xs
xsm
sm
md
lg

“วราวุธ” หารือคณะผู้แทนไทย เตรียมพร้อมสู่การประชุมระดับสูง COP27 ช่วงสัปดาห์ที่ 2 ณ เมืองชาร์ม เอล ชีค อียิปต์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รมว.วราวุธ” หารือคณะผู้แทนไทย เตรียมพร้อมสู่การประชุมระดับสูง COP27 ช่วงสัปดาห์ที่ 2 ณ เมืองชาร์ม เอล ชีค อียิปต์ เผยเจรจาเข้มข้น 4 ประเด็นลดก๊าซเรือนกระจก - การปรับตัว - การสนับสนุนประเทศที่ได้รับผลกระทบ - การเงิน

เมื่อวันที่ 15 พ.ย.นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐสภากรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 หรือ COP27 ณ เมืองชาร์ม เอล เชค สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมประชุมหารือกับคณะผู้แทนไทย เพื่อรับทราบความก้าวหน้าสรุปผลการประชุมองค์กรย่อยภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ (Subsidiary bodies) ในช่วงสัปดาห์ที่ 1 ของการประชุม COP27 ซึ่งจะนำไปสู่ประเด็นหารือในการประชุมระดับสูงของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP27) การประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 17 (CMP17) และการประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส สมัยที่ 4 (CMA4) ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ณ เมืองชาร์ม เอล ชีค สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ โดย รมว.ทส. ได้เน้นย้ำให้คณะผู้แทนไทยติดตามประเด็นต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะประเด็นที่มีผลกระทบกับประเทศไทย รวมถึงการสนับสนุนเงินในรูปแบบต่าง ๆ ที่จะเชื่อมโยงกับการดำเนินงานของประเทศไทยต่อไปในอนาคต

นายวราวุธ กล่าวว่า ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่องค์กรย่อยภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ได้มีการเจรจาอย่างเข้มข้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการลดก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) : การกำหนดแผนงานที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนการยกระดับเป้าหมายและการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจกที่มีความท้าทายมากยิ่งขึ้นจากการประชุม COP26 ด้านการปรับตัว (Adaptation) : การกำหนดแผนงานในการจัดทำเป้าหมายและตัวชี้วัดระดับโลกด้านการปรับตัวฯ (Global Goal on Adaptation) ซึ่งจะเชื่อมโยงกับการทบทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลก (Global Stocktake) ที่จะเริ่มดำเนินการในปี ค.ศ. 2023 เพื่อบ่งชี้สถานการณ์การลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวฯ เทียบกับเป้าหมายของความตกลงปารีส ด้านการสูญเสียและความเสียหาย (Loss and damage) : มุ่งเน้นการจัดตั้งโครงสร้างองค์กรเชิงเทคนิคและกลไกสนับสนุนเงินในรูปแบบของกองทุนเฉพาะ เพื่อสนับสนุนประเทศที่ได้รับผลกระทบและที่มีความเสี่ยงและเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ชัดเจน และด้านการเงิน (Climate finance) : เร่งรัดติดตามการระดมเงินทุน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ให้กับประเทศกำลังพัฒนาให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2025และเตรียมการยกระดับเงินสนับสนุนของกองทุนพหุภาคีที่คาดการณ์ได้และเพียงพอเพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถดำเนินการตามพันธกรณีได้










กำลังโหลดความคิดเห็น