นายกฯ กล่าวปาฐกถาพิเศษเวที GCNT Forum 2022 มุ่งบรรลุ “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” ลดภาวะโลกร้อน ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุล ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
วันนี้ (2 พ.ย.) เวลา 11.15 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานประชุม Global Compact Network Thailand Forum (GCNT 2022) หัวข้อ “เร่งหาทางออกของภาคธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนและวิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพ” ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ (UNCC) ห้อง Conference Room 1 โดยมี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย นางกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ผู้นำองค์กรธุรกิจ ผู้แทนสหประชาชาติ ผู้แทนภาครัฐและภาคประชาสังคม เข้าร่วมงาน ภายหลังเสร็จสิ้น นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเข้าร่วมการประชุม GCNT ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญและเป็นช่วงของการเตรียมตัวก่อนที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก (APEC 2022) โดยไทยได้ผลักดันการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเปกในยุคหลังวิกฤตโควิด-19 เพื่อให้ทุกประเทศเติบโตได้อย่างยั่งยืน สมดุล และครอบคลุมมากขึ้น ภายใต้หัวข้อหลัก “Open. Connect. Balance.” โดยหนึ่งในวาระสำคัญที่มุ่งผลักดัน คือ การสร้างสมดุลทางสิ่งแวดล้อมและการขับเคลื่อนการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลไทยยืนยันถึงเจตนารมณ์ “ความมุ่งมั่นและการลงมือทำของไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปก เพื่อลดสภาวะโลกร้อนและความเสียหายต่อธรรมชาติ” โดยภาคเอกชนและสหประชาชาติเป็นภาคีสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนของไทย
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงประสบการณ์ของไทยที่เป็นสัญญาณเตือนว่าภัยธรรมชาติเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และมีความรุนแรงขึ้น ทุกคนจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือและปรับตัว ขณะเดียวกัน ยังต้องเผชิญกับสถานการณ์โลกที่มีความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์โควิด-19 โรคอุบัติใหม่ สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ความไม่มั่นคงด้านอาหารและพลังงาน สภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมทั้งการสูญเสียความหลากหลายทางธรรมชาติ ทำให้ทุกประเทศต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประเทศและประชาชนของตนเอง
นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า ไทยตระหนักดีว่าการลดภาวะโลกร้อนมิใช่เพื่อแก้ปัญหาภาวะวิกฤติธรรมชาติเท่านั้น แต่เพื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนด้วย ซึ่งได้เสนอหลักการ “การพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG” ที่คำนึงถึงการพัฒนาเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการเยียวยารักษาธรรมชาติอย่างมีสมดุล เป็นหัวใจของเอกสารผลลัพธ์ของเอเปค ที่เรียกว่า “เป้าหมายกรุงเทพว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว” พร้อมกล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องปรับเปลี่ยนทั้งแนวคิดและวิถีชีวิต ปรับเปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจและโมเดลธุรกิจให้สมดุลและยั่งยืน โดยเศรษฐกิจ BCG เป็นรูปแบบที่ไทยได้เริ่มแบ่งปันกับประชาคมโลกเพื่อเป็นหนทางสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างงาน สร้างรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
นายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่า “เป้าหมายกรุงเทพฯ” จะบรรลุผลและนำไปสู่ความร่วมมือในภูมิภาคที่เป็นรูปธรรม สอดรับกับความพยายามของไทยในการร่วมมือกับประชาคมโลกแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งผลักดันให้ใช้แนวคิด BCG มาส่งเสริมความร่วมมือในสาขาต่างๆ อาทิ การฟื้นฟูการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การจัดการป่าไม้ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ที่เพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้ประชาชนท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีของเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า การขับเคลื่อนประเด็นทั้งหมดนี้ จะไม่มีทางสำเร็จได้หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน และทุกภาคส่วน ซึ่งสิ่งสำคัญคือการขับเคลื่อนทั้งองคาพยพ ส่งเสริมให้ธุรกิจ SMEs ทุกขนาด มีขีดความสามารถในการปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ประเทศไทยมีโครงข่ายรากฐานที่เข้มแข็ง จากความร่วมมือของทุกคน ทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ทุกภาคส่วน ให้ทุกคนจับมือก้าวเดินไปด้วยกันอย่างเข้มแข็งที่สุด
จากนั้น นายกรัฐมนตรีร่วมถ่ายภาพและเป็นสักขีพยานกับผู้เข้าร่วมประชุมในการประกาศเจตนารมณ์และความร่วมมือของสมาชิก GCNT ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปกป้องธรรมชาติอย่างเป็นรูปธรรม วัดผล และขยายผลได้
อนึ่ง งานประชุม GCNT 2022 เป็นการขยายความร่วมมือ ระดมความมุ่งมั่นและการปฏิบัติจากภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาคเอกชน เพื่อร่วมหารือในการบรรเทาและป้องกันปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย เพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ และความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อนุรักษ์และใช้ทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน