xs
xsm
sm
md
lg

3 สัปดาห์พม่า 1.4 ล้านยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#3366FF>ภาพเมื่อวันที่ 23 พ.ค.2551 : บ้านที่ถูกพายุพัดทำลายในบริเวณที่ราบปากแม่น้ำอิรวดี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เข้าไปได้โดยทางเรือเท่านั้นและยังคงไม่ได้รับความช่วยเหลือจากทั้งทางรัฐบาลและองค์กรบรรเทาทุกข์จากนานาชาติแต่อย่างใด.</CENTER>

ผู้จัดการออนไลน์-- เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหประชาชาติกล่าวว่า พม่ายังคงอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน แม้ว่าพายุนาร์กิสพัดถล่มผ่านไปเป็นเวลากว่า 3 สัปดาห์แล้วก็ตาม ประชาชนกว่า 1.4 ล้านคนยังคงไม่ได้รับความช่วยเหลือ

"เรากำลังอยู่ในช่วงการบรรเทาภัยพิบัติอย่างเร่งด่วน" นายจอห์น โฮล์มส์ (John Holmes) รองปลัดทบวงด้านมนุษยธรรมแห่งองค์การสหประชาชาติ กล่าวในระหว่างการประชุมเพื่อระดมเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพม่า ที่กลุ่มอาเซียนจัดขึ้นในกรุงย่างกุ้งเมื่อวันอาทิตย์ (25 พ.ค.)

นายโฮล์มส์ กล่าวต่อว่า ผู้ประสบเคราะห์ที่มีประมาณ 2.4 ล้านคน มีเพียงประมาณถึงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่ได้รับความช่วยเหลือ หลังจากที่ไซโคนนาร์กิสพัดเข้าถล่มระหว่างวันที่ 2-3 พ.ค.

มีเหยื่อพายุราว 1 ล้านคนหรือคิดเป็น 41% เท่านั้นที่ได้รับความช่วยเหลือ แต่ผู้ประสบภัยส่วนใหญ่ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณรอบนอกกรุงย่างกุ้ง รวมทั้งในบริเวณที่ราบปากแม่น้ำอิรวดีที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักยังคงรอความช่วยเหลืออยู่

"การดำเนินการบรรเทาทุกข์นี้เป็นการช่วยเหลือผู้ที่ประสบเคราะห์ ไม่เกี่ยวกับการเมืองแต่อย่างใด ประชาคมระหว่างประเทศต่างมีความสามารถ ความพร้อม และเต็มใจที่จะช่วยรัฐบาลทหารพม่าในการแจกจ่ายความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมไปยังประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว" นายโฮล์มส์ กล่าว

"ผู้รอดชีวิตจากโศกนาฏกรรมครั้งนี้ สมควรได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน แต่พวกเรายังมีที่จะต้องทำอีกมากมาย เทียบกับเวลาที่ได้เสียไป" นายโฮล์มกล่าว

คณะปกครองทหารพม่ายังคงปิดกั้นไม่ให้ทีมผู้เชี่ยวชาญการบรรเทาทุกข์จากต่างชาติเข้าไปในพื้นที่บริเวณที่ราบปากแม่น้ำ แต่เลขาธิการองค์การสหประชาชาตินายบัน คี-มูน ประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (23 พ.ค.) ว่า รัฐบาลพม่าได้ยอมให้ทีมช่วยเหลือจากภายนอกเข้าประเทศแล้ว

"การตัดสินใจของรัฐบาลเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ในการยอมอนุมัติให้ทีมช่วยเหลือจากนานาชาติเข้าไปในพื้นที่บริเวณที่ราบปากแม่น้ำนั้นจะสามารถช่วยให้เพิ่มระดับคุณภาพ ความรวดเร็วของการให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแก่ผู้ประสบภัย" นายโฮล์มส์ กล่าว

"เราหวังว่าการดำเนินการจากการตัดสินใจนี้จะเป็นไปอย่างรวดเร็วและไม่ยุ่งยาก"

นายโฮล์มส์ ยังกล่าวต่อว่า การลำเลียงของบรรเทาภัยพิบัติต่างๆ ไปยังกรุงย่างกุ้งนั้นได้เพิ่มมากขึ้นถึง 10-15 เที่ยวบินต่อวัน โดยทั้งหมดลงจอดที่สนามบินกรุงย่างกุ้ง

นายโฮล์มส์ กล่าวอีกว่า องค์กรบรรเทาทุกข์ต่างๆ สามารถจัดการกับการลำเลียงขนส่งของบรรเทาภัยพิบัติได้โดยตรง ขณะที่ก่อนหน้านี้คณะรัฐบาลทหารพม่ายืนยันว่าจัดการความช่วยเหลือทั้งหมดได้ด้วยตนเอง.
กำลังโหลดความคิดเห็น