นิวยอร์ค (14 มิ.ย.2021) เปิดตัวรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Report: SDR) ซึ่งรวมถึง ดัชนี SDG และแดชบอร์ด (SDG Index and Dashboards) ประจำปี 2021 เพื่อติดตามความคืบหน้าของเป้าหมายระดับโลกในปี 2030 (Global Goals 2030)
ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการนำเสนอรายงานประจำปีแสดงความก้าวหน้าในการดำเนินงานที่ถดถอย นับตั้งแต่ผู้นำประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั้ง 193 ประเทศได้รับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) จากการประชุมสมัชชาสหประชาชาติครั้งประวัติศาสตร์เมื่อปี 2015
โดยรายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบระยะสั้นของโควิด-19 ต่อ SDGs และอธิบายว่า SDGs จะช่วยวางกรอบการฟื้นฟูได้อย่างไร
ทีมผู้เขียนที่รายงาน นำโดยศาสตราจารย์เจฟฟรีย์ แซคส์ (Prof. Jeffrey Sachs) ประธาน Sustainable Development Solutions Network (SDSN) ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Cambridge University สรุปใจความสำคัญ (Key Messages) จากรายงานฉบับนี้ว่า
•คะแนนดัชนี SDG เฉลี่ยทั่วโลกปี 2020 ลดลงจากปีก่อนหน้าเป็นครั้งแรกตั้งแต่มีการรับรอง SDGs เมื่อปี 2015 โดยคะแนนที่ลดลงนี้มาจากอัตราความยากจนและการว่างงานที่เพิ่มขึ้นตามมาหลังการระบาดของโควิด-19
•ประเทศกำลังพัฒนารายได้ต่ำขาดพื้นที่ทางการคลังในการจัดหาเงินทุนเพื่อการตอบสนองภาวะฉุกเฉินและแผนการฟื้นฟูโดยการลงทุนเป็นหลักที่สอดคล้องกับ SDGs
•SDGs สามารถใช้เป็นหลักการสำหรับแนวทางในการฟื้นตัวที่ยั่งยืน ครอบคลุม และยืดหยุ่นจากโควิด-19
•ประเทศร่ำรวยยังคงส่งผ่านผลกระทบทางลบระหว่างประเทศที่ลดทอนความสามารถของประเทศอื่นในการบรรลุ SDGs ทั้งผ่านการค้า ห่วงโซ่อุปทานที่ไม่ยั่งยืน และการโอนกำไรไปต่างประเทศ
•การระบาดใหญ่ได้เน้นให้เห็นถึงความจำเป็นในการเร่งความก้าวหน้าไปสู่การดูแลสุขภาพถ้วนหน้าและการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล
•ช่องว่างของข้อมูลและความล่าช้าทางด้านเวลาในสถิติทางการยิ่งทำให้เห็นความจำเป็นในการเพิ่มการลงทุนเพื่อพัฒนาความสามารถทางสถิติและแนวทางใหม่ ๆ สำหรับติดตามความมุ่งมั่นและความก้าวหน้าของประเทศต่าง ๆ ในการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานเพื่อบรรลุ SDG ที่สำคัญ
รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Report: SDR) ปี 2021 เป็นครั้งแรกที่นำเสนอนับตั้งแต่มีการรับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเมื่อปี 2015 ที่โลกถอยหลังในการขับเคลื่อน SDGs เนื่องจากมีการระบาดใหญ่ของโควิด-19
โรคระบาดโควิด-19 ไม่เพียงก่อให้เกิดภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพระดับโลกเท่านั้น แต่ยังสร้างวิกฤติการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกด้วย ซึ่งในการฟื้นคืนความก้าวหน้าของ SDGs จำเป็นต้องมีการเพิ่มพื้นที่การคลังสำหรับประเทศกำลังพัฒนาให้มากพอ ผ่านการปฏิรูปภาษีโลกและการขยายการจัดหาเงินทุนโดยธนาคารเพื่อการพัฒนาระดับพหุภาคีต่างๆ รายจ่ายทางการคลังควรถูกใช้เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานเพื่อการบรรลุ SDGs ใน 6 เป้าหมายหลัก ได้แก่ การศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับทุกคน การดูแลสุขภาพถ้วนหน้า พลังงานและอุตสาหกรรมสะอาด เกษตรกรรมและการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน โครงสร้างพื้นฐานในเมืองที่ยั่งยืน
ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลด รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Report: SDR) ประจำปี 2021 ได้ที่ https://www.sdgindex.org