ผู้จัดการรายวัน-- เครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 777 สายการบินแห่งชาติเวียดนามอื้อฉาวอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันพุธ (30 ก.ค.) เมื่อเกิดไฟลุกไหม้ขึ้นภายในเครื่อง เพียงไม่นานหลังลงจอดที่ท่าอากาศยานนาริตะกรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น
เหตุเกิดเพียงไม่นานหลังจากเครื่องโบอิ้งลงจอดเมื่อเวลา 7.41 น. (5.41 น.เวลาในประเทศไทย) สำนักข่าวเอเอฟพีอ้างการเปิดเผยของโฆษกกระทรวงขนส่ง นายฟุมิโอะ ชิชิโร (Fumio Shishiro)
เครื่องโบอิ้งเวียดนามบินซึ่งบินขึ้นจากนครโฮจิมินห์ได้ลงจอดก่อนจะวิ่งเข้าลานจอดให้ผู้โดยสารลงตามปกติ ก่อนที่จะปรากฏกลุ่มควันพวยพุ่งขึ้นจากเครื่องยนต์เครื่องหนึ่ง โทรทัศน์ในญี่ปุ่นรายงานให้เห็นภาพเหตุการณ์นี้
โฆษกคนเดียวกันกล่าวว่าไฟลุกขึ้นหลังจากผู้โดยสารออกจากเครื่องราว 1 ชั่วโมง แต่พนักงานดับเพลิงเข้าควบคุมเอาไว้ได้ และตำรวจกำลังเข้าสอบสวนหาข้อเท็จจริง แต่ผู้โดยสาร 264 คนกับลูกเรืออีก 13 คนไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ
"มีกลิ่นไหม้จากเครื่องยนต์เล็กน้อย" ผู้โดยสารชายคนหนึ่งกล่าวกับโทรทัศน์เอ็นเอชเค
แต่สายการบินแห่งชาติเวียดนามออกคำแถลงในวันเดียวกันระบุว่า ลูกเรือได้สังเกตเห็นสัญญาณเตือนว่าอุณหภูมิพุ่งขึ้นสูงผิดปกติ และ มีควันพุ่งขึ้นจากเครื่องยนต์เครื่องที่ 2 ขณะโบอิ้ง 777 เที่ยวบิน VN950 กำลังแล่นบนพื้นที่ท่าอากาศยานนาริตะนอกกรุงโตเกียว
"ลูกเรือได้ดำเนินตามขั้นตอนต่างๆ ตามวิถีปฏิบัติ.. เมื่อสัญญาณบนเครื่องเปลี่ยนเป็นสีดำเช่นเดิม นักบินได้นำเครื่องวิ่งเข้าสู่ที่จอดและผู้โดยสารเดินเข้าสู่อาคารตามปกติ"
ท่าอากาศยานนาริตะได้ใช้รถดับเพลิงเข้าจัดการ (แต่) ควันก็ยังคงพุ่งขึ้นจากเครื่องยนต์แม้ว่าเครื่องบินจะจอดนิ่งในที่จอดแล้วก็ตาม สายการบินฯ ร่วมกับการท่าอากาศยานนาริตะกำลังสอบสวนเรื่องนี้ คำแถลงกล่าว
ปีที่แล้วเกิดเหตุการณ์อื้อฉาวหลายครั้งกับเครื่องบินสายการบินแห่งชาติเวียดนาม ทั้งเที่ยวบินภายในประเทศและระหว่างประเทศ หลายครั้งต้องลงฉุกเฉิน
นักบินเที่ยวบินกรุงฮานอย-ยุโรปเที่ยวหนึ่งเผลอนอนหลับ ทำให้เครื่องบินพลัดเข้าเขตหวงห้ามในน่านฟ้ารัสเซีย จนเกองทัพอากาศของประเทศนั้นต้องส่งเครื่องบินรบขึ้นไปควบคุมและนำออกไปจากเขตหวงห้าม อีกเที่ยวบินหนึ่งเกิดหน้าต่างห้องนักบินร้าวต้องลงจอดฉุกเฉินในยุโรปตะวันออก
ในเดือน ก.พ.2550 เครื่องบินโดยสารแอร์บัส A330-300 เที่ยวบิน VN225 เกิดน้ำมันรั่วจนต้องล้มเลิกการขึ้นบินอย่างฉุกเฉินขณะกำลังเชิดหัวขึ้นจากรันเวย์ท่าอากาศยานโนยบ่าย (Noi Bai) กรุงฮานอยเพื่อนำผู้โดยสารเต็มลำไปยังนครโฮจิมินห์ ท่ามกลางความตกตะลึงของผู้โดยสาร
ในช่วงเดียวกันนั้นเครื่องแอร์บัส A320 กับ A320 และ เอทีอาร์ 72 หลายเที่ยวบินต้องกลับไปลงจอดที่ท่าอากาศยานหรือไม่สามารถบินขึ้นได้เนื่องจากความขัดข้องทางเทคนิค
ปลายเดือน ม.ค. แอร์บัส A330-300 ต้องบินกลับกรุงฮานอย หลังบินขึ้นได้ไม่นาน มุ่งหน้าไปยังเกาหลีใต้ และเกิดมีกลิ่นไหม้และความดันในห้องโดยสารลดลงอย่างกะทันหัน
ผู้บริหารของเวียดนามแอร์ไลน์กล่าวว่า ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งเมื่อปีที่แล้วเนื่องจากขาดแคลนเครื่องบิน และเครื่องที่มีอยู่ถูกใช้งานหนักตลอด แม้จะได้รับการบำรุงรักษาอย่างได้มาตรฐานสากล
เวียดนามแอร์ไลน์เปิดศักราชความอื้อฉาวในปีนี้ในเดือน ม.ค. เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจับยึดงูเป็นๆ รวมน้ำหนักกว่า 1,000 กิโลกรัม บนเครื่องแอร์บัส A320 การบินเวียดนาม ที่มีต้นทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในกรุงเทพฯ
นับเป็นครั้งที่ 2 ที่มีการพบงูไปกับเที่ยวบินเป็นจำนวนมากเช่นนี้ที่ท่าอากาศยานโนยบ่าย (Noi Bai) กรุงฮานอย หลังจากพบครั้งแรกในเดือน ธ.ค.2550 บนเครื่องการบินไทยจากกรุงจาการ์ตา
เจ้าหน้าที่กล่าวในคราวนั้นว่างูทั้งหมดถูกบรรจุในคอนเทนเนอร์สินค้าจำนวน 60 ตู้ ที่ติดป้ายแจ้งเอาไว้ว่าภายในบรรจุ “ปลาเป็นๆ” ส่งถึงที่อยู่ปลายทางเป็นบ้านหลังหนึ่งในเขตชานกรุงฮานอยที่ไม่มีอยู่จริง จึงได้นำสัตว์เลื้อยคลานทั้งหมดไปส่งศูนย์พักพิงสัตว์ป่า
สายการบินแห่งชาติเวียดนามซึ่งแสดงผลประกอบการขาดทุนในครึ่งแรกของปีนี้ มีแผนจะเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์นครโฮจิมินห์ในปีนี้ โดยรัฐบาลได้อนุมัติแผนการนำหุ้นออกจำหน่ายแก่พันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ระหว่าง 10-20% โดยบริษัทลงทุนของรัฐบาลจะยังคงถือหุ้นใหญ่ 80-90% ต่อไป
นายเหวียนซิงหุ่ง (Nguyen Sinh Hung) รองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 เปิดเผยว่า รัฐบาลได้อนุญาตให้บริษัทสายการบินแห่งชาติจัดหาบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศเพื่อเริ่มกระบวนการกระจายหุ้นระดมทุนและเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนได้
สายการบินเวียดนามอ้างว่า การประสบการขาดทุนครั้งแรกในรอบหลายปีนี้เนื่องจากค่าน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานที่พุ่งสูงขึ้นไม่หยุด กับการถูกจำกัดเพดานค่าโดยสารโดยรัฐบาล
ปี 2550 การบินเวียดนามได้ให้บริการผู้โดยสารจำนวน 8 ล้านคนทั้งภายในและต่างประเทศ มีรายได้ทั้งหมด 20.3 ล้านล้านด่ง หรือ ประมาณ 1,250 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 15.5% เทียบกับปีก่อนหน้านั้น แม้จะประสบปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและการแข่งขันที่พันตูมากขึ้นก็ตาม
จนถึงปีที่แล้วสายการบินเวียดนามกับบริษัทลูกได้เซ็นสัญญาซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 787 ไปแล้วรวม 16 ลำ กับแอร์บัส A350-800XWB จำนวน 10 ลำ และ A320 อีก 20 ลำ ยังมีเครื่องบินโดยสารขนาดเล็กแบบ ATR72-500 อีก 5 ลำ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนเครื่องบินในระยะปานกลาง
ปัจจุบันสายการบินแห่งชาติเวียดนามมีเครื่องบินใช้การจำนวน 46 ลำ ตามแผนการจัดซื้อจะทำให้มีเครื่องบินให้บริการกว่า 80 ลำภายในปี 2555 และเพิ่มเป็นกว่า 100 ลำในปี 2563.