xs
xsm
sm
md
lg

‘กูเกิล-แอมะซอน-เฟซบุ๊ก’กระทบแน่ กลุ่ม จี7 ตกลงกันได้ให้ชาติต่างๆ มีสิทธิเก็บภาษีรายได้ทางออนไลน์ แม้ไม่มีสำนักงานตัวเป็นๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บรรดารัฐมนตรีคลังของกลุ่ม จี7 ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, แคนาดา, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, สหราชอาณาจักร, และอิตาลี  พร้อมด้วยผู้เข้าร่วมประชุมคนอื่นๆ ได้แก่ ผู้แทนของสหภาพยุโรป, ธนาคารโลก, ไอเอ็มเอฟ, และโออีซีดี ถ่ายภาพหมู่เป็นที่ระลึก บริเวณด้านหน้าของคฤหาสน์ แลงแคสเตอร์ เฮาส์ ในกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นสถานที่ประชุม เมื่อวันเสาร์ (5 มิ.ย.)
พวกบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ อย่าง กูเกิล, แอมะซอน, เฟซบุ๊ก ได้รับผลกระทบแน่นอน จากการที่กลุ่ม 7 ประเทศอุตสาหกรรมสำคัญของโลก (จี7) ตกลงเห็นพ้องกันเมื่อวันเสาร์ (5 มิ.ย.) ที่จะสนับสนุนให้ทั่วพิภพจัดเก็บภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำอย่างน้อยที่สุด 15% เพื่อป้องปรามการที่บริษัทนานาชาติทั้งหลายหลีกเลี่ยงภาษี ด้วยวิธีการโยกย้ายเอาผลกำไรไปไว้ในหมู่ประเทศซึ่งเก็บภาษีอัตราต่ำๆ

ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีคลังของกลุ่ม จี7 ณ กรุงลอนดอนคราวนี้ ยังรับรองข้อเสนอที่จะทำให้พวกบริษัทใหญ่ที่สุดในโลก –ซึ่งรวมไปถึงประดาเทคยักษ์ใหญ่ที่มีรากฐานอยู่ในสหรัฐฯด้วย— ต้องจ่ายภาษีในประเทศต่างๆ ที่พวกเขาทำยอดขายรายรับทางออนไลน์ได้มากมาย ทว่าไม่ได้มีสำนักงานแบบตัวเป็นๆ ตั้งอยู่

อย่างไรก็ตาม พวกกลุ่มรณรงค์เรียกร้องเรื่องนี้หลายๆ กลุ่ม ยังคงมีความเห็นว่า สิ่งที่ขุนคลัง จี7 ตกลงกันได้นี้ยังคงไม่เพียงพอ เป็นต้นว่า องค์การการกุศล “ออกซ์แฟม” บอกว่า อัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำสุดซึ่งเห็นพ้องกันอยู่ที่ระดับ 15% นั้น “ต่ำเกินไปนักหนา” จากที่จะสามารถสร้างความแตกต่างอะไรขึ้นมาได้

สำหรับรัฐมนตรีคลังสหราชอาณาจักร ริชิ สุนัค ผู้เป็นเจ้าภาพการประชุมหนนี้ เขาแถลงว่าข้อตกลงที่โอเคกันได้คราวนี้ จะ “ปฏิรูประบบภาษีทั่วโลก เพื่อทำให้มันเหมาะสมสอดคล้องกับยุคดิจิตอลโลก และมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการทำให้ระบบภาษีมีความยุติธรรม ให้บริษัทที่ถูกต้องสมควร ต้องจ่ายภาษีที่ถูกต้องสมควร ในสถานที่ซึ่งถูกต้องสมควร”

ด้านรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เจเนต เยลเลน กล่าวว่า ดีลที่ผ่านจากกลุ่ม จี7 นี้ “เป็นการสร้างโมเมนตัมอย่างมหาศาล” สำหรับการทำข้อตกลงระดับทั่วโลกให้สำเร็จ ซึ่ง “จะยุติการแข่งขันกันเพื่อกำหนดอัตราภาษีนิติบุคคลให้ลงต่ำที่สุด และก็เป็นการรับประกันให้เกิดความเป็นธรรมสำหรับชนชั้นกลางและชนชั้นผู้ใช้แรงงานในสหรัฐฯและทั่วทั้งโลก”

ชาติต่างๆ กำลังปลุกปล้ำหาทางกันมาเป็นแรมปีแล้ว สำหรับจัดการกับคำถามที่ว่า ทำอย่างไรจึงจะป้องปรามพวกบริษัทต่างๆ ไม่ให้หลีกเลี่ยงการชำระภาษีแบบถูกต้องตามกฎหมายซึ่งใช้ในปัจจุบัน ด้วยการใช้แผนอุบายทางบัญชีและทางกฎหมายที่ยักย้ายรายรับผลกำไรของพวกตนไปยังกิจการสาขาซึ่งตั้งอยู่ในแหล่งหลบภัยภาษี –อันมักหมายถึงพวกประเทศเล็กๆ ซึ่งจัดเก็บภาษีจากบริษัทต่างๆ ในอัตราต่ำหรือกระทั่งไม่เก็บเลย ถึงแม้วิสาหกิจเหล่านี้แทบไม่ได้มีกิจการธุรกิจอะไรจริงๆ ที่นั่น การถกเถียงอภิปรายระดับนานาประเทศว่าด้วยประเด็นปัญหาภาษีเช่นนี้ บังเกิดความคึกคักและดูมีทางตกลงกันได้ขึ้นมา หลังจาก โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ หนุนหลังไอเดียเรื่องให้ทั่วโลกกำหนดอัตราภาษีต่ำสุดอย่างน้อยที่สุด 15% จากผลกำไรของภาคบริษัท

การหารือของเหล่ารัฐมนตรีคลังนี้ มีขึ้นก่อนหน้าการประชุมซมมิตประจำปีของบรรดาผู้นำชาติ จี7 ซึ่งปีนี้กำหนดจัดระหว่างวันที่ 11-13 มิ.ย. ในเทศมณฑลคอร์นวอลล์, อังกฤษ ของสหราชอาณาจักร การรับรองจากกลุ่ม จี7 น่าจะช่วยสร้างโมเมนตัมให้เกิดดีลขึ้นได้ ทั้งในการเจรจาระหว่างชาติต่างๆ มากกว่า 135 ชาติซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในกรุงปารีส , ฝรั่งเศส และทั้งในการประชุมระดับรัฐมนตรีคลังของกลุ่ม จี20 ที่กำหนดจัดขึ้นในเมืองเวนิส, อิตาลี เดือนกรกฎาคมนี้

มานัล คอร์วิน หุ้นส่วนระดับหัวหน้าทางด้านภาษี ของ เคพีเอ็มจี บริษัทสอบบัญชีและบริการทางวิชาชีพต่างๆ รวมทั้งเธอยังเคยเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯด้วย ให้ความเห็นว่า การประชุมขุนคลัง จี7 ครั้งนี้ สร้างความชัดเจนขึ้นมาว่า พวกประเทศสำคัญๆ เหล่านี้มีจุดยืนอย่างไรในประเด็นปัญหาหลักๆ จำนวนมาก รวมทั้งเรื่องอัตราขั้นต่ำ 15%

“การส่งสัญญาณว่ามีความเห็นเป็นฉันทามติกันแล้วในด้านหลักๆ บางประการของสิ่งที่กำลังถกเถียงกันอยู่ในทั่วโลกเวลานี้ เป็นเรื่องสำคัญจริงๆ เพื่อทำให้เกิดโมเมนตัมสำหรับการเข้าสู่ระยะต่อไปของเรื่องนี้ ในที่ประชุม จี20” เธอกล่าว

ข้อเสนอด้านภาษีที่ผ่านการรับรองเมื่อวันเสาร์ (5) มีอยู่ด้วยกัน 2 ส่วนหลักๆ ส่วนแรกเป็นการเปิดทางให้ประเทศต่างๆ จัดเก็บภาษีจากส่วนของกำไรที่บริษัทต่างๆ ซึ่งไม่ได้มีการปรากฏตัวทางกายภาพในประเทศของตน ทว่ามียอดขายมีรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ตัวอย่างเช่น รายได้จากการขายโฆษณาทางดิจิตอล

ฝรั่งเศสถือเป็นผู้นำเปิดฉากการอภิปรายถกเถียงในประเด็นปัญหานี้ ด้วยการออกกฎหมายของตนเองเพื่อจัดเก็บภาษีบริการดิจิตอล จากรายรับต่างๆ ของพวกบริษัทอย่างเช่น กูเกิล, แอมะซอน, และเฟซบุ๊ก ซึ่งแดนน้ำหอมพิจารณาเห็นว่ามีขึ้นมาได้จากการทำธุรกิจในฝรั่งเศส ทว่าทางด้านสหรัฐฯคัดค้านหนัก โดยมองว่าภาษีระดับชาติเช่นนี้เป็นมาตรการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากมีลักษณะมุ่งเล่นงานเก็บภาษีจากพวกบริษัทอเมริกันเท่านั้น

ส่วนหนึ่งของข้อตกลงในวันเสาร์ (5) ก็คือ ประเทศอื่นๆ จะเพิกถอนยกเลิกการจัดเก็บภาษีดิจิตอลฝ่ายเดียวของพวกตน เพื่อหันมายอมรับดีลในระดับทั่วโลก

ทางด้าน นิก เคล็กก์ รองประธานฝ่ายกิจการทั่วโลกของเฟซบุ๊ก แถลงว่า ข้อตกลงนี้เป็นก้าวเดินก้าวใหญ่ในเส้นทางมุ่งสู่การทำให้มีความแน่นอนทางธุรกิจเพิ่มมากขึ้น และเพิ่มความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อระบบภาษีทั่วโลก แต่เขายอมรับว่า มันอาจทำให้เฟซบุ๊กต้องจ่ายภาษีมากขึ้น

“เราต้องการให้กระบวนการปฏิรูปภาษีระหว่างประเทศประสบความสำเร็จ และยอมรับว่าเรื่องนี้อาจหมายถึงว่า เฟซบุ๊กต้องจ่ายภาษีมากขึ้น และต้องจ่ายในหลายๆ สถานที่ต่างๆ กัน” เคล็กก์โพสต์ข้อความเช่นนี้ทางทวิตเตอร์

คำแถลงของขุนคลัง จี7 ที่ออกมาหลังการประชุม มีน้ำเสียงที่เป็นการสะท้อนข้อเสนอประการหนึ่งของสหรัฐฯ ที่เปิดทางให้ประเทศต่างๆ สามารถจัดเก็บภาษีจากส่วนหนึ่งของรายรับของ “พวกวิสากิจนานาชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและทำกำไรได้มากที่สุด” –ไม่ว่าจะเป็นกิจการดิจิตอลหรือไม่ก็ตาม – ถ้าหากบริษัทเหล่านี้กำลังทำธุรกิจอยู่ภายในเขตแดนของประเทศเหล่านี้ สหรัฐฯยังสนับสนุนให้ประเทศดังกล่าวเหล่านี้มีสิทธิที่จะจัดเก็บภาษีได้ในอัตรา 20% หรือกว่านั้นจากผลกำไรซึ่งเกิดขึ้นในท้องถิ่น ที่ล้ำเกินจากอัตราผลกำไรระดับ 10%

สำหรับส่วนหลักอีกส่วนหนึ่งของข้อเสนอนี้ ได้แก่ การที่ประเทศต่างๆ จะจัดเก็บภาษีผลกำไรในต่างประเทศซึ่งพวกบริษัทในบ้านเกิดของตนเองทำได้ ในอัตราขั้นต่ำอย่างน้อยที่สุด 15% นี่จะเป็นการป้องปรามไม่ให้ใช้วิธีปฏิบัติ ซึ่งวางแผนอุบายทางการบัญชีเพื่อโยกย้ายผลกำไรไปยังพวกประเทศจัดเก็บภาษีต่ำสุดๆ ไม่กี่แห่ง เนื่องจากรายได้ซึ่งไม่ถูกจัดเก็บภาษีในต่างแดน ก็จะถูกนำมารวมเป็นรายได้ในประเทศที่ตั้งสำนักงานใหญ่ และถูกเก็บในอัตราอย่างต่ำที่สุด 15% อยู่ดี

ในสหรัฐฯนั้น ไบเดนกำลังเสนอให้จัดเก็บภาษีในอัตรา 21% จากรายได้ในต่างประเทศของบริษัทต่างๆ อันเป็นการเพิ่มขึ้นจากระดับ 10.5% - 13.125% ซึ่งตราเป็นกฎหมายออกมาบังคับใช้ในสมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แต่แม้กระทั่งว่าอัตราของสหรัฐฯลงท้ายแล้วสู่งกว่าอัตราขั้นต่ำสุดของโลก ความแตกต่างของเม็ดเงินภาษีที่เกิดขึ้นก็ยังจะเล็กน้อยมาก จนกระทั่งน่าจะสามารถกำจัดช่องโหว่ส่วนใหญ่สำหรับการหลบหลีกภาษีไปได้ ทั้งนี้ข้อเสนอของไบเดนยังต้องผ่านการอนุมัติออกเป็นกฎหมายจากรัฐสภาสหรัฐฯ

คอร์วิน แห่ง เคพีเอ็มจี บอกว่า ในคำแถลงสุดท้ายยังไม่ได้กล่าวถึงจุดสำคัญต่างๆ อีกหลายจุด เป็นต้นว่า คำนิยามของบริษัทนานาชาติ “ใหญ่ที่สุดและมีกำไรมากที่สุด” ซึ่งระบุเอาไว้ในข้อตกลงขุนคลัง จี7 จะครอบคลุมไปถึงขนาดไหนแน่ๆ และมีวิธีการอย่างไรในการคุ้มครองไม่ให้บริษัทต่างๆ ถูกเก็บภาษีซ้ำซ้อน ถ้าหากประเทศต่างๆ มีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องที่ว่าใครควรมีสิทธิเก็บภาษีจากพวกเขา จุดที่ละเอียดซับซ้อนเหล่านี้กำลังถูกส่งไปเป็นสิ่งที่การเจรจาของ จี20 ตลอดจนการหารือในกรุงปารีสซึ่งจัดโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) จะต้องถกเถียงกันต่อไป

เรื่องนี้ยังจะมีปัญหาอยู่อีกมากเมื่อมาถึงขั้นลงรายละเอียดกันแล้ว คอร์วินกล่าวเตือน

“การยกครื่อง” ระบบภาษีโลกที่ตกลงกัน ยังคง “น้อยเกินไป”

ทางด้าน กาเบรียลา บูเชอร์ ผู้อำนวยการบริหารขององค์การการกุศล “ออกซ์แฟม” วิพากษ์วิจารณ์ว่า อัตราภาษีขั้นต่ำสุด 15% ซึ่งตกลงกันนี้ ต่ำเกินไป และไม่มีทางหยุดยั้งกระบวนการหลบเลี่ยงภาษีโดยไปพึ่งพาพวกแหล่งหลบภัยภาษี

“เป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระ ที่ จี7 ออกมาอ้างว่า ตนเอง “กำลังยกเครื่อง” ระบบภาษีโลกที่แตกเป็นเสี่ยงๆ อยู่ ด้วยการกำหนดอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำสุดของทั่วโลก ในระดับเดียวกับอัตราต่ำๆ ซึ่งเรียกเก็บโดยพวกแหล่งหลบภัยภีอย่างเช่น ไอร์แลนด์, สวิตเซอร์แลนด์, และสิงคโปร์” เธอบอก “พวกเขากำลังตั้งแนวรั้วที่ต่ำเอามากๆ จนกระทั่งบริษัททั้งหลายสามารถที่จะกระโดดข้ามไปได้อย่างง่ายดาย”

เธอบอกด้วยว่า ข้อตกลงนี้ไม่มีความเป็นธรรม เนื่องจากมันจะให้ประโยชน์แก่พวกชาติ จี7 ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทยักษ์จำนวนมาก โดยที่ชาติยากจนนั่นแหละจะเป็นฝ่ายสูญเสีย

ขณะที่ อเล็กซ์ ค็อบแฮม หัวหน้าผู้บริหารขององค์การ “เครือข่ายยุติธรรมทางภาษี” (Tax Justice Network) ถึงแม้เรียกข้อตกลงขุนคลัง จี7 ว่าเป็น “จุดหัวเลี้ยวหัวต่อ” แต่ก็มองว่า มันยังคง “ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง”

“เราสามารถเดินหน้าไปบนเส้นทางนี้ได้ก้าวหนึ่งในวันนี้ นั่นคือไอเดียเรื่องอัตราภาษีขั้นต่ำสุด แต่เราจำเป็นที่จะต้องทำให้แน่ใจว่าผลประโยชน์จากเรื่องนี้ นั่นคือรายได้ที่ประเทศต่างๆ จะสามารถจัดเก็บภาษีได้ จะต้องมีการแบ่งสรรกันอย่างเป็นธรรมตลอดทั่วโลก” เขาบอก

(ที่มา: เอพี, บีบีซี)


กำลังโหลดความคิดเห็น