xs
xsm
sm
md
lg

WWF ต่อยอดวิจัยและฟื้นฟู “ประชากรเสือโคร่ง” ในผืนป่าอุ้มผาง-กุยบุรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


จ้าวป่า “เสือโคร่ง” โผล่เดินอย่างองอาจผ่านกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ (Camera trap survey) ที่คลองลาน เมื่อ ก.ค.ปี 2563
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF-Thailand รายงานว่าในปี 2563 ประเทศไทยได้รับข้อมูลการสำรวจที่ยืนยันว่ามีประชากร “เสือโคร่ง” อยู่ในธรรมชาติประมาณ 130-160 ตัว ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 60 - 80 ตัว ถือเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของ WWF ประเทศไทย ที่มีบทบาทในงานวิจัย และร่วมลงพื้นที่ปฏิบัติงานเคียงข้างหน่วยงานภาครัฐในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง และสัตว์ป่าสายพันธุ์อื่นๆ ในผืนป่าไทย

ซึ่งวาระครบรอบ 60 ปีการทำงานอนุรักษ์ของ WWF ในวันที่ 29 เมษายนนี้ WWF-Thailand อยากใช้โอกาสนี้ ถ่ายทอดเรื่องราวความสำเร็จของงานอนุรักษ์ประชากรเสือโคร่งซึ่งเป็น 'ดัชนีสำคัญที่บ่งบอกความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า'

ปัจจุบัน WWF-ประเทศไทย ยังดำเนินงานโครงการวิจัยและฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์-คลองลาน จ.กำแพงเพชร ซึ่งเป็นหนึ่งในผืนป่าที่ยังคงความสมบูรณ์ไว้ได้มากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งทำให้เราได้เห็นภาพถ่าย หรือวิดีโอจากกล้องดักถ่ายของเสือโคร่งมาทักทายให้เราได้ดีใจอยู่บ่อยๆ

ทั้งนี้การติดตามประชากรเสือโคร่งทั้งที่แม่วงก์และคลองลาน ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน โดยการศึกษาวิจัยล่าสุดพบเสือโคร่งตัวเต็มวัยจำนวน 9 ตัว ประกอบด้วยเพศเมีย 5 ตัว เพศผู้ 4 ตัว นอกจากนี้ยังพบสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ในพื้นที่แห่งนี้อีกหลายชนิด เช่น สมเสร็จ ช้าง หมาใน หมีหมา กระทิง เก้งหม้อ เป็นต้น

ล่าสุด WWF-ประเทศไทย เดินหน้าต่อยอดความสำเร็จแล้ว ด้วยการขยายโครงการวิจัยและฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งไปยังพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง รวมถึงโครงการอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี โดยที่ผืนป่ากุยบุรีแม้ว่าเสือโคร่งจะไม่ได้ออกมาให้เห็นนานแล้ว แต่ที่นี่ถือเป็นผืนป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และมีสัตว์ป่าให้เราได้เห็นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น วัวแดง กระทิง หมูป่า ซึ่งล้วนแต่เป็นเหยื่อของเสือโคร่งทั้งสิ้น นอกจากนั้นผืนป่ากุยบุรียังเป็นบ้านหลังใหญ่อันอุดมสมบูรณ์ของฝูงช้างป่า

WWF-ประเทศไทย เปิดเผยด้วยว่างานอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่าเป็นงานที่ต้องใช้เวลามาก ซี่งช่วงเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา การปฏิบัติงานคงสำเร็จลุล่วงไม่ได้เลย หากเราไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า องค์กรอนุรักษ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และชุมชนโดยรอบ


WWF-ประเทศไทย รายงานถึงการติดตามประชากรเสือโคร่งอีกว่า เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าแต่ละคน จะต้องได้รับการอบรมเพื่อการใช้แผนที่ เข็มทิศ และเครื่องกำหนดพิกัดทางภูมิศาสตร์ (GPS) นอกจากนี้ WWF, WCS และกรมอุทยานฯ ได้ร่วมมือกันเพื่อสร้างศูนย์อำนวยการกลาง ที่รวบรวมฐานข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลการลาดตระเวนโดยโปรแกรม SMART เพื่อสร้างเสริมประสิทธิภาพการลาดตระเวน ความไปถึงยกระดับความมือกันระหว่างกลุ่มการอนุรักษ์ และบริเวณใกล้เคียง

ทีมปฏิบัติงานมวลชนสัมพันธ์นั้น มุ่งความสนใจไปที่การสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเด็กนักเรียน และชาวบ้านที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับแม่วงก์ - คลองลาน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเสือ โดยนักเรียนกว่า 1,000 คนจากสิบโรงเรียน และชาวบ้านกว่า 3,600 คน จาก 10 หมู่บ้าน โดยทีมงานได้ร่วมกันจัดการโครงการนำร่องการฟื้นฟูเสือและสัตว์ป่าในสี่โรงเรียน โดยมีการสร้างโป่งดินเทียม เพื่อเพิ่มแหล่งแร่ธาตุให้สำหรับเหล่าเหยื่อของเสือโคร่ง รวมถึงกวางผา เก้ง และกระทิง

อีกกิจกรรมหนึ่งที่สำคัญ คือ “นักสืบสายน้ำ” รวมถึงการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ ทั้งในป่าและในชุมชน และโดยกิจกรรมนอกห้องเรียนที่เน้นเรื่องเสือและสัตว์ป่าในระบบนิเวศนั้น ไม่ได้ช่วยแค่สอนนักเรียนให้เข้าใจความสำคัญของธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเพิ่มความตระหนักรู้ เกี่ยวกับการอนุรักษ์สัตว์ป่าละแหล่งที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะในบ้านเกิดของพวกเขาอย่างแม่วงก์และคลองลาน ซึ่งได้สร้างความภาคภูมิใจ และการมองเห็นคุณค่าในการมีสัตว์ป่าดังเช่นเสืออยู่ในบ้านเกิดของพวกเขาเอง นี่คือส่วนหนึ่งในการปกป้องสัตว์ป่าที่กำลังตกอยู่ในอันตราย ให้ดำรงชีวิตอยู่ในพื้นที่แถบแม่วงคลองลานได้ตลอดไป

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในอีกหลายงานอนุรักษ์ที่ดำเนินการภายใต้ชื่อ World Wide Fund For Nature หรือ WWF หนึ่งในองค์กรอนุรักษ์ระหว่างประเทศขนาดใหญ่อันดับต้นของโลกที่มีสำนักงานกระจายในกว่า 120 ประเทศทั่วโลก ความตั้งใจของพวกเราชาวแพนด้า คือการที่มนุษย์และสัตว์สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล เพราะธรรมชาติ คือ บ้านของเราทุกคนร่วมนับถอยหลัง และเฉลิมฉลองการทำงานด้านอนุรักษ์ปีที่ 60 ของ WWF ไปด้วยกันในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2564




กำลังโหลดความคิดเห็น