นายฝั่มหง็อกมีง (Pham Ngoc Minh) ประธานและซีอีโอของเวียดนามแอร์ไลนส์ กล่าวถึงเรื่องนี้ในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์แทงเนียนเกี่ยวกับแผนการปลดระวางและจอดเครื่องบินจำนวนหนึ่งเพื่อซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ในช่วงปีข้างหน้านี้
รายได้ของสายการบินแห่งชาติเวียดนามเพิ่มขึ้น 31% เป็น 1,500 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้วเทียบกับผลประกอบการปี 2550 แต่ผลกำไรก่อนเสียภาษีหล่นวูบลง 35% เหลือเพียง 13.7 ล้านดอลลาร์ อันเนื่องมาจากค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่พุ่งทะยานไม่หยุดระหว่างต้นปีถึงกลางปีที่แล้ว รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มตกต่ำ ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมการบิน
ปัจจุบันเวียดนามแอร์ไลนส์มีเครื่องบินชนิดต่างๆ ใช้งานอยู่เพียงประมาณ 50 ลำ เป็นสายการบินอันดับ 4 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากสิงคโปร์แอร์ไลนส์ การบินไทยและมาเลเซีย เปิดบิน 29 เส้นทางในประเทศกับ 36 เส้นทางระหว่างประเทศ
ผู้บริหารการบินเวียดนามประกาศเมื่อหลายปีที่แล้วแผนการที่จะก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในสามสายการบินอันดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชียภายในปี 2563 การประกาศขึ้นเป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับเป็นขั้นตอนใหม่ที่สำคัญในแผนพัฒนา
นายมีงกล่าวว่าเวียดนามแอร์ไลนส์กำลังจะต้อง "โล๊ะ" เครื่องบินเก่าจำนวนหนึ่งออกจากฝูงในปีนี้กับปีหน้า อีกจำนวนหนึ่งจะต้องจอดเพื่อซ่อมแซมและบำรุงรักษาครั้งใหญ่ แต่ทั้งหมดนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติการทั้งในและต่างประเทศ
ประธานของเวียดนามแอร์ไลนส์ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนเครื่องบินที่จะต้องปลดระวางและจอดซ่อมบำรุงดังกล่าว
อย่างไรก็ตามผู้บริหารระดับสูงรายนี้ยอมรับว่า ปี 2552 เป็นปีที่ลำบากมากสำหรับการบินพาณิชย์ในทุกประเทศทั่วโลก ขนาดของตลาดเล็กลงมาก เนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำในยุโรปและสหรัฐฯ สายการบินทุกแห่งจะต้องแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย รักษาส่วนแบ่งตลาด
"เวียดนามแอร์ไลนส์จะใช้โอกาสนี้ปรับปรุงการให้บริการ ขยายฝูงบิน เพื่อที่จะก้าวขึ้นเป็นสายการบินใหญ่อันดับสองรองจากสิงคโปร์แอร์ไลนส์ในปี 2558" นายมีงกล่าว
ในช่วงปีใกล้ๆ นี้สายการบินเวียดนามได้สั่งซื้อเครื่องบินรุ่นใหม่ไปแล้วจำนวน 39 ลำ เป็นโบอิ้ง 787-9 แอร์บัส A350-900 และ A321 นอกจากนั้นบริษัทเช่าอากาศยานซึ่งเป็นบริษัทลูก ร่วมทุนกับธนาคารและนักลงทุนรายย่อยในประเทศ ยังสั่งซื้ออีก 8 ลำ เพื่อให้เช่า
การบินเวียดนามจะนำเครื่องบินแบบ ATR72-500 เข้าแทนที่ ATR72-200 รุ่นเก่าทั้งหมดระหว่างเดือน มิ.ย.ปีนี้จนถึงเดือน ก.ค.ปีหน้า หลังจากได้เซ็นสัญญาซื้อ ATR72-500 จำนวน 5 ลำเมื่อปีกลาย จากผู้ผลิตในฝรั่งเศส
ตามแผนพัฒนาที่ประกาศใหม่ สายการบินเวียดนามตั้งเป้าจะให้มีเครื่องบินในฝูงทุกชนิดรวม 104 เครื่องในปี 2548 และเพิ่มขึ้นเป็น 150 เครื่องในปี 2563 หรืออีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า
การให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการพัฒนาฝูงบินของผู้บริหารเวียดนามแอร์ไลนส์ ยังมีขึ้นพร้อมกับข่าวที่ว่า กลุ่มมิตซูบิชิจากญี่ปุ่น ยังคงเคลื่อนไหวอย่างเงียบๆ ก่อสร้างโรงงานประกอบชิ้นส่วนของเครื่องบินโบอิ้ง 737 ในนครโฮจิมินห์ ขณะเดียวกันธนาคารเพื่อการลงทุนและการพัฒนาได้ให้เงินกู้หลายร้อยล้านดอลลาร์แก่สายการบินเวียดนาม เพื่อเข้าร่วมถือหุ้นในโครงการสร้างส่วนประกอบเครื่องบินแอร์บัส ที่ยังไม่ทราบรุ่น
แอร์เวียดนามกับบริษัทลูกได้เซ็นสัญญาซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 787-9 ครั้งล่าสุดในเดือน พ.ย.2551 แต่เพิ่งจะมีการเปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ว่า สัญญาซื้อได้พ่วงเงื่อนไขการเปิดศูนย์ผลิตชิ้นส่วนกับโรงซ่อมบำรุงเครื่องบินโบอิ้งในเวียดนามด้วย
เพิ่งจะมีการเปิดเผยเช่นเดียวกันว่า เวียดนามเจรจาซื้อเครื่องบินของค่ายยุโรปด้วยเงื่อนไขคล้ายกันนี้
สื่อของทางการรายงานก่อนหน้านี้ว่า สายการบินเวียดนามมีแผนการจะซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 787-9 ซึ่งเป็นรุ่นที่ก้าวหน้าที่สุดของค่ายสหรัฐฯ รวมทั้งสิ้น 29 ลำ ในช่วงหลายปีข้างหน้านี้ จากปัจจุบันที่มีการสั่งซื้อทั้งหมด 16 ลำ ขณะที่แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมกล่าวว่า จำนวนที่สั่งซื้อได้เพิ่มขึ้นเป็น 18 ลำแล้ว
ความเคลื่อนไหวต่างๆ เหล่านี้ยังมีขึ้นท่ามกลางรายงานที่ว่า ค่ายผู้ผลิตเครื่องบินยุโรปกำลังเจรจาขายแอร์บัส A380 ซึ่งเป็นเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ที่สุดในโลกให้แก่เวียดนาม
ระหว่างการบินตระเวนแนะนำตัวในภูมิภาคเอเชียปี 2550 แอร์บัสได้กำหนดให้เวียดนามเป็นอีกปลายทางหนึ่งในภูมิภาคนี้ A380 ได้ลงจอดที่ท่าอากาศยานโนยบ่ายกรุงฮานอย หลังจากแวะจอดกรุงเทพฯ ขณะมุ่งหน้าสู่ฮ่องกง
เวียดนามเป็นตลาดใหญ่ที่ในปัจจุบันมีประชากร 86.7 ล้านคน คาดว่าจำนวนจะเพิ่มขึ้นเป็น 100 ล้านคนในปี 2563 การบินนภายในประเทศจึงมีศักยภาพสูงมาก ในขณะที่ช่วงปีใกล้ๆ นี้เศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ย 8.2-8.3% ต่อปี
แต่เดิมประเทศนี้มีสายการบินเพียง 3 แห่งคือ เวียดนามแอร์ไลนส์ แปซิฟิกแอร์ไลนส์ ซึ่งในปัจจุบันแปรสภาพมาเป็นสายการบินต้นทุนต่ำ เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นเจ็ทสตาร์แปซิฟิก (JetStar Pacific) โดยสายการบินแควนตัสเข้าถือหุ้น
อีกแห่งหนึ่งคือ VASCO แอร์ไลนส์ เป็นสายการบินลูก ให้บริการแบบเช่าเหมาลำและรับส่งสินค้าทางอากาศ
ปีที่แล้วเวียดนามได้อนุญาตให้จัดตั้งสายการบินโลว์คอสท์อีก 3 แห่ง ได้แก่เวียตเจ็ทแอร์ แม่โขงแอร์ กับอินโดไชน่าแอร์ไลนส์ และเชื่อว่าจะมีการตั้งขึ้นใหม่อีก 2-3 แห่งในปีนี้.