หลังแนวโน้มสังคมชราภาพปรากฏชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เพิ่มภาระทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งบ่อนทำลายความหวังในการ “รวยก่อนแก่” ในที่สุดปักกิ่งตัดสินใจประกาศผ่อนคลายกฎอีกครั้ง ยอมให้ประชาชนมีลูกเพิ่มจาก 2 คน เป็น 3 คน
พรรคคอมมิวนิสต์บังคับใช้นโยบายลูกคนเดียวในปี 1979 ซึ่งแม้ประสบความสำเร็จในการควบคุมจำนวนประชากร แต่นำไปสู่การบังคับทำหมันและการทำแท้งโดยอิงกับเพศลูกในท้องซึ่งเพิ่มปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ เนื่องจากพ่อแม่จำนวนมากอยากได้ลูกชายมากกว่า และส่งผลมาถึงตอนนี้ที่จำนวนประชากรวัยทำงานกำลังลดลงเร็วเกินไป ขณะที่ประชากรกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นสูงมาก ซึ่งอาจขัดขวางความหวังในการแปลงประเทศเป็นสังคมผู้บริโภคที่มั่งคั่งและผู้นำเทคโนโลยีโลก
ด้วยเหตุนี้ในการประชุมคณะกรรมการกรมการเมืองของพรรคเมื่อวันจันทร์ (31 พ.ค.) ที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เป็นประธาน จึงมีการประกาศมาตรการต่างๆ เพื่อจัดการปัญหาประชากรสูงวัยอย่างจริงจัง โดยบรรดาผู้นำระดับสูงสุดเหล่านี้ของพรรคเห็นพ้องอนุญาตให้แต่ละครอบครัวมีลูกได้ 3 คน และออกมาตรการสนับสนุนหลายอย่างเพื่อปรับปรุงโครงสร้างประชากร อาทิ ลดค่าเล่าเรียน ให้การสนับสนุนด้านภาษีและที่อยู่อาศัย ฯลฯ รวมทั้งยังกำลังหาวิธีให้ความรู้เกี่ยวกับ “การแต่งงานและความรัก” แก่คนหนุ่มสาว
สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานว่า ที่ประชุมยังเห็นพ้องให้ขยายเวลาการเกษียณอย่างค่อยเป็นค่อยไป และปรับปรุงระบบบำนาญและบริการสุขภาพสำหรับผู้สูงวัย
ทั้งนี้ แม้ปักกิ่งผ่อนคลายนโยบายลูกคนเดียวตั้งแต่ปี 2015 โดยอนุญาตให้มีลูกได้ 2 คน แต่อัตราการเกิดกลับยังลดลงต่อ บ่งชี้ว่า การเปลี่ยนกฎมีผลน้อยเหลือเกินต่อแนวโน้มนี้ และประชาชนจำนวนมากบอกว่า ไม่อยากมีลูกเพราะค่าใช้จ่ายสูง เป็นอุปสรรคต่อการทำงานและการดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่า
หลังข่าวนี้ออกมาก ชาวจีนพากันแสดงความคิดเห็นบนโซเชียลมีเดีย บางคนบอกว่า การเปลี่ยนนโยบายของรัฐบาลไม่ได้ช่วยแบ่งเบาค่ายาค่าหมอให้พ่อแม่ของหนุ่มสาวที่มีรายได้ต่ำ แถมยังต้องทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน ตั้งแต่ 9 โมงเช้ายัน 3 ทุ่ม
บ้างประชดว่า “อย่าห่วงเลยเรื่องสังคมชราภาพ เพราะคนรุ่นเราอายุคงไม่ยืนหรอก”
ผู้หญิงบางคนบอกว่า ปัญหาคือผู้หญิงต้องรับภาระหนักที่สุดในการเลี้ยงดูลูก “ถ้าผู้ชายช่วยเลี้ยงลูกมากขึ้น หรือถ้าครอบครัวเข้าใจผู้หญิงที่เพิ่งคลอดลูกมากขึ้น ผู้หญิงมากมายคงพร้อมมีลูกคนที่สอง แต่เมื่อมองภาพรวมแล้ว ฉันไม่นึกอยากมีลูกคนที่สองเลย คนที่สามยิ่งเป็นไปไม่ได้”
ปัจจุบัน จีนกำลังเผชิญสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ระบุว่า เป็นความท้าทายว่า พวกเขาจะรวยก่อนแก่ได้หรือไม่ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับไทยและบางประเทศในเอเชีย
ประชากร 1,400 ล้านคนของจีนถูกคาดหมายว่า จะเพิ่มจำนวนขึ้นถึงจุดสูงสุดปลายทศวรรษนี้และเริ่มลดลง ข้อมูลสำมะโนประชากรที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม บ่งชี้ว่า แนวโน้มดังกล่าวเกิดขึ้นเร็วกว่าคาด เพิ่มภาระให้ระบบบำนาญและระบบสุขภาพที่ขาดแคลนการสนับสนุนทางการเงิน ทั้งยังลดจำนวนแรงงานในอนาคตที่จะสามารถสนับสนุนกลุ่มประชากรสูงวัยที่เพิ่มจำนวนขึ้น
นักวิจัยเอกชนและกระทรวงแรงงาน ระบุว่า สัดส่วนประชากรกลุ่มวัยทำงานอาจลดลงเหลือครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมดในปี 2050 ส่งผลให้อัตราส่วนการเป็นภาระเพิ่มขึ้น ซึ่งหมายความถึงจำนวนผู้ปลดเกษียณ ที่ต้องพึ่งพิงแรงงานที่ยังทำงานอยู่แต่มีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ ในการสร้างรายได้ให้กองทุนบำนาญและจ่ายภาษีเพื่อหล่อเลี้ยงบริการสุขภาพและบริการสาธารณะอื่นๆ
ในส่วนอัตราการเจริญพันธุ์หรือจำนวนการเกิดเฉลี่ยต่อมารดา 1 คนของจีน อยู่ที่ 1.3 คนในปี 2020 พอๆ กับสังคมชราภาพอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่นและอิตาลี ขณะที่เกณฑ์ที่จำเป็นในการรักษาจำนวนประชากรให้คงจำนวนเท่าเดิมคือ 2.1 คน
ผลศึกษาที่นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยหัวโจวเผยแพร่ออกมาเมื่อต้นปียังพบว่า นโยบายลูก 2 คนกลายเป็นนโยบายที่ส่งเสริมเฉพาะสามีภรรยาฐานะดีและมีลูกหนึ่งคนอยู่แล้ว รวมทั้งไม่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตร อีกทั้งยังผลักดันให้ต้นทุนการดูแลบุตรและการให้การศึกษาพุ่งขึ้น ซึ่งสร้างปัญหาสำหรับพ่อแม่มือใหม่
(ที่มา: รอยเตอร์, เอพี, เอเอฟพี)