G7 no longer able to order world around
By Martin Jacques
08/06/2021
ทุกวันนี้กลุ่ม จี7 เป็นได้เพียงแค่เงามัวๆ ซีดๆ ของสิ่งที่มันเคยเป็นเมื่อช่วงทศวรรษ 1970 และคำพูดสวยงามจากที่ประชุมซัมมิตที่สหราชอาณาจักร จำนวนมากเลยจะเป็นแค่คำมั่นสัญญาอันว่างเปล่า
ถ้อยคำอันสละสลวยสวยงามจะคลอเคลียไปกับการประชุมซัมมิตของกลุ่ม จี7 สัปดาห์นี้ ถ้อยคำเหล่านี้จำนวนมากมายจะเป็นการให้คำมั่นสัญญา แต่แทบไม่มีอะไรเลยที่จะได้รับการปฏิบัติตาม มันก็เป็นอย่างนี้มาตั้งนมนานแล้ว จี7 ไม่ได้มีศักยภาพไม่ได้มีความเหมาะสมสำหรับบรรลุวัตถุประสงค์ของมันมาตั้งนานเต็มที จี7 ซึ่งปัจจุบันประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, อิตาลี, แคนาดา, และญี่ปุ่น ย้อนหลังไปเมื่อช่วงทศวรรษ 1970 คือเจ้าเหนือหัวของเศรษฐกิจโลก ทุกวันนี้ จี7 เป็นได้ก็แต่เพียงเงามัวๆ ซีดๆ ของสิ่งที่มันเคยเป็นเมื่อครั้งกระโน้น มันได้ลดระดับลงมาจนเพียงแค่มุ่งแสดงบทบาทของฝ่ายที่กำลังเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ ภายในเศรษฐกิจโลกเท่านั้นเอง จี7 ยังคงพยายามพูดจาด้วยวลีถ้อยคำอลังการเกี่ยวกับเจตนารมณ์ของตน ทว่าโลกได้เรียนรู้เสียแล้วว่าควรต้องหักลดราคาลงมา มันช่างเหมาะเหม็งอย่างที่สุดจริงๆ ที่ซัมมิตในสัปดาห์นี้ ผู้ที่นั่งเป็นประธานคือ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ซึ่งถือเป็นมือระดับแกรนด์มาสเตอร์ในเรื่องการใช้ถ้อยคำโอ่อวดเกินความเป็นจริงและการแสดงท่าทีที่ว่างเปล่าหาสาระสำคัญไม่เจอ
บทบาทและความสำคัญของกลุ่ม จี7 ได้หดตัวลงมาอย่างมโหฬาร จากการผงาดขึ้นมาของโลกกำลังพัฒนา ฝ่ายหลังนี้ในปัจจุบันกำลังมีส่วนอยู่เกือบๆ สองในสามของเศรษฐกิจโลก เปรียบเทียบกับราวๆ หนึ่งในสามที่ฝ่ายตะวันตกมีอยู่ เมื่อตอนทศวรรษ 1970 นั้น มันตรงกันข้ามกันเลย ฝ่ายตะวันตกเริงร่าอยู่กับส่วนแบ่งสองในสาม และโลกกำลังพัฒนาได้มาเพียงแค่หนึ่งในสาม ภาพที่สะท้อนให้เห็นอำนาจซึ่งกำลังเสื่อมสลายไปของ จี7 ได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจที่สุด เกิดขึ้นในปี 2008 เมื่อตอนที่วิกฤตการณ์ภาคการเงินพุ่งขึ้นไปถึงจุดสูงสุด จี7 ในทางพฤตตินัยได้ถูกแทนที่โดย จี20 ซึ่งเป็นตัวแทนของชาติต่างๆ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนในเศรษฐกิจโลกมากมายยิ่งกว่า
นับแต่นั้นมา จี7 ก็ได้กลายเป็นสถาบันที่กำลังพยายามค้นหาบทบาทที่ตัวเองจะทำได้ มากขึ้นๆ ทุกที เวลานี้เมื่อ จี7 อยู่ใต้การนำของ ไบเดน มันกำลังทำตัวราวกับต้องการยืนยันว่าตนเองอับแสงถูกบดบังจนมัวซัวเสียแล้วในฐานะเป็นสถาบันระดับโลก จึงกำลังมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะวางกรอบ จี7 เสียใหม่ให้กลายเป็นตัวแทนและเป็นแชมเปี้ยนผู้พิทักษ์โลกประชาธิปไตย ในการต่อสู้กับระบอบเผด็จการ ซึ่งเป็นวลีที่มุ่งจะให้หมายถึงจีนนั่นแหละ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์นี้ ทั้งเกาหลีใต้, อินเดีย, ออสเตรเลีย, และแอฟริกาใต้ จึงได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำของ จี7 สัปดาห์นี้ด้วย กระทั่งมีการพูดจากันถึงเรื่องที่ จี7 กำลังจะกลายเป็น ดี10 (D10 D ตรงนี้มุ่งที่จะหมายถึง Democracy ประชาธิปไตย) อย่างไรก็ดี ความเคลื่อนไหวเช่นนี้มีแต่จะเป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงอำนาจที่กำลังเสื่อมทรุดลงของ จี7 เท่านั้นเอง นั่นคือ จากการเป็นผู้นำโลก ก็กำลังกลายเป็นผู้นำของกลุ่มลัทธิทางอุดมการณ์เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ความจริงยังคงมีอยู่ว่า ข้อเสนอเช่นนี้ไม่น่าที่จะได้รับความยินยอมเห็นชอบ ไม่ว่าจากบรรดาชาติที่เป็นสมาชิก จี7 อยู่แล้ว หรือผู้ที่มีศักยภาพจะได้เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ โดยอาจจะมียกเว้นบ้างก็ในกรณีของออสเตรเลียเท่านั้น ตรงนี้เองเราก็มาถึงหัวใจของวิกฤตการณ์ของกลุ่ม จี7 ทั้งนี้เหนือกว่าสิ่งอื่นใดทั้งหมด การก้าวผงาดขึ้นมาของจีน คือสิ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารให้แก่เศรษฐกิจโลก ทำให้ จี7 ต้องกลายเป็นผู้ยืนมองอยู่ข้างๆ และในเวลาเดียวกันนั้น ยังได้เปลี่ยนแปลงรูปโฉมระบบเศรษฐกิจของชาติ จี7 หลายๆ รายอีกด้วย การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนกลายเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สร้างลู่ทางโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับเยอรมนี, ฝรั่งเศส, และอิตาลี นี่คือเหตุผลที่ทำไมพวกเขาจึงคัดค้านไม่ยอมให้ จี7 กลายเป็นผู้รณรงค์ต่อต้านจีน ทางด้านญี่ปุ่นก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน เฉกเช่นเดียวกับชาติที่อาจจะถูกรับเข้ามาใหม่อย่างเช่น เกาหลีใต้ และแอฟริกาใต้ ตรงนี้เองที่แบให้เห็นกันอย่างเปล่าเปลือยถึงแนวรอยเลื่อนรอยแยกทั้งของ จี7 และของการขยายสมาชิกภาพใดๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นมาได้ โลกตะวันตกนั้นกำลังเกิดการแบ่งแยกกันและการแตกแยกกัน อำนาจสั่งการของสหรัฐฯอยู่ในภาวะเสื่อมถอย ไม่สามารถที่จะเดินหน้าไปตามที่ตนเองต้องการ ดังที่เคยทำได้ในอดีตเสียแล้ว
ภาพสะท้อนอย่างดีที่สุดของการที่ จี7 กำลังไร้สมรรถภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ปรากฏให้เห็นในเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของตนกับโลกกำลังพัฒนา เวลาผ่านไป 8 ปีแล้วที่ฝ่ายตะวันตกพยายามหาหนทางเพื่อมาตอบโต้รับมือกับแผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative หรือ BRI) ที่จีนเสนอขึ้น หัวข้อนี้ได้รับการกำหนดให้หยิบยกขึ้นมาอีกครั้ง ณ ซัมมิต จี7 สัปดาห์นี้ แต่ว่าไอเดียทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้รับการเสนอออกมาเพื่อใช้เป็นพื้นฐานของทางเลือกที่ฝ่ายตะวันตกจะให้ประชันกับ BRI นั้น ล้วนแล้วแต่ล้มเหลวลงอย่างสิ้นเชิง ความล้มเหลวเช่นนี้ต้องถือว่ามีความสำคัญมากเป็นพิเศษ และเป็นสิ่งที่กำลังเผยโฉมให้เห็นอย่างดีที่สุดเกี่ยวกับฝ่ายตะวันตกทางด้านหนึ่ง และจีนทางอีกด้านหนึ่ง
BRI นั้นเป็นการประกาศออกมาอย่างชัดเจนและมีพลังโน้มน้าวใจ ของความสัมพันธ์ที่จีนมีอยู่กับโลกกำลังพัฒนา จากรากเหง้าของการที่จีนเองในอดีตเคยมีฐานะตกเป็นชาติกึ่งเมืองขึ้นและมีฐานะเป็นประเทศกำลังพัฒนารายหนึ่งเรื่อยมา ในทางตรงกันข้าม ฝ่ายตะวันตกล้มเหลวเนื่องจากประวัติศาสตร์ของพวกเขามีความแตกต่างอย่างชนิดเป็นอีกข้างหนึ่งแบบโจ่งแจ้งโทนโท่ เป็นประวัติศาสตร์แห่งการล่าเมืองขึ้น แห่งการขูดรีดและการพิชิตปราบปรามประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ฝ่ายตะวันตกขาดไร้ทั้งประสบการณ์, ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ, ตลอดจนแรงจูงใจอย่างที่จำเป็นต้องมี ช่องว่างที่ดำรงคงอยู่ในปัจจุบันระหว่างโลกตะวันตกผู้ร่ำรวยกับโลกกำลังพัฒนานั้น คือความแตกแยกร้าวฉานหลากมิติมากแง่มุม
ตัวอย่างอันน่าตื่นตาตื่นใจของการที่ฝ่ายตะวันตกไม่ได้แยแสใส่ใจต่อความจำเป็นความต้องการของโลกกำลังพัฒนานั้น จะแสดงให้เห็นอย่างเต็มที่ ณ ซัมมิต จี7 หนนี้ ถึงแม้สหรัฐฯและสหราชอาณาจักร รวมทั้งยุโรปตะวันตกมากขึ้นๆ ทุกที ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่ประชากรส่วนข้างมากของพวกตนไปแล้ว แต่ลองยกตัวอย่างสักรายหนึ่งก็ได้ อย่างสหราชอาณาจักรนั้นกลับยังไม่ได้เคยส่งออกวัคซีนแม้แต่โดสเดียวไปให้แก่โลกกำลังพัมนา สหราชอาณาจักรยังคงเก็บวัคซีนของตนทั้งหมดเพื่อเอาไว้ให้แก่ตัวเอง ถึงแม้สต็อกที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นล้ำเกินความจำเป็นความต้องการในอนาคตของตนเองไปไกลลิบแล้ว อย่างไรก็ดี จากการที่ไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ๆ ซึ่งหลายสายพันธุ์มีความสามารถในการแพร่ระบาดไปทั่วโลก จึงกลายเป็นความกระจ่างแจ้งชนิดรับประกันได้แก่ทุกๆ คนแล้วว่า ไม่มีประเทศไหนหรอกที่จะได้รับการคุ้มครองป้องกันอย่างแท้จริง จนกว่าทุกๆ ประเทศจะได้รับการคุ้มครองป้องกันนั่นแหละ
ในเวลาเกิดโรคระบาดใหญ่ ไม่มีประเทศไหนที่สามารถกลายเป็นเกาะซึ่งตัดขาดจากชาติอื่นๆ ได้ สหรัฐฯซึ่งเท่าที่ผ่านมาล้มเหลวไม่ได้ส่งออกวัคซีนแม้แต่โดสเดียว เวลานี้กำลังให้สัญญาที่จะส่งออกวัคซีนจำนวน 80 ล้านโดสในช่วงต่อไปของปีนี้ หากนำตัวเลขนี้มาเปรียบเทียบกับสิ่งที่จีนทำ นอกเหนือจากจีนได้ฉีดวัคซีนภายในประเทศของตนไป 777 ล้านโดสแล้ว ยังได้ส่งออกวัคซีนมากกว่า 300 ล้านโดสไปยังโลกกำลังพัฒนา ตัวอย่างเช่น กว่าครึ่งหนึ่งของวัคซีนที่ฉีดกันในละตินอเมริกา มีต้นแหล่งที่มาจากประเทศจีน ทั้งหลายทั้งปวงจึงดูเหมือนกับว่าฝ่ายตะวันตกจะแสดงความบกพร่องล้มเหลวให้เห็นในเรื่องความรับผิดชอบทางศีลธรรมของตนในการส่งวัคซีนให้แก่โลกกำลังพัฒนา จวบจนกระทั่งมันสายเกินไปแล้วและผู้คนหลายล้านคนได้ล้มตายไปอย่างไม่มีความจำเป็นเลย
มาร์ติน ฌากส์ เคยทำงานเป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ภาควิชาการเมืองและการระหว่างประเทศศึกษา ณ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Department of Politics and International Studies at Cambridge University) สหราชอาณาจักร จวบจนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ปัจจุบัน เขาเป็นศาสตราจารย์รับเชิญอยู่ที่ สถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมัยใหม่ ของมหาวิทยาลัยชิงหวา (Institute of Modern International Relations at Tsinghua University) ในกรุงปักกิ่ง รวมทั้งเป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ สถาบันจีน มหาวิทยาลัยฟู่ตั้น (China Institute, Fudan University) นครเซี่ยงไฮ้ สามารถติดตามเขาทางทวิตเตอร์ได้ที่ @martjacques. opinion@globaltimes.com.cn
(เก็บความจากเว็บไซต์โกลบอลไทมส์ของจีน https://www.globaltimes.cn/page/202106/1225664.shtml)