xs
xsm
sm
md
lg

นักธุรกิจ-นักการทูตแฉพม่าจัดฉากทัวร์อิรวดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#3366FF>ภาพเมื่อวันที่ 16 พ.ค.2551 : บ้านหลังหนึ่งในหมู่บ้านจ๊อกตัน (Kyauktan) ที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบปากแม่น้ำอิรวดีได้รับความเสียหายอย่างมากจากเหตุการณ์พายุพัดถล่ม ทั้งนี้ หลายๆ หมู่บ้านยังคงมีน้ำท่วมขังและเต็มไปด้วยโคลนในขณะนี้.</CENTER>

ผู้จัดการออนไลน์ -- นักการทูตที่เดินทางกลับจากบริเวณพื้นที่ราบปากแม่น้ำอิรวดีกล่าวว่า ทางการพม่าเพียงแต่จัดฉากสิ่งที่ต้องการให้ชาวโลกเห็น โดยจัดให้คณะทูตานุทูตเดินทางจากกรุงย่างกุ้งไปยังเขตที่ราบปากแม่น้ำอิรวดีวันเสาร์ที่ผ่านมา

ผู้ที่ร่วมเดินทาง กล่าวว่า สถานการณ์นั้นมีความรุนแรงอย่างมาก และผู้รอดชีวิตจำนวนมากยังคงไม่ได้รับความช่วยเหลือมาเป็นเวลามากกว่า 2 สัปดาห์แล้วหลังจากเกิดเหตุ ที่นั่นเป็นอาณาบริเวณที่ได้รับความเสียอย่างหนักที่สุดจากการพัดทำลายของไซโคลนนาร์ก์สระหว่างวันที่ 3-4 พ.ค.ที่ผ่านมา

รัฐบาลทหารได้พาคณะทูตรวมทั้งทีมช่วยเหลือจากต่างประเทศเข้าไปยังพื้นที่วันเสาร์ หลังจากที่ได้มีการประกาศจำนวนผู้เสียชีวิตหรือสูญหายล่าสุดอย่างเป็นทางการก่อนหน้านั้นไม่กี่ชั่วโมงโดยตัวเลขล่าสุดของผู้เสียชีวิตหรือสูญหายอยู่ที่เกือบ 134,000 ราย

“สิ่งที่น่าสนใจมากที่สุดของของการเดินทางนี้คือสิ่งที่ฉันไม่ได้เห็น มันน่าสนใจมากกว่าสิ่งที่ได้เห็น” นางซู บาร์เดล (Sue Wardell) เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงพัฒนาระหว่างประเทศของอังกฤษกล่าว หลังจากที่ร่วมเดินทางเข้าไปยังพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายซึ่งจัดโดยรัฐบาลพม่า

เจ้าหน้าที่คนเดียวกัน กล่าวต่อว่า “มีครอบครัวหลายครอบครัวยืนอยู่ภายนอกเต็นท์ที่พัก ขณะที่พื้นนั้นเต็มไปด้วยโคลนและไม่มีร่องรอยของการเดินเข้าออกที่พักนั้น”

“และเมื่อฉันมองดูภายใน มันสะอาดมาก ไม่มีร่องรอยใดๆ ทั้งสิ้น มีเต็นท์ที่พักที่นั่นแต่ว่ามันได้ถูกใช้จริงหรือไม่ และพวกเขาอยู่ที่นั่นมานานเท่าไหร่” นางวาร์เดล กล่าว

รัฐบาลทหารพม่ากำลังเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์จากต่างชาติเกี่ยวกับความล่าช้าในการเข้าไปช่วยผู้ประสบภัยซึ่งยังคงยืนยันว่าสามารถจัดการกับปัญหาดังกล่าวได้เพียงลำพัง ในขณะเดียวกันยังมีประชาชนอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือแต่อย่างใด

“ภาพที่เห็นนั้นมันแย่เกินกว่าที่จะอธิบายได้” นักธุรกิจชาวต่างชาติคนหนึ่งกล่าว แต่ได้ปฏิเสธที่จะเปิดเผยว่าสามารถฝ่าด่านของทหารเข้าไปในเขตภัยพิบัติได้อย่างไร

ชายคนเดียวกันกล่าวต่อว่า “กระท่อมที่พักอาศัยที่ได้รับความเสียหายดูเหมือนว่างเปล่า ไม่มีผู้อาศัยเมื่อมองผ่านๆ แต่จริงๆ แล้วมีผู้ที่รอดชีวิตอาศัยอยู่ข้างใน”

“มีกระท่อมหลังหนึ่งถูกพายุพัดหลังคาหายไป แต่ภายในมีผู้ที่รอดชีวิตเกือบ 100 คนอยู่กันอย่างเบียดเสียด นั่งหมอบหลบฝน ไม่มีอาหารและน้ำดื่ม นั่งหนาวสั่นท่ามกลางความหนาวเหน็บจากฝนที่ตกลงมา แต่ละคนไม่มีสัมภาระอะไรนอกจากเสื้อผ้าที่ใส่อยู่และตัวพวกเขาเอง”

คณะปกครองทหารได้ออกประชาสัมพันธ์ชวนเชื่อ ทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์โดยการถ่ายทอดภาพและเสียงของประชาชนกำลังรับเข้ารับสิ่งของที่จำเป็นจากบรรดานายพลพม่าด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มและซาบซึ้ง แต่ขณะเดียวกัน นักธุรกิจที่เข้าไปในพื้นที่ประสบภัยกลับให้ภาพที่แตกต่างกันออกไป

“พวกคณะทหารเพียงแค่นำสิ่งของที่จะแจกจ่ายมาและก็ถ่ายรูปกับผู้ที่รอดชีวิตด้านหน้าของหน่วยให้ความช่วยเหลือ” ชาวต่างชาติคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในกรุงย่างกุ้ง กล่าว

ชายคนเดียวกันกล่าวต่อว่า “สิ่งของบรรเทาภัยพิบัตินั้นไม่ได้ถูกนำไปแจกจ่ายอย่างมีประสิทธิภาพให้แก่เหยื่อพายุที่กำลังต้องการความช่วยเหลือที่แท้จริง”

ประชาคมระหว่างประเทศต่างไม่พอใจและผิดหวังต่อการปฏิเสธที่จะอนุญาตให้ทีมช่วยเหลือด้านภัยพิบัติเข้าไปในพื้นที่พระสังฆราชเดสมอนด์ ตูตู (Desmond Tutu) แห่งแอฟริกาใต้ได้ยกประเด็นของอาชญากรรมอันน่ากลัวที่กำลังคุกคามมนุษยธรรมโดยรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าขึ้นมาพูดวันศุกร์ที่ผ่านมา (16 พ.ค.)
กำลังโหลดความคิดเห็น