xs
xsm
sm
md
lg

“สถิตย์” อภิปราย พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้าน แนะช่วยรายย่อยให้มากที่สุด ใช้กลไกธนาคารเฉพาะกิจของรัฐให้มากขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ส.ว.สถิตย์” อภิปราย พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้าน แนะ ธปท.กำหนดแนวทางไม่ให้การช่วยเหลือซ้ำซ้อนกับ พ.ร.ก.ฉบับก่อน มุ่งช่วยเหลือเอสเอ็มอี-ผู้ประกอบการรายเล็กให้มากที่สุดที่ได้รับผลกระทบจากโควิดหนักสุด พร้อมเพิ่มมาตรการกึ่งการเงินกึ่งการคลังช่วยเหลือผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ

เมื่อวันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน 2564 ในการประชุมวุฒิสภา วาระการพิจารณาศึกษา เรื่อง พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อภิปรายใจความว่า ทุกครั้งที่เกิดวิกฤต มาตรการทางการเงินและมาตรการทางการคลัง จะเป็นมาตรการที่สำคัญในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้น ในวันนี้ พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 นั้น เป็นมาตรการทางการเงิน ซึ่งมิได้เป็นภาระทางการคลัง มิได้เป็นภาระต่อหนี้สาธารณะอย่างมีนัยสำคัญ จะมีก็แต่เพียงค่าธรรมเนียมการโอนทรัพย์ ค่าธรรมเนียมการจำนอง ที่ได้รับการยกเว้น จะมีก็เฉพาะการชดเชยบางประการในเรื่องการยกเว้นดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก การยกเว้นค่าธรรมเนียมและเงินชดใช้ให้กับบรรษัทประกันสินเชื่อขนาดย่อม ซึ่งมีเพียงจำนวนไม่มาก มาตรการทางการเงินดังกล่าว เป็นมาตรการที่ดำเนินการโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งในหลักการของธนาคารแห่งประเทศไทย ในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย มิได้ใช้อำนาจบังคับโดยตรงอย่างเช่น หน่วยงานของรัฐหรือส่วนราชการอื่นๆ แต่ใช้อำนาจที่เรียกว่าอำนาจในการชักชวน หรือที่เรียกว่า “Power of Persuasion” โดยธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดหลักเกณฑ์เป็นแนวทางแนะนำธนาคารพาณิชย์ให้ดำเนินการ แต่ธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินเหล่านั้น ยังมีกฎเกณฑ์ของตนเองที่ต้องพิจารณาว่า สินเชื่อที่ได้ปล่อยแล้วนั้น เป็นสินเชื่อที่สามารถชำระหนี้คืนให้กับสถาบันการเงินหรือไม่ เพราะท้ายที่สุดแล้ว แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินโดยให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกับสถาบันการเงิน สถาบันการเงินก็ยังจะต้องกลับมาชำระหนี้ให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ดี ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ควรกำหนดแนวทางให้ชัดเจนขึ้นในเรื่องดังต่อไปนี้

ประการแรก มีแนวทางที่ชัดเจนว่า การให้สินเชื่อกับผู้ประกอบธุรกิจครั้งนี้จะไม่ซ้ำซ้อนกับผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อตาม พ.ร.ก. ฉบับก่อนหน้านี้

ประการที่สอง มีแนวทางที่ชัดเจนพอสมควรที่จะกำหนดได้ว่าผู้ที่ได้รับประโยชน์ทางการเงินจากพระราชกำหนดนี้ เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 อย่างแท้จริง และทำให้ความช่วยเหลือทางการเงินนี้มุ่งไปสู่ระดับเอสเอ็มอี และระดับที่เล็กกว่านั้นให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะวิกฤตครั้งนี้ผู้ที่ได้รับผลกระทบแรงสุดคือระดับเอสเอ็มอีและระดับเล็กกว่านั้น

สำหรับมาตรการเรื่องของการโอนทรัพย์ชำระหนี้นั้น ดร.สถิตย์ ได้ให้ข้อสังเกตไว้ 2 ประการ

ประการแรก ก็คือ มูลค่าของทรัพย์สินที่โอนชำระหนี้นั้นควรจะกำหนดหลักเกณฑ์ในการประเมินราคาที่เหมาะสมและยุติธรรม ทั้งกับสถาบันการเงินเองและทั้งกับลูกหนี้

ประการที่สอง เมื่อลูกหนี้ได้โอนหลักทรัพย์ ที่เป็นหลักประกันเพื่อการชำระหนี้ไปแล้ว และมีสิทธิเช่าทรัพย์สินนั้น ควรจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องค่าเช่าให้เหมาะสม เพราะเจตนารมณ์ของการพักทรัพย์พักหนี้นั้น ก็เพื่อที่จะให้ลูกหนี้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เพราะฉะนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดค่าเช่าในอัตราที่เหมาะสม

นอกจากนี้ นอกเหนือจากมาตรการทางการเงิน ผ่านทางธนาคารพาณิชย์แล้ว ยังมีมาตรการกึ่งการคลังกึ่งการเงิน อีกมาตรการหนึ่ง ซึ่งเป็นมาตรการที่ดำเนินการผ่านทางสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ที่จริงแล้วสถาบันการเงินเฉพาะกิจคือธนาคารเพื่อการพัฒนา เป็นธนาคารที่รัฐตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนา ด้วยเหตุนี้ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารเอสเอ็มอี ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า จึงเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนา เป็นเครื่องมือที่สำคัญของรัฐบาล ในการที่จะส่งเสริมการให้สินเชื่อและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึง จำเป็นต้องใช้เครื่องมือของธนาคารเพื่อการพัฒนาหรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจเหล่านี้ให้มากขึ้น แม้ว่าที่ได้มีมาตรการไปบ้างแล้ว เช่น การส่งเสริมสภาพคล่อง การค้ำประกันสินเชื่อการบรรเทาภาระหนี้สิน แต่ต้องมีให้มากกว่านั้น เพราะธนาคารเพื่อการพัฒนานี้จัดตั้งขึ้นมาด้วยเจตนารมณ์ที่จะให้ภาครัฐ ได้ใช้เครื่องมือนี้เพื่อการพัฒนา ต่างกับการใช้เครื่องมือผ่านธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำกับสถาบันการเงินพาณิชย์ ซึ่งมีหลักเกณฑ์ของตัวเองและมีหน้าที่ในการดูแลเงินฝากของประชาชน จึงมีกฎเกณฑ์ที่ไม่อาจจะบังคับได้เต็มที่ เพราะเป็นการใช้อำนาจในการชักชวนของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ในกรณีสถาบันการเงินเฉพาะกิจนั้นรัฐบาลให้นโยบายได้เต็มที่ ถ้าสถาบันการเงินเฉพาะกิจมีความเสียหายเกิดขึ้น ก็สามารถตั้งเป็นบัญชีบริการสาธารณะ ที่เรียกว่า “Public Services Account” และขอรับงบประมาณจากรัฐบาลได้เมื่อพิสูจน์ว่าเป็นการกระทำเพื่อการบริการสาธารณะอย่างแท้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น