รองโฆษกรัฐบาล เชิญชวนประชาชนติดตามผลดำเนินงานไทยและนานาประเทศ ร่วมมือแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในเวที COP27
วันนี้ (13 พ.ย.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเชิญชวนประชาชนติดตามการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP27) จัดขึ้นที่เมืองชาร์ม เอล เชค สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ โดย นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.รัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐบาลไทย เดินทางเข้าร่วมประชุมระหว่างวันที่ 11-17 พ.ย. 2565 เพื่อนำเสนอยุทธศาสตร์ระยะยาวและแผนงานระยะสั้นของประเทศไทย ในเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นกลางทางคาร์บอน ตลอดจนการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change)
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับสาระสำคัญของการประชุม COP27 คือ การทำตามคำมั่นสัญญาว่า ภายในปี 2022 จะบรรลุเป้าหมายตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพพูมิอากาศและความตกลงปารีส ซึ่งกำหนดเป้าหมายให้ประชาคมโลก ต้องร่วมกันกำจัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5- 2 องศาเซลเซียสให้ได้ภายใน ค.ศ. 2100 (พ.ศ. 2643) โดยโอกาสนี้ประเทศไทยจะได้นำเสนอสิ่งที่ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ระยะยาว ในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change) ที่มีเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608)
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับจุดยืนของประเทศไทยในการประชุม COP27 คือ การสนับสนุนการเจรจาเพื่อประโยชน์ร่วมกันของประชาคมโลก โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศไทยที่จะได้รับอย่างยั่งยืน พร้อมกับคำนึงถึงหลักความเป็นธรรมและหลักความรับผิดชอบร่วมกันของภาคี และสนับสนุนให้ประเทศที่พัฒนาแล้วต้องแสดงบทบาทหน้าที่ผู้นำ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมไปถึงเรียกร้องให้ทุกประเทศเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change)
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานที่ผ่านมาภายหลังการประชุม COP26 เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ รัฐบาลไทยได้ลงนามในข้อตกลงการดำเนินงานภายใต้ความตกลงปารีส ระหว่างราชอาณาจักรไทย กับ สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งนับเป็นการลงนามข้อตกลงถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตร่วมกันเป็นคู่แรกของโลก เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศไทยกับสมาพันธรัฐสวิส ดำเนินความร่วมมือภายใต้ความตกลงปารีส ข้อ 6.2 เพื่อจัดทำกรอบความร่วมมือโดยสมัครใจสำหรับการถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ