เวทีประชุม COP27 หนึ่งในแนวทางลดก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ คือการลงนามในข้อตกลงเพื่อลดปริมาณก๊าซมีเทน 30% ภายในปี 2030
ครั้งนี้มีประเทศลงนามแล้ว 150 ประเทศ เพิ่มจากครั้งก่อน COP26 ที่มี 105 ประเทศ แต่ไม่ปรากฎประเทศไทยเข้าร่วม
การประชุมระดับสูงของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP27) ณ เมืองชาร์ม เอล ชีค สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ พบว่ากว่า 150 ประเทศได้ลงนามความร่วมมือในการลดการปล่อยก๊าซมีเทน (CH4) ตามเป้าหมายการประชุมด้านสภาพภูมิอากาศ COP26 ปีที่ผ่านมา ตามปฏิญญามีเทนโลก Global Methane Pledge ว่าจะร่วมกันลดการปล่อยก๊าซมีเทนลง 30% ในปี 2030 ซึ่งขณะนั้นมีเพียง 105 ประเทศที่ได้ร่วมลงนาม
ก๊าซมีเทนหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่มีอานุภาพร้ายแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) 26-28 เท่า มีสาเหตุหลักจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ซึ่งเกิดจากการย่อยสลายของสารอินทรีย์ เช่น มาจากภาคการเกษตรทำนาปลูกข้าวนับล้านไร่ เป็นการทำนาในลักษณะปล่อยน้ำขังไว้ในที่นาเป็นเวลานาน ๆ ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทนออกมา เช่นเดียวกับภาคปศุสัตว์ ก็มีการสร้างก๊าซมีเทนออกมา
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม COP27 เปิดเผยว่า ก่อนผมและคณะทำงานจะเดินทางกลับประเทศไทย ได้เข้าหารือร่วมกับตัวแทนของประเทศสหรัฐอเมริกา MR.John Kerry ผู้แทนพิเศษว่าด้วยประเด็นสภาพภูมิอากาศ (Special Presidential Envoy for Climate) จากการหารือ สหรัฐอเมริกาได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องการปล่อยก๊าซมีเทน
ในประเทศไทย การเกิดก๊าซมีเทน มาจากภาคการเกษตรทำนาปลูกข้าวนับล้านไร่ ซึ่งเป็นการทำนาในลักษณะปล่อยน้ำขังไว้ในที่นาเป็นเวลานาน ๆ ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทนออกมามาก เช่นเดียวกับภาคปศุสัตว์ มีการสร้างก๊าซมีเทนออกมามากเช่นกัน
ทางสหรัฐฯ เชิญชวนทุกประเทศ ช่วยกันหาแนวทางในการลดปริมาณก๊าซมีเทนลง พร้อมขอให้ประเทศไทยมาลงนามในข้อตกลง ซึ่งในเรื่องนี้ประเทศไทยยังต้องรับไปหารือกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ดูแลภาคการเกษตรและปศุสัตว์ รวมถึงกระทรวงแรงงาน ในรายละเอียด และยังต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบก่อนที่จะมีการลงนามในโอกาสต่อไป
รมว.ทส. ย้ำเจตนารมณ์และเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ว่าตั้งเป้าในการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด หรือ NDC ที่จะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 40 ภายในปี ค.ศ. 2030 รวมถึงการวางยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ สอดคล้องกับเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการจัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน อีกทั้งยังส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Model อย่างจริงจัง
ทั้งนี้จีนและอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซมีเทนมากที่สุดในโลกก็ยังไม่ได้ร่วมลงนามในสัญญาการลดการปล่อยก๊าซมีเทนเช่นเดียวกับประเทศไทย
“ไทยได้ทำตามสิ่งที่เราให้คำมั่นไว้ เราไม่ได้แค่พูด แต่เราทำจริงๆ เราต่อสู้กับ Climate Change เช่นเดียวกับประทศอื่นทั่วโลก เพราะเชื่อว่าไม่มีใครรอดพ้นจากภัยพิบัติต่าง ๆ ถึงเวลาที่เราต้องทำมากกว่าพูด เราต้องมีการดำเนินการในทุกด้านและต้องทำเดี๋ยวนี้” รมว.ทส.กล่าวในที่สุด