ผู้จัดการรายวัน-- สายการบินแห่งชาติเวียดนามอาจจะเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์นครโฮจิมินห์ในปีนี้ หลังจากรัฐบาลได้อนุมัติแผนการนำหุ้นออกจำหน่ายแก่พันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ระหว่าง 10-20% โดยบริษัทลงทุนของรัฐบาลจะยังคงถือหุ้นใหญ่ 80-90% ในเวียดนามแอร์ไลน์สต่อไป
นายเหวียนซิงหุ่ง (Nguyen Sinh Hung) รองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 เปิดเผยเรื่องนี้ในคำแถลงฉบับหนึ่งที่นำออกเผยแพร่ในวันอังคาร (15 ม.ค.)
ตามคำแถลงของรองนายกฯ เวียดนาม รัฐบาลได้อนุญาตให้บริษัทสายการบินแห่งชาติจัดหาบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศเพื่อเริ่มกระบวนการกระจายหุ้นระดมทุนและเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนได้ ทั้งนี้เป็นรายงานของสื่อทางการเวียดนาม
ในปี 2550 การบินเวียดนามได้ให้บริการผู้โดยสารจำนวน 8 ล้านคนทั้งภายในและต่างประเทศ มีรายได้ทั้งหมด 20.3 ล้านล้านด่ง หรือประมาณ 1,250 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 15.5% เทียบกับปีก่อนหน้านั้นในท่ามกลางปัญหาหลายๆ ด้าน
ผู้บริหารของการบินเวียดนามกล่าวว่า นอกจากปัญหาต้นทุนสูงขึ้นอันเนื่องมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่แพงขึ้นแล้ว การขาดแคลนเครื่องบินก็เป็นปัญหาที่มีความรุนแรง ทำให้ไม่สามารถขยายการให้บริการในเส้นทางทีมีศักยภาพสูงต่างๆ ได้
เวียดนามแอร์ไลน์สกำลัง พัฒนาระบบจำหน่ายตั๋วโดยสารจากที่ใช้ตั๋วกระดาษไปเป็นตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticketing) คาดว่าจะเริ่มใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค. ปีนี้ เป็นไปตามมาตรฐานปฏิบัติของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ IATA (International Air Transport Association)
ตามข้อมูลบนเว็บไซต์ หลังจากใช้ระบบตั๋วอิเลกทรอนิกส์แล้วขั้นตอนต่อไปเวียดนามแอร์ไลน์ส จะเปิดจำหน่ายตั๋วออนไลน์ทางอินเทอร์เน็ต เช่นเดียวกับที่สายการบินหลายแห่งกำลังปฏิบัติ
ปีที่แล้วสายการบินเวียดนามกับบริษัทลูกได้เซ็นสัญญาซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 787 ไปแล้วรวม 16 ลำ กับแอร์บัส A350-800XWB จำนวน 10 ลำ และ A320 อีก 20 ลำ ยังมีเครื่องบินโดยสารขนาดเล็กแบบ ATR72-500 อีก 5 ลำ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนเครื่องบินในระยะปานกลาง
ปัจจุบันสายการบินแห่งชาติเวียดนามมีเครื่องบินใช้การจำนวน 46 ลำ ตามแผนการจัดซื้อจะทำให้มีเครื่องบินให้บริการกว่า 80 ลำภายในปี 2555 และเพิ่มเป็นกว่า 100 ลำในปี 2563
อุตสาหกรรมการบินในเวียดนามขยายตัวในอัตราสูงในช่วงปีใกล้ๆ นี้ พร้อมๆ กับการลงทุนจากต่างประเทศและการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
ด้วยจำนวนประชากร 85 ล้านคนและประมาณ 2 ใน 3 เป็นคนในวัยหนุ่มสาวคน ทำให้เวียดนามได้รับความสนใจจากสายการบินต้นทุนต่ำทั้งหลายในภูมิภาค
สายการบินแอร์เอเชียจากมาเลเซีย ไทยแอร์เอเชีย ไทเกอร์แอร์จากสิงคโปร์ เจ็ทสตาร์ของแควนตัส ล้วนเปิดบินไปยังกรุงฮานอยในช่วงปีใกล้ๆ นี้ สายการบินนกแอร์จากเข้าไปเป็นรายล่าสุดปลายปีที่แล้ว
เมื่อต้นปี 2550 รัฐบาลได้อนุมัติให้สายการบินแปซิฟิกแอร์ไลน์สขายหุ้นส่วน 30% แก่สายการบินแควนตัส และพัฒนาให้เป็นการบินต้นทุนต่ำเพื่อแข่งขันช่วงปลายปีทางการเวียดนามได้อนุมัติการก่อตั้งสายการิบนเวียดเจ็ท (VietJet Air) เป็นสายการบินบินเอกชนแห่งแรกของประเทศ.