xs
xsm
sm
md
lg

เลขาฯ ยูเอ็นชื่นชมไทยมีส่วนร่วมแก้ปัญหาโลกร้อนมาโดยตลอด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อเวลา 15.50 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งตรงกับเวลาประเทศไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้หารือกับ นาย อังตอนียู กูแตรึช เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในห้วงการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 12 เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ และยืนยันถึงความเชื่อมั่นของไทยในระบบพหุภาคี มีสหประชาชาติเป็นศูนย์กลางในการรับมือกับปัญหาและความท้าทายของโลก พร้อมกล่าวสนับสนุนข้อริเริ่มในรายงาน Our Common Agenda เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถบรรลุ SDGs

เลขาธิการสหประชาชาติ รู้สึกยินดีที่ได้พบนายกรัฐมนตรี พร้อมชื่นชมไทยและนายกรัฐมนตรีที่มีบทบาทอย่างกระตือรือร้นในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งไทยถือเป็นตัวอย่างของเจ้าบ้านที่ดีในการเป็นที่ตั้งของหน่วยงานต่างๆ ของสหประชาชาติ ซึ่งรวมถึงคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากรัฐบาลไทย ทั้งนี้ หน่วยงานของสหประชาชาติมีความกระตือรือร้นที่จะทำงานกับไทย รวมทั้งเห็นว่าไทยดำเนินการแก้ปัญหาที่เป็นความท้าทายของโลกอย่างจริงจัง

ในส่วนของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งถือเป็นความท้าทายที่ส่งผลกระทบทั่วโลก เลขาธิการยูเอ็น กล่าวชื่นชมไทยที่มีบทบาทสำคัญและมีส่วนร่วมในการการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมาโดยตลอด และยูเอ็นยินดีสนับสนุนไทยและประเทศกำลังพัฒนาให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้

โอกาสนี้ ไทยยินดีและเห็นว่าการกำหนดจัดการประชุม SDG Summit ในปี 2566 และการประชุม Summit of the Future ในปี 2567 จะเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้ร่วมมือกับรัฐสมาชิกสหประชาชาติอื่นๆ ในการพิจารณาหารือทิศทางในอนาคตของโลก

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า ไทยให้ความสำคัญกับบทบาทและการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการวางนโยบาย โดยได้ติดตามข้อเสนอของเลขาธิการยูเอ็น ในการจัดตั้ง UN Youth Office อย่างใกล้ชิด และพร้อมผลักดันให้เยาวชนไทยมีส่วนร่วมในกิจกรรมของสำนักงาน

สำหรับด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ไทยเล็งเห็นความจำเป็นเร่งด่วนและให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหานี้อย่างมาก โดยในการประชุม COP27 ปีนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายผู้แทนเข้าร่วมเพื่อร่วมหารือแนวทางแก้ไขวิกฤตสำคัญนี้ รวมทั้งนำเสนอการดำเนินการของไทยตามความมุ่งมั่นที่ประกาศไว้ และได้พิสูจน์แล้วว่า ไทยยึดมั่นในพันธกรณีภายใต้ UNFCCC และความตกลงปารีส โดยไทยได้ส่ง NDC และยุทธศาสตร์ระยะยาวว่าด้วยการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำที่สอดรับกับความมุ่งมั่นที่ประกาศไว้ที่ COP26 และคาดว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้เร็วกว่าที่กำหนดในบางประเด็น