ผู้จัดการออนไลน์-- การประชุมช่วยเหลือเหยื่อพายุนาร์กิสในพม่าเริ่มขึ้นแล้วในวันอาทิตย์นี้ (25 พ.ค.) โดยมีตัวแทนจากนานาชาติเข้าร่วมประชุมกว่า 50 ประเทศเพื่อระดมเงินช่วยเหลือแก่เหยื่อพายุและกดดันให้รัฐบาลทหารดำเนินการตามที่ตกลงให้ทีมผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติเข้าประเทศ
ทางการพม่ากล่าวว่า มีประเทศต่างๆ 52 ประเทศ รวมทั้งองค์กรและทีมบรรเทาทุกข์จากองค์การสหประชาชาติ หรือ UN อีก 24 องค์กรเข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้
คณะปกครองทหารได้ประกาศว่ามีความต้องการเงินช่วยเหลือจำนวน 1.7 พันล้านดอลลาร์เพื่อบูรณะความเสียหายจากพายุ ขณะที่ยืนยันว่าการดำเนินการบรรเทาภัยพิบัติประสบความสำเร็จอย่างดี
แต่องค์การสหประชาชาติกล่าวว่าประชาชน 3 ใน 4 จากผู้ประสบภัยทั้งหมดจำนวน 2.4 ล้านคนยังคงไม่ได้รับความช่วยเหลือที่ต่างชาติส่งไปให้
นายบัน คี-มูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติร่วมเป็นประธานในการประชุมนี้ หลังจากที่ได้เดินทางเยือนพม่าเพื่อเข้าไปดูสถานการณ์ในบริเวณที่ราบปากแม่น้ำอิรวดีในวันวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ที่ผ่านมา
นายบันกล่าวว่า ตนได้บรรลุความตกลงกับพลเอกอาวุโสตาน ฉ่วยในการอนุญาติให้ทีมช่วยเหลือจากต่างชาติเข้าไปในบริเวณที่ราบปากแม่น้ำ หลังจากที่รัฐบาลปิดกั้นบริเวณดังกล่าวและไม่ให้ชาวต่างชาติเข้าไป
การประชุมนี้จัดขึ้น 2 วันหลังจาก พล.อ.ตาน ฉ่วยรับปากที่จะอนุญาตให้ทีมผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติเข้าไปในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากพายุ โดยเฉพาะในบริเวณที่ราบปากแม่น้ำ แต่ยังคงมีความกังวลจากหลายฝ่ายเพราะเท่าที่ผ่านมาพม่ามักจะไม่ยอมปฏิบัติตามพันธะสัญญาที่มีต่อประชาคมระหว่างประเทศ
ประเทศผู้บริจาคยังต้องการความแน่ใจว่าเงินช่วยเหลือจะถูกส่งไปยังผู้ประสบเคราะห์อย่างแท้จริง
"ผมต้องการพูดให้ชัดเจนอย่างที่ไม่มีอะไรจะเปลี่ยนได้ว่า ระบอบพม่าจะต้องไม่บิดพริ้วในการเปิดทาง อย่างที่ประชาคมระหว่างประเทศต้องการจะเห็น" นายดักลาส อเล็กซานเดอร์ เจ้าหน้าที่การพัฒนาระหว่างประเทศของอังกฤษกล่าว
นายอเล็กซานเดอร์กล่าวกับผู้สื่อข่าวเอเอฟพีก่อนเข้าร่วมในการประชุมว่า การพูดคุยจะมุ่งเน้นไปที่วิกฤติทางด้านมนุษยธรรมและความจำเป็นในการเข้าไปพื้นที่เพื่อจัดการกับปัญหา
จำนวนผู้เสียชีวิตหรือสูญหายขณะนี้อยู่ที่ 133,000 ราย ซึ่งองค์กรบรรเทาทุกข์ต่างเตือนว่าจำนวนอาจจะเพิ่มมากขึ้นหากไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการบรรเทาภัยพิบัติของสหภาพยุโรปได้เตือนถึงภาวะความอดอยากด้วย
แต่คณะทหารพม่ายังคงไม่อนุมัติวีซ่าและปล่อยให้ทีมผู้เชี่ยวชาญต่างๆ รอต่อไป และ ปิดกั้นต่างชาติไม่ให้เข้าไปในบริเวณที่ราบปากแม่น้ำซึ่งได้รับความเสียหายอย่างหนัก รวมทั้งยังเรียกผู้ประสบเคราะห์ที่ออกมากล่าวว่า พวกเขายังไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนว่าเป็น "พวกที่ทรยศต่อชาติ"
หมู่บ้านถูกพายุพัดทำลายเสียหายทั้งหมด และผู้สื่อข่าวที่เล็ดลอดเข้าไปยังพื้นที่ภัยพิบัติกล่าวว่าสถานการณ์เลวร้ายมาก ประชาชนจำนวนนับหมื่นๆ คนขาดอาหารและสิ่งของที่จำเป็นอื่นๆ
พื้นที่เพาะปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศถูกปล่อยให้ถูกทำลาย และยังคงมีศพเน่าเปื่อยลอยอยู่ในลำคลองต่างๆ ทั้งที่เหตุการณ์ผ่านมาเป็นเวลาหลายสัปดาห์แล้ว
แม้เลขาธิการองค์การสหประชาชาติกล่าวว่าพม่ายอมตกลงให้ทีมช่วยเหลือเข้าประเทศได้ แต่สื่อของรัฐยังคงไม่มีการประกาศยืนยันใดๆ ขณะที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าเงินบริจาคอาจจะไปไม่ถึงผู้ที่ต้องการอย่างแท้จริง
"คณะปกครองทหารพม่าพยายามที่จะใช้ความเสียหายด้านมนุษยธรรมจากไซโคลนนาร์กิสนี้เป็นเสมือนกับธุรกิจเก็งกำไร" นางเด็บบี้ สต็อตดาร์ด (Debbie Stothard) จากองค์กรเครื่อข่ายอาเซียนทางเลือก (Alternative ASEAN Network) กล่าว
มีรายงานกล่าวว่าองค์การสหประชาชาติและอาเซียนได้รับการอนุมัติให้ดูแลการดำเนินการบรรเทาภัยพิบัติ และจะมีการให้รายละเอียดถึงวีธีการจัดการในที่ประชุมวันอาทิตย์นี้ (25 พ.ค.)
ทางการพม่าได้อธิบายต่อองค์กรบรรเทาทุกข์ต่างๆ ว่าต้องการเงินช่วยเหลือจำนวนกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อนำไปซ่อมแซมที่พักอาศัยจำนวนหลายพันหลัง โรงพยาบาล โรงเรียนรวมทั้งฟื้นฟูพื้นที่เพาะปลูกข้าวหลังจากถูกพายุพัดทำลายเสียหายอย่างหนัก
รัฐบาลทหารได้ให้ตัวเลขความเสียหายอย่างละเอียด โดยกล่าวว่าพายุที่พัดกระหน่ำเป็นเหตุให้กระบือจำนวน 136,804 ตัวรวมทั้งไก่อีก 1,250,194 ตัวตาย แต่ประเทศผู้บริจาคต้องการที่จะเข้าไปประเมินสถานการณ์และตรวจสอบมากกว่านี้ก่อนที่จะส่งมอบเงินช่วยเหลือ
การประชุมซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลาครึ่งวันนี้ประกอบไปด้วยรัฐบาลจากหลายประเทศ องค์กรความช่วยเหลือระหว่างประเทศต่างๆ รวมทั้งพันธมิตรที่เข้มแข็งของพม่าอย่างจีนซึ่งส่งรัฐมนตรีต่างประเทศของจีนนายหยางเจียจื้อ (Yang Jiechi) เป็นตัวแทนเข้าประชุมในครั้งนี้.