xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำ WHO-ธนาคารโลก-IMF-องค์การการค้าโลก จับมือเร่งชาติร่ำรวยช่วยกระจายวัคซีนให้ ปท.จน ย้ำโลกฟื้นตัวไม่ได้ถ้าวิกฤตโควิดยังไม่จบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



WHO ประกาศระบบชื่อไวรัสกลายพันธุ์ใหม่ ใช้อักษรภาษากรีกแทนชื่อประเทศที่พบไวรัสครั้งแรก ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นการตีตราบาปประทับประเทศเหล่านั้นว่าเป็นต้นตอการระบาด ขณะเดียวกัน ผู้นำของอนามัยโลก, ไอเอ็มเอฟ, ธนาคารโลก และดับเบิลยูทีโอ ออกบทความพิเศษเรียกร้องบรรดาผู้นำโลกสร้าง “พันธสัญญาใหม่” ในการแจกจ่ายวัคซีนโควิดอย่างเท่าเทียมมากขึ้นเพื่อหยุดวิกฤตไวรัส

องค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงเมื่อวันจันทร์ (31 พ.ค.) ว่า นับจากนี้ไวรัสโคโรนากลายพันธุ์สายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในอังกฤษจะใช้ชื่อว่า “อัลฟา” สายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ “เบตา” สำหรับสายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในอินเดีย ซึ่งแยกออกเป็น 2 สายพันธุ์ย่อยนั้น สายพันธุ์ย่อยแรกที่น่าเป็นห่วงน้อยกว่าใช้ “เดลตา” ส่วนสายพันธ์ย่อยที่สองซึ่งดูอันตรายกว่าใช้ “แคปปา” โดยสามารถดูชื่อใหม่ของสายพันธุ์กลายพันธุ์ทั้งหมดได้จากเว็บไซต์ของ WHO

ที่ผ่านมา ไวรัสโคโรนากลายพันธุ์มีชื่อซึ่งนิยมเรียกในแวดวงวิทยาศาสตร์ที่ใช้ทั้งตัวอักษรโรมันและตัวเลขผสมกัน เช่น สายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในอังกฤษ คือ B.1.1.7 ส่วนที่พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ คือ B.1.351 สำหรับตัวที่พบครั้งแรกในบราซิล คือ P.1 และที่พบครั้งแรกในอินเดีย คือ B.1.617 โดยแยกเป็น 2 สายพันธุ์ย่อย ได้แก่ B.1.617.2 และ B.1.617.1

WHO บอกว่าการที่เสนอให้เรียกชื่อเป็นตัวอักษรภาษากรีก ไม่ใช่จะให้แทนที่ชื่อเรียกในทางวิทยาศาสตร์ แต่เนื่องจากว่าชื่อทางวิทยาศาสตร์ถึงแม้มีข้อดีหลายๆ ประการ ทว่า ยากแก่การเรียกชื่อและยากแก่การจดจำ ผลก็คือ ผู้คนทั่วไปนิยมหันไปเรียกไวรัสกลายพันธุ์ตามสถานที่แรกซึ่งตรวจพบ กระทั่งกำลังกลายเป็นการตีตราบาปและสร้างความแตกแยก

“เพื่อหลีกเลี่ยงเรื่องนี้ และทำให้การสื่อสารสาธารณะมีความสะดวกง่ายดายขึ้น WHO จึงขอส่งเสริมให้ทางการรับผิดชอบระดับชาติ, สื่อมวลชนต่างๆ และฝ่ายอื่นๆ หันมาใช้ชื่อใหม่ (ตัวอักษรภาษากรีก) เช่นนี้”

ต้นเดือนที่แล้ว รัฐบาลอินเดียออกมาวิพากษ์วิจารณ์การตั้งชื่อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์บี.1.617.2 ที่พบครั้งแรกในแดนภารตะเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมาว่า “สายพันธุ์อินเดีย” ถึงแม้ WHO เองไม่เคยประกาศใช้ชื่อดังกล่าวอย่างเป็นทางการเลยก็ตาม

มาเรีย ฟาน เคอร์โคฟ ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคเกี่ยวกับโควิด-19 ทวิตว่า ไม่ควรมีประเทศไหนต้องมัวหมองจากการเป็นประเทศแรกที่ตรวจพบและรายงานไวรัสกลายพันธุ์ พร้อมกันนั้นเธอเรียกร้องให้มีเพิ่มการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา และแบ่งปันข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพื่อช่วยหยุดการระบาด

เธอยังบอกว่า หากมีการระบุไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่อย่างเป็นทางการเกิน 24 สายพันธุ์ ซึ่งก็คือมากกว่าจำนวนตัวอักษรภาษากรีก WHO จะประกาศระบบการตั้งชื่อใหม่

ต่อมา ในวันอังคาร (1 มิ.ย.) บรรดาผู้นำของสี่องค์การระดับโลกได้ออกมาเรียกร้องบรรดาผู้นำของโลกสร้าง “พันธสัญญาใหม่” ในการแจกจ่ายวัคซีนโควิดอย่างเท่าเทียมมากขึ้นเพื่อให้สามารถควบคุมสถานการณ์การระบาด

การเรียกร้องนี้เกิดขึ้นขณะที่มีความกังวลมากขึ้นว่า ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงวัคซีนระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจนจะยิ่งทำให้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนายิ่งซับซ้อนและยืดเยื้อ โดยขณะนี้มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้กว่า 3.5 ล้านคนทั่วโลก

ในบทความแสดงความคิดเห็นพิเศษที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ฉบับวันอังคาร ผู้นำ WHO ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) โจมตีว่า การที่โครงการฉีดวัคซีนของประเทศต่างๆ มีช่องโหว่ชนิดตามกันไม่ทัน เป็นตัวการที่ทำให้ไวรัสกลายพันธุ์อุบัติขึ้น ซึ่งนำไปสู่การระบาดระลอกใหม่ในประเทศกำลังพัฒนาในขณะนี้

“ขณะนี้ปรากฏชัดเจนอย่างมาก ว่า โลกจะไม่สามารถฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิดอย่างกว้างขวางได้ หากวิกฤตสาธารณสุขนี้ยังไม่จบสิ้นลงไป โดยที่การเข้าถึงวัคซีนคือกุญแจสำคัญของทั้งสองส่วนนี้”

“การทำให้วิกฤตโรคระบาดสิ้นสุดลงเป็นไปได้ แต่ทั่วโลกต้องร่วมมือกันตั้งแต่ตอนนี้”

บทความชิ้นนี้มีลายเซ็นของคริสตาลินา จอร์จิวา กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ, เทดรอส แอดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก, เดวิด มัลพาส ประธานธนาคารโลก และเอ็นโกซี โอคอนโจ-อิเวียลา ผู้อำนวยการใหญ่ดับเบิลยูทีโอ

ทั้งสี่ยังเรียกร้องว่า ระหว่างที่กลุ่ม 7 ประเทศอุตสาหกรรมสำคัญของโลก (จี7) ประชุมซัมมิตกันที่สหราชอาณาจักรปลายเดือนนี้ พวกเขาควรต้องเห็นชอบในยุทธศาสตร์ที่มีการยกระดับความร่วมมือกัน มีการเงินเพิ่มเติมเข้ามาหนุนหลัง เพื่อแจกจ่ายวัคซีนโควิดไปให้แก่ทั่วโลก

บทความพิเศษชิ้นนี้แนะนำให้ จี7 ตกลงอัดฉีดแผนการมูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์ที่ไอเอ็มเอฟผลักดัน เพื่อลดช่วงห่างระหว่างแผนฉีดวัคซีนของประเทศต่างๆ และยุติวิกฤตโควิดลงโดยเร็ว

ในบทความเรียกร้องให้ตั้งจุดมุ่งหมายที่จะฉีดวัคซีนให้ได้ครอบคลุมประชากรโลกอย่างน้อยที่สุด 40% ภายในสิ้นปีนี้ และอย่างน้อยที่สุด 60% ภายในสิ้นปีหน้า เพราะเมื่อทำเช่นนี้ได้แล้วจึงจะสามารถทำให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยืนยาวถาวรขึ้นมาได้

ทั้งนี้ ในเดือนมีนาคม WHO วิจารณ์ความไม่เท่าเทียมในการแจกจ่ายวัคซีนอย่างรุนแรง ต่อมาเมื่อเดือนที่แล้ว เทดรอสขอให้ประเทศที่จัดซื้อวัคซีนจำนวนมากชะลอการฉีดวัคซีนให้เด็กเล็กและวัยรุ่นไว้ก่อน และนำวัคซีนส่วนนั้นไปบริจาคให้ประเทศอื่นๆ แทน

ประเทศมั่งคั่งถูกกล่าวหาว่า กีดกันโครงการโคแว็กซ์ ซึ่งเป็นโครงการจัดสรรวัคซีนให้ประเทศยากจนที่สุด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ไม่ให้เข้าถึงวัคซีนล็อตแรกๆ ด้วยการทำสัญญาจัดซื้อกับผู้ผลิตและครอบครองวัคซีนส่วนใหญ่จากทั้งหมดกว่า 1,800 ล้านโดส ที่ฉีดให้ประชากรโลกแล้วในขณะนี้

ขณะเดียวกัน แม้กลุ่ม จี7 ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศกันในลอนดอนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตกลงให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โคแว็กซ์ แต่กลับไม่มีการประกาศเงินอัดฉีดก้อนใหม่เพื่อปรับปรุงการเข้าถึงวัคซีน แม้มีเสียงเรียกร้องครั้งแล้วครั้งเล่าให้กลุ่มนี้พยายามมากขึ้นเพื่อช่วยเหลือประเทศที่ยากจนกว่าก็ตาม

(ที่มา: บีบีซี, เอเอฟพี, รอยเตอร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น