ผู้จัดการออนไลน์ -- องค์การสหประชาชาติ แถลงเมื่อวันเสาร์ (10 พ.ค.) ว่า จนถึงปัจจุบันหลังพายุนาร์กิสผ่านพ้นไปได้ 7 วัน ยังมีเหยื่อที่รอดชีวิตอย่างน้อย 7 ล้านคนรอรับความช่วยเหลือ ขณะที่ทางการได้กักสิ่งของที่ส่งเข้าไปถึงกรุงย่างกุ้งกับ 2 เที่ยวบินตั้งแต่วันศุกร์
เจ้าหน้าที่สหประชาชาติที่ปฏิบัติงานในพม่า กล่าวว่า ผู้คนนับแสนๆ ในเขตที่ราบปากแม่น้ำอิรวดีทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศยังคงรออาหาร น้ำดื่มและยารักษาโรคอย่างสิ้นหวัง ขณะที่รัฐบาลทหารกักความช่วยเหลือจากสหประชาชาติไว้ที่สนามบินเป็นเวลากว่า 24 ชั่วโมงแล้ว
นายริชาร์ด ฮอร์ซีย์ (Richard Horsey) โฆษกโครงการอาหารโลก หรือ WFP (World Food Programme) แห่งสหประชาชาติกล่าวว่า ขนมปังกรอบที่ให้แคลอรีสูงซึ่งขนไปจากประเทศไทยเมื่อวันศุกร์ (9 พ.ค.) ยังคงติดอยู่ที่สนามบินกรุงย่างกุ้ง
นายฮอร์ซีส์ กล่าวว่า ส่งของช่วยเหลือจากยูเอ็นไปถึงมือผู้สบเคราะห์แล้วประมาณ 500,000 คน ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่จำนวนดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผู้ประสบภัยระหว่าง 1.5-2 ล้านคน เท่ากับว่าจนถึงบัดนี้มีเพียง 1 ใน 4 ของผู้ปนระสบภัยเท่านั้นที่ได้รับการแจกจ่ายสิ่งของบรรเทาทุกข์เบื้องต้น
โทรทัศน์ของทางการพม่าคงตัวเลขผู้เสียชีวิตและสูญหายที่ประมาณ 60,000 คน ขณะที่ตัวเลขของสหรัฐฯ เชื่อว่าผู้เสียชีวิตอาจจะมีจำนวนถึง 100,000 คน
เมื่อวันศุกร์โทรทัศน์พม่าลดตัวเลขผู้เสียชีวิตลงเหลือเพียงประมาณ 23,000 คนเท่านั้น โดยไม่ได้กล่าวถึงผู้สูญหาย เจ้าหน้าที่สหประชาชาติเตือนว่า อาจจะมีผู้เสียชีวิตอีกมากมายหากไม่ส่งความช่วยเหลือไปทันท่วงที โดยเฉพาะอย่ายิ่งพายุอีก 1 ลูกกำลังก่อตัวขึ้นในทะเลเบงกอล
เจ้าหน้าที่กู้ภัย กล่าวว่า ช่วง 2 วันที่ผ่านมาเริ่มมีฝนตกในเขตประสบภัยพิบัติบริเวณปากแม่นำอิรวดี ผู้คนป่วยเป็นท้องร่วมกันมาก
มีผู้ป่วยอหิวาตกโรคเข้ารับการรักษาจำนวนมาก ป่วยเป็นไทฟอยด์อีกจำนวนหนึ่ง และยังมีผู้ที่ถูกงูพิษกัดอีกจำนวนหนึ่ง เนื่องจากงูได้หนีภัยพิบัติเข้าไปอาศัยใต้ซากหักพังของบ้านเรือน
“ยิ่งมีพยากรณ์อากาศว่าจะเกิดฝนตกหนักในช่วงสุดสัปดาห์นี้ก็น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง นี่เป็นการวิ่งแข่งกับเวลาแท้ๆ” นายฮอร์ซีย์ กล่าว
เจ้าหน้าที่ WFP กล่าวว่า เครื่องบินบรรทุกความช่วยเหลือของสหประชาชาติทั้ง 2 ลำ ยังคงถูกควบคุมที่สนามบินย่างกุ้งโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร นั่นคือเป็นเวลา 36 ชั่วโมงนับตั้งแต่ขนมปังส่งไปถึง และเจ้าหน้าที่ไม่ทำงานในวันเสาร์-อาทิตย์ ทำให้ต้องรอไปจนถึงวันจันทร์
เจ้าหน้าที่ยูเอ็น กล่าวว่า เขาไม่เคยเห็นขั้นตอนทางเอกสารที่ล่าช้าอย่างในพม่า ไม่เคยมีดินแดนไหนที่เป็นอย่างนี้ขณะที่ผู้คนเรือนล้านกำลังรอการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Medecins Sans Frontieres) หรือ MSF องค์การภาคเอกชนจากฝรั่งเศสกล่าวเครื่องบินบรรทุกยาและเวชภัณฑ์จะไปถึงกรุงย่างกุ้งวันเสาร์เช่นเดียวกัน และกำลังรอดูอยู่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
เวโรนิก แตร์ราส (Veronique Terrasse) โฆษกของ MSF กล่าวว่า ทีมงานอีก 25 คนที่ในทั่วโลกและมุ่งหน้าเข้าไปช่วยงานในพม่ากำลังรอวีซ่าตามต้นทางต่างๆ อย่างไม่มีอนาคต
“เรากำลังเจอกับระบบราชการกับขั้นตอนอืดอาดยืดยาดมาก อาจจะเป็นเพราะว่าเรากำลังทำงานใต้สภาพแวดล้อมที่ทางการไม่พร้อมที่จะเปิดรับความพยายามช่วยเหลือเช่นนี้” นางแตราส กล่าว
“เรากระวนกระวายกันมาก เพราะเรื่องอย่างนี้มันเกิดขึ้นขณะที่เรากำลังพยายามกู้ภัยช่วยเหลือผู้คน” โฆษกคนเดียวกันกล่าว
เมื่อวันศุกร์เจ้าหน้าที่สหประชาชาติประกาศงดเที่ยวบินบรรทุกความช่วยเหลือเที่ยวต่อไปเข้าพม่าจนกว่าจะสามารถจัดการกับ 2 เที่ยวบินนี้ให้เรียบร้อยก่อน