xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ดีปากร้ายใจดีทุ่มช่วยพม่าสูงสุด $52 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#FF0000>นายกอร์ดอน บราวน์ (Gordon Brown) นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ขณะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนระหว่างการแถลงข่าวในโอกาสที่นายยาสุโอะ ฟุคุดะ (Yasuo Fukuda) นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นเดินทางมาเยือน เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2551(ภาพ : เอเอฟพี). </CENTER>

ผู้จัดการออนไลน์ -- อังกฤษซึ่งเป็นประเทศที่ออกวิจารณ์รัฐบาลทหารพม่าหนักหน่วงที่สุด หลังเกิดภัยพิบัติไซโคลนนาร์กีส ได้ประกาศเพิ่มความช่วยเหลือให้ผู้ประสบภัยในประเทศนี้เพิ่มอีก 10.5 ล้านปอนด์ ทำให้ยอดเงินบริจาคของอังกฤษขณะนี้มีจำนวนมากกว่า 27 ล้านปอนด์ (ประมาณ 52.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

สหรัฐฯ เคยแถลงก่อนหน้านี้ ว่า พร้อมจะให้ความช่วยเหลือแก่พม่ากว่า 20 ล้านดอลลาร์ แต่ก็มีเงื่อนไข และยังไม่ได้ข้อยุติ

นายกรัฐมนตรีอังกฤษ นายกอร์ดอน บราวน์ ได้ออกประณามผู้นำทหารพม่าอย่างเผ็ดร้อน

รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ก็ให้การสนับสนุนฝรั่งเศสอย่างแข็งขัน ในความพยายามที่จะนำปัญหาการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนพม่าเข้าพิจารณาในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และนำผู้นำทหารของประเทศนี้ขึ้นไต่สวนในศาลระหว่างประเทศกรุงเฮกในข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

ในคำแถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันอังคาร (3 มิ.ย.) ที่ผ่านมา นายดักลัส อเล็กซานเดอร์ (Douglas Alexander) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาระหว่างประเทศ ได้กล่าวเตือนว่าสถานการณ์หลังจากที่เกิดเหตุพายุไซโคลนนาร์กีสพัดถล่มนั้นยังคงมีความรุนแรง ซึ่งมีผู้ประสบภัยจำนวนมากที่กำลังต้องการความช่วยเหลืออย่างมาก

“สืบเนื่องจากการบริจาคเงินช่วยเหลือครั้งก่อนจำนวน 17 ล้านปอนด์ ผมขอประกาศในวันนี้ว่า เราจะบริจาคเงินเพิ่มอีกจำนวน 10.5 ล้านปอนด์” นายอเล็กซานเดอร์ กล่าว

รัฐมนตรีคนเดียวกันนี้ กล่าวต่อว่า การบริจาคเงินเพิ่มนี้จะส่งผ่านไปทางกาชาดสากล เอ็นจีโอรวมทั้งองค์กรต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในท้องที่นั้นๆ รวมทั้งยังยืนยันว่าจะไม่มีความช่วยเหลือใดที่ส่งผ่านไปยังคณะรัฐบาลทหารพม่าโดยตรง

“สิ่งที่เราให้ความสำคัญมากที่สุด คือ การส่งความช่วยเหลือต่างๆ ไปยังผู้ที่มีความต้องการอย่างแท้จริง”

การที่อังกฤษมุ่งความสำคัญไปที่การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบเคราะห์ ไม่ได้ทำให้พันธะความรับผิดชอบในประเด็นของประชาธิปไตยในพม่านั้นลดลง นายอเล็กซานเดอร์ กล่าว

นอกจากนี้ นายอเล็กซานเดอร์ ยังได้แสดงความเสียใจต่อการยืดเวลาในการกักบริเวณของนางอองซาน ซูจี ผู้นำทางด้านประชาธิปไตย ออกไปอีก 1 ปี รวมทั้งกล่าวว่า ผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญซึ่งจัดขึ้นหลังจากที่เกิดเหตุภัยพิบัตินั้นไม่มีความน่าเชื่อถือ

จากเหตุไซโคลนพัดเข้าถล่มเมื่อต้นเดือน พ.ค.นี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายกว่า 133,000 ราย หมู่บ้านหลายหมู่บ้านถูกพายุพัดทำลายหายไปจากแผนที่ รวมทั้งยังทำให้พื้นที่เกษตรกรรมเสียหายอย่างหนักเป็นบริเวณกว้าง

แม้จะมีการอนุญาตจากรัฐบาลทหารพม่าให้ทีมช่วยเหลือจากภายนอกเข้าไปยังพื้นที่ที่ประสบภัย โดยเฉพาะบริเวณที่ราบปากแม่น้ำอิรวดี ซึ่งได้รับความเสียหายอย่างมากได้ แต่เจ้าหน้าที่จากองค์การสหประชาชาติกล่าวว่า การดำเนินการยังคงเป็นไปอย่างจำกัด โดยมีเจ้าหน้าที่จำนวนไม่มากนักที่สามารถเข้าไปยังพื้นที่ดังกล่าวได้

นายอเล็กซานเดอร์ กล่าวว่า คำมั่นสัญญาที่คณะปกครองทหารพม่าได้ให้กับนายบัน คี-มูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาตินั้น ควรจะถูกแปรให้เป็นการปฏิบัติมากขึ้น

องค์การสหประชาชาติ กล่าวว่า มีผู้ประสบภัยเพียง 1.3 ล้านเท่านั้นจากจำนวนทั้งหมด 2.4 ล้านคนที่ได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรบรรเทาทุกข์จากภายนอก

อังกฤษได้ส่งเรือฟรีเกทส์เวสต์มินสเตอร์ (Westminster) พร้อมสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยเข้าไปยังน่านน้ำพม่า ในเวลาไล่เลี่ยกับเรือรบจากสหรัฐฯ และฝรั่งเศสไปถึง แต่ยังไม่ทราบข่าวคราวล่าสุด
กำลังโหลดความคิดเห็น