ผู้จัดการออนไลน์ -- โครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ หรือ WFP (World Food Programme) ได้ประกาศงดการส่งอาหารกับความช่วยเหลือเข้าพม่าอย่างกะทันหัน เมื่อวันศุกร์ (9 พ.ค.) นี้ หลังจากพม่าประกาศจะรับของช่วยเหลือ แต่ไม่รับเจ้าหน้าที่กู้ภัยจากภายนอกเข้าไปปฏิบัติการ
เจ้าหน้าที่ WFP ประจำพม่ากล่าวว่า การสั่งงดเที่ยวบินนำความช่วยเหลือไปยังประเทศนั้นมีขึ้นหลังจากทางการพม่าได้ตั้งเงื่อนไข “ที่ไม่สามารถยอมรับได้” ต่อความพยายามช่วยเหลือขององค์การดังกล่าว
ปัจจุบัน WFP เป็นหน่วยงานกู้ภัยช่วยเหลือเพียงหน่วยงานเดียวของยูเอ็นที่ปฏิบัติการอยู่ในพม่า ซึ่งจะต้องดูแลผู้ประสบเคราะห์จากพายุนาร์กีสนับล้านๆ คน ซึ่งกำลังหิวโหยและขาดแคลนน้ำดื่มอย่างหนัก
“ใช่แล้ว WFP ได้งดเที่ยวบิน (เข้าพม่า)” นายคริส เคย์ (Chris Kaye) ผู้อำนวยการประจำพม่ากล่าวว่า “การจำกัดที่ใช้กับเราเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้” แต่ไม่ได้เปิดเผยว่าสิ่งนั้นคืออะไร
นายเคย์ กล่าวว่า เที่ยวบินนำความช่วยเหลือไปยังประชาชนในพม่าจำนวน 2 เที่ยวบิน ไปถึงกรุงย่างกุ้งแล้วในวันเดียวกัน แต่จนกระทั่งตกเย็นก็ยังไม่สามารถขนสิ่งของต่างๆ ลงจากเครื่องได้ แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดว่าเป็นเพราะเหตุใด
“เราได้ร้องขอไปยังกระทรวงสวัสดิการสังคม (พม่า)...... เราจะต้องหาทางแก้ไขปัญหาเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้” นายเคย์ กล่าว
กระทรวงการต่างประเทศในเมืองเนย์ปีดอ ประกาศในตอนเช้าวันศุกร์ ว่า พม่ายังไม่พร้อมที่จะรับเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ต่างชาติเข้าประเทศ เช่นเดียวกันกับบรรดาสื่อมวลชน และต้องการรับเพียงสิ่งของช่วยเหลือสำหรับผู้ที่รอดชีวิตเท่านั้นโดยทางพม่าจะทำการจัดส่งเอง
แต่เจ้าหน้าที่โครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ หรือ WFP (World Food Programme) ได้กล่าวเตือนอีกครั้งหนึ่งในวันศุกร์ ว่า ผู้ประสบภัยจะเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยอาจจะเท่าๆ กับที่เสียชีวิตไปแล้ว จนกว่าทางการพม่าจะอนุญาตให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยเข้าไปกอบกู้โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน
ทางการพม่ายังคงตัวเลขผู้เสียชีวิตและสูญหายเอาไว้ประมาณ 60,000 ราย ขณะที่สหรัฐฯ เชื่อว่าจำนวนผู้เสียชีวิตอาจจะสูงถึง 100,000 ราย
ทางการพม่าแถลงตอนเช้าวันศุกร์ ว่า “ไม่พร้อม” ที่จะรับผู้ปฏิบัติงานต่างชาติเข้าประเทศ แต่นายริชาร์ด ฮอร์ซีย์ (Richard Horsey) กล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญการกู้ภัยมีความจำเป็นมากในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย เพราะผู้ที่มีประสบการณ์จะสามารถจัดการเรื่องต่างๆ แข่งกับเวลาได้
นายฮอร์ซีย์ ยังกล่าวอีกว่า ภายใต้สถานการณ์ที่ขมึงตึงขนาดนี้ ตนเองยังไม่เคยเห็นประเทศไหนหรือที่ใดๆ ที่ยอมรับการช่วยเหลือจากภายนอก แต่ไม่ยอมรับผู้เชี่ยวชาญให้เข้าไปทำหน้าที่ช่วยเหลือพร้อมกัน ซึ่งสองสิ่งนี้ต้องดำเนินคู่ขนานกันไป
“หากเราไม่มีการเสริมความช่วยเหลือถึงขั้นสมบูรณ์เต็มที่ ก็มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดความหายนะซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอาจจะทำให้ผู้คนล้มตายไปอีกเท่าๆ กับที่ไซโคลนทำลายในครั้งแรก” นายฮอร์ซีย์ กล่าวกับเอเอฟพี
เจ้าหน้าที่ผู้นี้ กล่าวอีกว่า พม่ากำลังต้องการการขยายการกู้ภัยช่วยเหลืออย่างใหญ่โตไม่ใช่เพียงการออกวีซ่าให้กับเจ้าหน้าที่สำคัญเพียงไม่กี่คน เพราะยังหมายถึงว่าจะต้องมีเรือ มีเฮลิคอปเตอร์อีกด้วย ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ทางการพม่าจะต้องเปิดรับ