ผู้จัดการรายวัน-- สายการบินเอกชนได้พยายามแจ้งเกิดในเวียดนามอย่างคึกคักอีกครั้งหลังวิกฤติการณ์ราคาน้ำมันผ่อนคลาย สายการบินของเอกชนแห่งแรกประกาศขึ้นบินเที่ยวปฐมฤกษ์ในเดือน พ.ย.นี้ ขณะที่กรมการบินพาณิชย์เวียดนามเพิ่งออกใบอนุญาตให้สายการบินอีกแห่งหนึ่งสัปดาห์ปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา
สายการบินอินโดไชน่าแอร์ไลน์ (Indochina Airlines) หรือที่รู้จักกันในชื่อแอร์สปีดอัพ (Air Speed Up) เมื่อก่อน ประกาศปลายสัปดาห์ที่แล้วจะเริ่มบินให้บริการเที่ยวบินในประเทศตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย.เป็นต้นไป เป็นสายการบินเอกชนเป็นเจ้าของ 100% แห่งแรกที่ให้บริการในเวียดนาม
อินโดไชน่าแอร์จะให้บริการบินแบบต้นทุนต่ำระหว่างโฮจิมินห์กับกรุงฮานอยสัปดาห์ละสามเที่ยวบิน และโฮจิมินห์กับนครด่าหนัง (Danang) สัปดาห์ละสองเที่ยว ด้วยเครื่องโบอิ้ง 737-800 ขนาด 172 ที่นั่ง
สำนักข่าวเวียดนามเอ๊กซ์เพรสรายงานเรื่องนี้โดยอ้างคำกล่าวของนายโด๋แองต๋วน (Do Anh Tuan) ผู้อำนวยการการฝ่ายการพาณิชย์ของสายการิบนแห่งนี้
อินโดไชน่าแอร์กำลังจะเป็นสายการบินโลว์คอสท์แห่งที่สองในเวียดนาม และจะทำให้เจ็ทสตาร์แปซิฟิกมีคู่แข่งเป็นครั้งแรก
สายการบินแห่งนี้กล่าวว่ามีแผนการจะขยายเส้นทางบินในประเทศไปยังปลายทางอื่นๆ อีกจำนวนมาก โดยคาดว่าจะมีเครื่องบินเช่าเข้าใช้การเพิ่มขึ้นอีกหลายลำ รวมทั้งจะเริ่มบินเชื่อมปลายทางต่างๆ ภูมิภาคนี้อีกด้วย
นายต๋วนกล่าวว่าอินโดไชน่าแอร์จะเป็นโลว์คอสท์แห่งแรกที่จำหน่ายตั๋วราคาประหยัด แต่ให้บริการเท่าเทียมกับสายการบินทั่วไปที่ผู้โดยสารซื้อตั๋วในราคาเต็ม ทั้งนี้เพื่อให้เป็นจุดขายสำคัญและจะเน้นหนักการส่งเสริมการขายอย่างสม่ำเสมอ
เจ้าหน้าที่ผู้นี้คาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการราวหนึ่งล้านคนในปีแรก แต่ก็ยังไม่มีการเปิดเผยเกี่ยวกับราคาตั๋วโดยสาร ตลอดจนบริการที่กล่าวว่าจะให้ได้มาตรฐานของสายการบินทั่วไป
"แอร์สปีดอัพ" ได้รับใบอนุญาตในเดือน พ.ค. ปีนี้ ตามแผนการเดิมจะเริ่มบินให้บริการในปีหน้า แต่สถานการณ์ราคาน้ำมันที่ผ่อนคลายลงทำให้ต้องรีบเปิดฉากรุกทางธุรกิจ ขณะที่คู่แข่งอีกรายหนึ่งเลื่อนการให้บริการออกไป
เวียดนามซึ่งเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกในเดือน ม.ค.2550 กำลังจะต้องเปิดภาคบริการและการเงินของประเทศให้ต่างชาติเข้าแข่งได้ในปี 2552 นี้
รัฐบาลคอมมิวนิสต์ได้เปิดโอกาสให้เอกชนขออนุญาตจัดตั้งสายการบินได้ โดยจะต้องมีทุนจดทะเบียน 12.5 ล้านดอลลาร์สำหรับบินในประเทศ และ 30.2 ล้านดอลลาร์หากจะบินเชื่อมระหว่างประเทศ เวียดนามเอ๊กซ์เพรสกล่าว
ในเดือน ธ.ค.2550 เวียดนามได้ให้ใบอนุญาตแก่สายการบินเวียดเจ็ทแอร์ (VietJet Air) เป็นแห่งแรก โดยมีกำหนดจะเริ่มบินเส้นทางกรุงฮานอย-นครโฮจิมินห์ในเดือน ธ.ค.ศกนี้ แต่สถานการณ์ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงในตลาดโลก และปัญหาด้านการเงิน รวมทั้งการหาเช่าเครื่องบินไม่ทันต้องเลื่อนไปเป็นเวลาสี่เดือน
เวียดเจ็ทแอร์ได้ประกาศจะให้บริการบินแบบต้นทุนต่ำเช่นเดียวกันกับอินโดไชน่าแอร์ไลน์กับเจ็ทสตาร์แปซิฟิก
สายการบินอีกสองแห่งที่เปิดบินให้บริการในขณะนี้ได้แก่เวียดนามแอร์ไลน์ซึ่งเป็นของรัฐบาลกับวาสโก้ (VASCO) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Vietnam Airlines ซึ่งให้บริการบินเช่าเหมาลำ
**สายการบินที่หกได้อนุญาต**
ตามรายงานของสื่อทางการเวียดนาม ขณะนี้องค์การบริหารการบินเวียดนาม (Civil Aviation Administration of Vietnam) หรือ CAAV ได้ออกใบอนุญาตให้แก่บริษัทร่วมเอกชนแห่งหนึ่งเพื่อก่อตั้งสายการบินแม่โขงแอร์เอวิเอชั่น (Mekong Aviation) ได้
สายการบินแห่งใหม่มีแผนการจะเปิดบินในปี 2553 โดยใช้ท่าอากาศยานโนยบ่าย (Noi Bai) กรุงฮานอยเป็นฐาน เพื่อเชื่อมปลายทางสำคัญต่างๆ เช่น ญาจาง (Nha Trang) เกาะฟุก๊วก (Phu Quoc) ในอ่าวไทย และนครเกิ่นเทอ (Can Tho) ในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขง
แม่โขงแอร์วิเอชั่นได้กลายเป็นสายการบินที่เอกชนถือหุ้น 100% แห่งที่สามในประเทศนี้
ตามรายงานของเวียดนามเอ็กซ์เพรส แม่โขงแอวิเอชั่นได้เสนอจะใช้เครื่องบินจำนวน 10 ลำ ประกอบด้วย ATR72 บอมบาเดียร์ (Bombadier) กับเอมเบร (Embaer) บินให้บริการ
เจ้าหน้าที่ของ CAAV เปิดเผยว่าจนถึงขณะนี้ได้มีนักลงทุนทั้งประเภทเอกชนและประเภทสถาบันเป็นจำนวนมากแสดงความสนใจจะเปิดสายการบินแห่งใหม่
ในเดือน ก.ย. บริษัทเอกชนอีกแห่งหนึ่งทำหนังสือถึง CAAV หารือแผนการเปิดสายการบินเอกชนอีกแห่ง แต่ยังไม่ได้เสนอแผนดำเนินงานอย่างละเอียดให้พิจารณา
ก่อนหน้านั้น ในเดือน พ.ค.2550 บริษัทไซ่ง่อนแอร์ไลน์ (Saigon Airline) ได้เสนอเอกสารต่อ CAAV แสดงความสนใจจัดตั้งสายการบินอีกแห่งหนึ่ง แต่ยังไม่ได้เสนอรายละเอียดของโครงการเช่นเดียวกัน
เวียดนามซึ่งมีประชากรราว 86 ล้านคนได้เป็นตลาดการบินที่ยั่วยวน แม้ว่าปีนี้กำลังเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้ออย่างรุนแรงก็ตาม