ผู้จัดการรายวัน - รัฐสภาแห่งสหภาพยุโรป (European Parliament) ลงมติท่วมท้นด้วยคะแนน 524 เสียง โดยมีสมาชิกเพียง 13 คนงดออกเสียง เพื่อให้นำพลเอกอาวุโส ตานฉ่วย ขึ้นไต่สวนในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศกรุงเฮก ถ้าหากว่าผู้นำคณะปกครองทหารพม่ายังปฏิเสธรับความช่วยเหลือส่งไปยังประชาชนกว่าล้านในเขตประสบภัยพิบัติ
รัฐสภายุโรป กล่าวว่า ผู้นำระบอบทหารในพม่าสมควรต้องได้รับโทษทัณฑ์ฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ต้องรับผิดชอบต่อผู้รอดชีวิตจากไซโคลนนาร์กีส ที่จะล้มตายลงอีกจำนวนมากอันเนื่องมาจากการเพิกเฉยไม่ให้ความช่วยเหลืออย่างทันการณ์ของระบอบทหารที่ครองอำนาจมานาน 46 ปี
ถึงแม้ผลว่าการลงมติดังกล่าวจะเป็นญัตติที่ไม่มีผลผูกมัดรัฐบาลประเทศสมาชิกก็ตาม แต่ได้แสดงอารมณ์ความรู้สึกของประชาคมต่างๆ ในสหภาพยุโรปต่อการที่ทหารพม่าไม่ให้ความร่วมมือกับนานาชาติในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ
การลงมติดังกล่าวมีขึ้นในวันเดียวกันกับที่นายบันคีมูนเลขาธิการสหประชาชาติเดินทางถึงกรุงย่างกุ้ง และได้รับอนุญาตจากทางการพม่าให้ไปยังเขตภัยพิบัติปากแม่น้ำอิรวดีด้วย
“ถ้าหากทางการพม่ายังคงสืบต่อขัดขวางมิให้ความช่วยเหลือเข้าไปถึงผู้ที่กำลังอยู่ในอันตรายทั้งหลาย พวกเขาสมควรจะต้องได้รับการลงโทษฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติโดยศาลอาญาระหว่างประเทศ”
ข้างต้นคือ ประเด็นที่สมาชิกรัฐสภาอียูลงติเห็นด้วยด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ในการโหวตวันพฤหัสบดี (22 พ.ค.) ที่ผ่านมาในการประชุมที่เมืองสตราสบูร์ก (Strasbourg) ประเทศฝรั่งเศส
สมาชิกรัฐสภายุโรปยังเรียกร้องไปยังประเทศสมาชิกทั้งปวง ผลักดันให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติออกข้อมติให้มีผลให้ศาลยุตจิธรรมระหว่างประเทศกรุงเฮกทำการสอบสวนและนำไปสู่การไต่สวน ผู้นำพม่า
สมาชิกรัฐสภายุโรปมีมติท่วมท้นประณาม “การตอบสนองที่ล่าช้าอย่างไม่สามารถจะยอมรับได้ต่อการวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่รุนแรงมากโดยทางการพม่า ซึ่งมุ่งรักษาอำนาจของตัวเองก่อนการอยู่รอดของประชาชน”
การลงมติของรัฐสภาอียูมีขึ้นเพียง 2 วันก่อนหน้าที่ระบอบทหารพม่ากำลังจะให้ประชาชนในเขตภัยพิบัติไปลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญตามกำหนด ที่เลื่อนมาเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ขณะที่สหประชาชาติกล่าวว่าผู้ประสบเคราะห์ราว 2.4 ล้านคนยังคอยความช่วยเหลือ
ยูเอ็น กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีว่า เวลาล่วงเลยไป 20 วันนับตั้งแต่พายุนาร์กิสพัดเข้าถล่มภาคตะวันตกเฉียงใต้พม่า ในวันที่ 2-3 พ.ค. ถึงบัดนี้เพิ่งจะส่งความชวยเหลือถึงผู้ประสบภัยเพียงประมาณ 25% เท่านั้น
ทางการพม่าได้ประกาศว่า การลงประชามติของประชาชนนอกเขตภัยพิบัติซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พ.ค. มีผู้รับรองร่างรัฐธรรมนูญถึง 92.4% ท่ามกลางการกล่าวหาของหลายฝ่าย รวมทั้งผู้ไปใช้สิทธิ์ที่กล่าวว่า พวกเขาถูกบังคับถูกชักจูงและชักชวนให้ไปกากบาทต้องยอมรับ
รัฐสภาสหรัฐฯ ได้มีมติไม่ยอมรับผลการลงประชามติในพม่าเมื่อวันที่ 10 พ.ค. เช่นเดียวกันกับพรรคฝ่ายค้านใหญ่ที่สุดของประเทศที่นำโดยนางอองซานซูจี
รัฐสภายุโรปที่ลงมติเมื่อวันพฤหัสบดีนี้ยังได้ประณามสิ่งที่เรียกว่า “การบิดเบือนความเร่งด่วน” ของระบอบทหาร ผลักดันสิ่งที่เรียกว่าการลงประชามติในร่างรัฐธรรมฉบับลวงโลก รวมทั้งยังได้ปฏิเสธที่ยอมรับผลที่ออกมา ในขณะผืนแผ่นดินอันกว้างใหญ่ประสบภัยพิบัติและผู้คนนับล้านๆ กำลังเดือดร้อนแสนสาหัส
รัฐสภายุโรปเรียกว่า สถานการณ์ในพม่าขณะนี้ได้เปลี่ยนจาก “หายนะจากภัยธรรมชาติ” เป็น “หายนะจากน้ำมือมนุษย์”
**คุยพม่าเหมือนพูดกับคนหูหนวก**
ข้าหลวงใหญ่ฝ่ายมนุษยธรรมสหภาพยุโรปที่กลับจากการเยือนพม่าปลายสัปดาห์ที่แล้ว และได้ไปเยือนเขตภัยพิบัติที่ราบปากแม่น้ำอิรวดีได้รายงานต่อรัฐสภายุโรปเมื่อวันพุธ แสดงความเสียใจอย่างยิ่งที่ระบอบทหารพม่าไม่ยอมรับการช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพจากประชาคมระหว่างประเทศ
“ผมมีความรู้สึกว่าได้มีความไม่ไว้ใจอย่างรุนแรงต่อประชาคมระหว่างประเทศ” นายลูยส์ มิเชล (Louis Michel) ข้าหลวงใหญ่ฯ กล่าวต่อที่ประชุมรัฐสภายุโรปในเมืองสตราสบูร์ก
“บางครั้งคุณอาจจะมีความรู้สึกว่า... กำลังคุยกับคนหูหนวก มันช่างยากเย็นอย่างยิ่งในการที่จะเข้าถึงคนที่อยู่ข้างหน้าคุณ..” นายมิเชล กล่าว พร้อมทั้งสำทับอีกว่าการเดินทางไปพม่าครั้งนี้ “รู้สึกกระอักกะอ่วนใจอย่างที่สุด”
นายมิเชลได้ถามเจ้าหน้าที่พม่าว่า เพราะเหตุใดจึงปฏิเสธที่จะเปิดรับการช่วยเหลือจากนานาชาติหลังพายุพัดถล่มในวันที่ 3 พ.ค.
แต่เจ้าหน้าที่พม่ากล่าวผ่านล่ามแปลว่า “มีคำถามหลายคำถามที่ไม่ควรค่าแก่การตอบ”
นายมิเชลกล่าว “ผมผิดหวังที่ไม่ได้เห็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมเกิดขึ้น ผมไม่อาจปิดบังได้ว่าผมมีความสุขทีเดียวที่ได้กลับมายุโรป” นายมิเชลกล่าวต่อรัฐสภา
อย่างไรก็ตาม ข้าหลวงใหญ่ฯ อียูได้แสดงการคัดค้านความพยายามด้วยวิธีการ “บุกเข้าไปทิ้งร่ม” ความช่วยเหลือลงในเขตภัยพิบัติ โดยที่ไม่ต้องรอการอนุญาตจากทางการพม่า อันเป็นวิธีการที่เสนอโดยฝรั่งเศส
ข้าหลวงใหญ่ฯ อียูกล่าวว่า วิธีการนำเอาความช่วยเหลือไปทิ้งลงนั้น อาจจะไม่ต่างไปจากวิธีที่ประชาคมระหว่างประเทศทำอยู่ในขณะนี้คือ ลงเอยด้วยความล้มเหลว และอาจจะไม่ส่งผลดีใดๆ
แต่ความเห็นของนายมิเชลในเรื่องนี้ก็ได้รับการคัดค้านจาก ส.ส.พรรคกรีน หรือพรรคอนุรักษ์สภาพแวดล้อมแห่งยุโรป กับ ส.ส.พรรคเสรีนิยมจากเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมองว่าชาวพม่ายังต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน แม้ว่าระบอบทหารจะไม่ยอมให้เข้าไปก็ตาม
“แม้จะยังไม่มีผู้ใดทราบว่าจะทิ้งความช่วยเหลืออย่างไร แต่ในวันนี้เรารู้ว่าจะต้องเพิ่มการกดดัน กดดันไปเรื่อยๆ ในทางที่จะให้ระบอบทหารนำความช่วยเหลือ” นายแดเนียล โคห์น-เบนดิต (Daniel Cohn-Bendit) แห่งพรรคกรีนยูโรกล่าว
“ประชาชนพม่าจะต้องได้รับการช่วยเหลือเดี๋ยวนี้ ไม่ว่าจะโดยได้รับอนุญาตจากกลุ่มปกครองทหารหรือไม่ก็ตาม การกักความช่วยเหลือไม่ให้ไปถึงประชาชนของตัวเองนั้นเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ พวกทหารสมควรติดคุก” นายโคห์น-เบนดิต กล่าว
เฮลิคอปเตอร์อีก 9 ลำจะทยอยตามไปในวันข้างหน้า ทั้งหมดจะขนสิ่งของที่นานาชาติส่งเข้าไปช่วยเหลือจากกรุงย่างกุ้งไปยังประชาชนที่กำลังต้องการอย่างเร่งด่วน
นายไพรเออร์ กล่าวว่า WFP มีแผนที่จะซื้อข้าวอีก 10,000 ตัน หลังจากได้รับอนุญาตจากทางการพม่าเมื่อวันพุธให้สามารถขนเข้าไปส่งให้แก่ประชาชนที่กำลังอดอยากในเขตภัยพิบัติได้
องค์การสหประชาชาติประมาณว่า หลังจากพายุผ่านไปนานกว่า 20 วัน มีผู้ประสบภัยที่ต้องการอาหารกับน้ำสะอาดและที่พักพิงอย่างเร่งด่วนจำนวนเพียง 25% เท่านั้นที่ได้รับการช่วยเหลือแล้ว
สื่อของทางการพม่าระบุว่าที่ผ่านมาได้มี “พวกทรยศ” ออกข่าวบิดเบือนว่า ทางการไม่ช่วยเหลือประชาชน แต่ผู้สื่อข่าวที่เล็ดลอดเข้าถึงเขตภัยพิบัติได้รายงานสถานการณ์เช่นเดียวกันกับรายงานของสหประชาชาติ
โครงการอาหารโลกกล่าวว่า ที่ผ่านมาเพิ่งสามารถส่งอาหารให้แก่ผู้ประสบภัยได้ประมาณ 300,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนไม่ถึงครึ่งหนึ่งของผู้กำลังต้องการอาหารอย่างเร่งด่วน ที่คาดว่าจะมีถึง 750,000 คน