คำแถลงการณ์ขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ออกมาสนับสนุนรัฐสภาสหรัฐอเมริกา ร่างกฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพ ‘สัตว์ในตระกูลแมวใหญ่’ ซึ่งมีโอกาสที่จะประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายในอนาคตอันใกล้นี้
เมื่อกลางเดือนเมษายน พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา สมาชิกวุฒิสหรัฐฯ กลับมาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความปลอดภัยสาธารณะของสัตว์ตระกูลเสือ หรือ Big Cat Public Safety Act อีกครั้ง หลังเคยมีการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้ และได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชนอย่างท่วมท้น จนเชื่อได้ว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ มีแนวโน้มจะได้รับการประกาศใช้เป็นกฎหมายในเร็ววัน และหากเกิดขึ้นจริง จะถือเป็นครั้งแรกของประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีการออกกฎหมายห้ามมิให้ผู้ใดมีสัตว์ตระกูลเสือไว้ในครอบครอง และอาจส่งผลให้ธุรกิจสวนสัตว์ สวนสัตว์ข้างทาง-เร่ร่อน และธุรกิจการถ่ายรูปคู่กับสัตว์ป่าที่ดำเนินธุรกิจปราศจากใบอนุญาต กลายเป็นการกระทำผิดกฎหมายโดยทันที
พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีเจตนายุติกิจกรรมทุกประเภทที่เอื้อให้เกิดการสัมผัสโดยตรงระหว่างมนุษย์และสัตว์ป่า เช่น การป้อนนม และการถ่ายรูปคู่ / เซลฟี่ รวมถึงการเลี้ยงสัตว์ป่าเป็นสัตว์เลี้ยง โดยสัตว์กลุ่มแมวใหญ่ภายใต้ พ.ร.บ. ครอบคลุมเสือโคร่ง เสือดาว สิงโต เสือจากัวร์ และเสือชีตาห์ โดยเนื้อหาใน พ.ร.บ.ระบุไว้ว่า “สัตว์ป่าควรใช้ชีวิตอยู่ในป่าตามธรรมชาติ ไม่ใช่อยู่ภายใต้การเป็นเจ้าของของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง”
ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา สัตว์ในตระกูลแมวใหญ่จำนวนกลับถูกพรากจากแม่ผู้ให้กำเนิดในป่าใหญ่ เพื่อถูกนำมาบังคับใช้เป็นเครื่องมือสร้างกำไรทางธุรกิจ พวกมันต้องทนใช้ชีวิตอยู่ในสถานที่ที่ไร้ซึ่งการจัดการด้านสวัสดิภาพสัตว์ที่เหมาะสม ทำให้สัตว์ในกรงส่วนใหญ่มีปัญหาด้านสุขภาพ และขาดสารอาหารเนื่องจากไม่เคย หรือได้รับนมแม่ไม่เพียงพอ ซ้ำร้าย ยังพบการกระทำทารุณกรรมสัตว์เพื่อกระตุ้นให้พวกมันเชื่อฟังคำสั่งของผู้ฝึกสอน
ในอดีตที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาไม่มีกฎหมายกลางในการควบคุมการครอบครองสัตว์ในตระกูลแมวใหญ่ โดยบางรัฐอาจมีประกาศห้ามครอบครองสัตว์ป่าไว้ในครอบครอง หรือต้องขอใบอนุญาตก่อน แต่ในบางรัฐ การหาซื้อและเป็นเจ้าของเสือโคร่ง หรือสัตว์ป่าชนิดอื่นสักตัว สามารถทำได้ง่ายยิ่งกว่าการทำเรื่องขอรับอุปถัมภ์แมว
ในปัจจุบัน โลกใบนี้เหลือเสือโคร่งอยู่ในธรรมชาติไม่ถึง 4,000 ตัว และมีอาศัยอยู่ในเพียงแค่ 13 ประเทศ (รวมประเทศไทย) เท่านั้น โดยคาดว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาอาจมีจำนวนเสือโคร่งในกรงขังมากถึง 5,000 ถึง 10,000 ตัว ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่าจำนวนเสือในธรรมชาติเสียด้วยซ้ำ
ในระยะยาว เสือและสิงโตที่มีอายุเกินกว่าจะทำการแสดง หรือเริ่มแสดงพฤติกรรมดุร้ายตามสัญชาตญาณสัตว์ป่า จะถูกส่งต่อให้องค์กรรักษาพันธุ์สัตว์ทำหน้าที่ดูแลต่อไป ยกตัวอย่าง กรณีองค์กรอนุรักษ์สัตว์ในฟลอริด้าที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหลายล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อดูแลเสือและสิงโตตลอดช่วงอายุขัยของพวกมัน
ร่างกฎหมายฉบับนี้จะช่วยปกป้องสัตว์ในตระกูลแมวใหญ่ในประเทศสหรัฐฯ จากการใช้ชีวิตหลังลูกกรง ลดโอกาสสัตว์ป่าถูกพรากจากแม่ผู้ให้กำเนิดและฝูง เพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือทำมาหากินของมนุษย์ และป้องกันพวกมันจากการขบวนการค้าขายชิ้นส่วนสัตว์ป่า WWF สนับสนุนการดำเนินการอย่างจริงจังของรัฐสภาสหรัฐฯ และการบังคับใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นกฎหมายระดับชาติ เพื่อยุติการกระทำของมนุษย์ที่ไม่เป็นธรรมต่อสัตว์ป่า และก่อให้เกิดความโปร่งใสในธุรกิจที่ใช้ประโยชน์จากชีวิตสัตว์ป่าต่อไป
อ่านแถลงการณ์ของ WWF (ภาษาอังกฤษ) ได้ที่ : https://rb.gy/krnmgw
ข้อมูลอ้างอิง WWF-Thailand
CREDIT CLIP WMBB News 13