อาลัยแก่คนตายเป็นเวลา 3 วัน รวมทั้งยอมรับความช่วยเหลือจากนานาชาติ ผ่านประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มอาเซียนเพื่อช่วยเหลือผู้ที่รอดชีวิตกว่า 2 ล้านคน

คณะปกครองทหาร กล่าวว่า ระยะเวลาในการไว้อาลัยจะเริ่มด้วยการลดธงชาติลงครึ่งเสาในวันอังคารนี้ (20 พ.ค.) หลังจากที่ภัยพิบัติได้เกิดขึ้นมาเป็นเวลา 18 วันแล้ว

ผู้นำคณะทหาร โดยพลเอกอาวุโส ตานฉ่วย ได้เดินทางออกเยี่ยมเยียนประชาชนที่รอดชีวิตในบริเวณเขตภัยพิบัติเป็นวันที่สองติดต่อกัน รวมทั้งได้เข้าไปยังบริเวณพื้นที่ราบปากแม่น้ำอิรวดีซึ่งได้รับความเสียหายมากที่สุดเป็นครั้งแรก สถานีโทรทัศน์ของรัฐกล่าว

ก่อนหน้าวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (18 พ.ค.) พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย ไม่ได้ปรากฏตัวต่อสาธารณะ หรือให้ความเห็นใดๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตหรือสูญหายขณะนี้เป็นจำนวน 133,000 ราย

แม้จะมีน้ำเสียงที่อ่อนลง แต่พม่าได้ระงับการรับความช่วยเหลือไว้ชั่วคราว รวมทั้งไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการกูเภัยเดินทางเข้าประเทศ แม้จะเผชิญกับเสียงเตือนจากนานาชาติว่าประชาชนอาจจะเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นหากไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

พม่ายอมตกลงในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่จัดขึ้นในสิงคโปร์เมื่อวันจันทร์ ให้อาเซียนเป็นตัวเชื่อมระหว่างพม่ากับความช่วยเหลือจากภายนอก หลังจากที่ไม่ยอมรับการช่วยเหลือจากต่างประเทศให้เข้าไปยังพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย

นายบัน คี-มูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ มีกำหนดเดินทางไปยังพื้นที่ประสบภัยอย่างหนักของพม่าในวันพฤหัสบดีที่จะถึงนี้ (22 พ.ค.) หลังจากที่ก่อนหน้านี้ประสบกับความล้มเหลวในการติดต่อทางโทรศัพท์กับ พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย

นายบัน ยังมีกำหนดที่จะเข้าพบเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล โฆษกสหประชาชาติกล่าว
<CENTER><FONT color=#3366FF>นายจอห์น โฮล์มส์ (กลาง) รองปลัดทบวงด้านมนุษยธรรมของ UN ขณะพูดคุยกับผู้ประสบเคราะห์จากเหตุการณ์ไซโคลนพัดถล่ม ในระหว่างเดินทางไปค่ายที่พักผู้ประสบภัยในเขตลาบุตตา (Labutta ) เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ทั้งนี้ผู้รอดชีวิตกว่า 70% ยังคงไม่ได้รับอาหารที่ UN ส่งมาเป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์แล้ว.</CENTER>
นายจอห์น โฮล์มส์ (John Holmes) รองปลัดทบวงด้านมนุษยธรรมแห่งองค์การสหประชาชาติ ได้รับอนุญาตเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (19 พ.ค.) ให้เข้าไปดูความรุนแรงของสถานการณ์ ในบริเวณที่ราบปากแม่น้ำที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักซึ่งหมู่บ้านแห่งหนึ่งถูกกระแสน้ำพัดหายไปทั้งหมด

แม้ว่าพม่าจะประนีประนอมกับประเทศในแถบอาเซียน แต่คณะรัฐบาลทหารยังคงไม่มีท่าทีที่อ่อนลงในการยอมรับให้ทีมช่วยเหลือจากต่างประเทศเข้าไปยังพื้นที่ภัยพิบัติเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่รอดชีวิตกว่า 2 ล้านคน

นายจอร์จ เยียว (George Yeo) รัฐมนตรีต่างประเทศของสิงคโปร์ กล่าวหลังจากจัดการประชุมหารือกับประเทศสมาชิกอาเซียนในประเด็นการให้ความช่วยเหลือแก่พม่า ว่า นายเนียน วิน (Nyan Win) รัฐมนตรีต่างประเทศพม่า ได้ประเมินค่าความเสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นจำนวนเงินกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นายเยียว กล่าวต่อว่า คณะปกครองทหารได้ตกลงยอมรับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจากทีมแพทย์ของประเทศสมาชิกอาเซียนต่างๆ

แพทย์จำนวน 30 คน ที่ไปจากประเทศสมาชิกทั้ง 9 ประเทศจะเดินทางเข้าไปยังพม่า นอกจากนั้น ยังมีคณะแพทย์จากอินเดีย บังกลาเทศ และ จีน ด้วย

“เราต้องพิจารณาถึงความต้องการและความช่วยเหลือที่เเน่ชัด จะไม่มีการเดินทางเข้าพม่าของเจ้าหน้าที่ต่างประเทศโดยปราศจากการดูแล” นายเยียว กล่าว
<CENTER><FONT color=#3366FF>รัฐมนตรีต่างประเทศของพม่า นายเนียน วิน (ซ้าย) กำลังพูดคุยกับนายจอร์จ เยียว รัฐมนตรีต่างประเทศของสิงคโปร์และนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ก่อนการประชุมนัดพิเศษรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในสิงคโปร์ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (19 พ.ค.) เพื่อพูดคุยถึงการส่งความช่วยเหลือเข้าไปยังพม่า.</CENTER>
รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ และประเทศสมาชิกอาเซียน จะดำเนินงานร่วมกันกับองค์การสหประชาชาติในการจัดการประชุมนานาชาติที่กรุงยางกุ้ง ในวันที่ 25 พ.ค.นี้

สหรัฐฯ ยังคงกำลังพิจารณาว่าจะเข้าร่วมในการประชุมที่จะจัดขึ้นที่กรุงย่างกุ้งหรือไม่ ในขณะที่รัฐบาลของอังกฤษ และฝรั่งเศส แสดงท่าทีต้อนรับต่อการดำเนินการของอาเซียน โดยมองว่าเป็นทิศทางที่ถูกต้อง

การเปิดรับความช่วยเหลือเพียงเล็กน้อยของพม่าสร้างความไม่พอใจแก่ UN และองค์กรต่างๆ รวมทั้งกองเรือของฝรั่งเศสและสหรัฐฯ ซึ่งบรรทุกสิ่งบรรเทาภัยพิบัติจำนวนมากและยังคงจอดรออยู่นอกชายฝั่ง

การเข้าไปยังบริเวณพื้นที่ราบปากแม่น้ำยังคงถูกปิดกั้น มีความเป็นไปได้น้อยมากที่ผู้สื่อข่าวรวมทั้งชาวต่างชาติจะสามารถถ่ายภาพสถานการณ์จากทางภาคพื้นดิน

ประชาชนที่อพยพออกมาจากพื้นที่ กล่าวว่า สถานการณ์นั้นยากที่จะรับได้ในขณะนี้ ประชาชนที่หิวโหยอาศัยอยู่ในกระท่อมที่มีแต่รอยรั่ว ซากศพที่ถูกปล่อยให้เน่าเปื่อยอยู่ตามข้างถนน ผู้ที่รอดชีวิตส่วนมากยังคงไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล

นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย กล่าวหลังจากการประชุมที่สิงคโปร์ ว่า แม้ความพยายามช่วยเหลือจะเป็นไปอย่างล่าช้า แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีการดำเนินการใดเลย โดยกลไกที่สำคัญของอาเซียนคือการระดมทรัพยากรรวมทั้งความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก

พม่าเปิดกว้างมากขึ้นในการรับความช่วยเหลือทางด้านการแพทย์ และหลังจากนั้น ก็อาจจะมีความเต็มใจที่จะเปิดรับทีมช่วยเหลือจากต่างประเทศมากขึ้น นายนพดล กล่าว

รัฐมนตรีต่างประเทศของพม่า นายเนียน วิน ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้คัดค้านต่อความช่วยเหลือของต่างประเทศ และยังให้คำมั่นว่า “หากเรามีความจำเป็นที่จะต้องออกวีซ่า (ให้แก่ทีมบรรเทาภัยพิบัติจากต่างชาติ) เราก็จะออกให้”
กำลังโหลดความคิดเห็น