xs
xsm
sm
md
lg

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกวอนทุกฝ่ายเร่งใส่ใจ ‘สวัสดิภาพสัตว์’ หลังข่าวฟาร์มจระเข้ล้มละลาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังจากมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรื่องชำระบัญชี จดทะเบียนเลิก บริษัท ฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์ บางปะกง จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์สมุทรปราการ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแสดงความรับผิดชอบต่อสวัสดิภาพสัตว์ทุกชีวิตที่อาศัยอยู่ในสวนสัตว์ โดยเฉพาะระหว่างช่วงที่อาจต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ

นางสาวโรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า “ถึงตอนนี้อนาคตของฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์สมุทรปราการจะยังไม่ชัดเจน เราขอเรียกร้องให้เจ้าของกิจการทำแผนการจัดการสัตว์ป่าทุกประเภทที่อยู่ในการครอบครอง แน่นอนว่าสัตว์เหล่านี้อาจจะต้องถูกเปลี่ยนเจ้าของ เราคาดหวังให้เจ้าของรายใหม่เร่งพัฒนามาตรฐานการเลี้ยงดูโดยคำนึงถึงหลักสวัสดิภาพสัตว์มากขึ้น เริ่มได้จากยกเลิกการแสดงโชว์ทั้งหมดที่มีการบังคับให้สัตว์ป่าต้องแสดงพฤติกรรมที่ผิดธรรมชาติทั้งหมด ซึ่งกิจกรรมลักษณะนี้กำลังได้รับความนิยมน้อยลงเรื่อยๆ จากนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยการเปลี่ยนผ่านควรจะอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของหน่วยงานรัฐและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องเพื่อความโปร่งใสด้วย”

   นางสาวโรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย
ในกรณีที่เจ้าของกิจการไม่ประสงค์จะครอบครองสัตว์อีกต่อไป องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้ามามีบทบาทในการดูแลสวัสดิภาพของสัตว์ป่าที่จะถูกยึดครองเข้ามาเป็นของรัฐทั้งหมด ในขณะเดียวกัน ยังเรียกร้องให้กรมอุทยานฯ ปรับปรุงมาตรการจดทะเบียนสวนสัตว์เอกชนให้มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่มีประวัติปล่อยปละละเลยสวัสดิภาพสัตว์สามารถครอบครองสัตว์ป่าได้อีกในอนาคต

ฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์สมุทรปราการ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่รู้จักในฐานะฟาร์มจระเข้แห่งแรกของประเทศไทยและฟาร์มจระเข้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีการเพาะพันธุ์และเลี้ยงจระเข้ภายในฟาร์มมากกว่า 50,000 ตัว นอกจากนี้ยังมีสัตว์ป่าอีกจำนวนหนึ่ง ทั้งเสือ ช้าง หมีควาย และลิง


จากข้อมูลขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกที่ติดตามและเก็บข้อมูลด้านสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มจระเข้และ สวนสัตว์สมุทรปราการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ถึง พ.ศ. 2562 พบว่าสัตว์ป่าที่ถูกกักขังต้องใช้ชีวิตอยู่ในสภาพย่ำแย่ บางตัวมีบาดแผลหรืออาการเจ็บป่วยอย่างชัดเจน สัตว์หลายตัวอยู่ในสภาพผอมโซ ถูกเลี้ยงอย่างไม่เหมาะสม ตลอดจนถูกบังคับให้ทำการแสดงแก่นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะกิจกรรมการโชว์จระเข้และโชว์ช้าง

ปัจจุบันองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกพบว่าธุรกิจสวนสัตว์เอกชนจำนวนมากทั่วโลกกำลังปิดตัวลง โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากรายได้ที่ลดลงในวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลให้สัตว์ป่าในกรงขังจำนวนมากตกอยู่ในความเสี่ยง


นายฉัตรณรงค์ เมืองวงษ์ ผู้จัดการแคมเปญสัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ระบุว่า “ปรากฏการณ์นี้ชี้ให้เห็นว่าภาครัฐและประชาชนอาจจะใจดีเกินไป ปล่อยให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกอบโกยกำไรบนความทุกข์ทรมานของสัตว์ป่าจำนวนมากและเป็นระยะเวลานาน แต่ธุรกิจเหล่านี้กลับไม่สามารถรับผิดชอบชีวิตสัตว์ป่าได้เลยในภาวะวิกฤต ต้องกลายเป็นภาระของภาครัฐและภาษีของประชาชนในการจัดการดูแลแทน ตอนนี้รัฐบาลหลายๆ ประเทศจึงเริ่มพิจารณาเพิ่มมาตรฐานการควบคุมและจัดการสัตว์ป่าภายในกิจการสวนสัตว์เอกชนกันแล้ว ล่าสุดคือฝรั่งเศสที่ออกกฎหมายแบนการใช้สัตว์ป่าในการแสดงไปเมื่อต้นปี”

นายฉัตรณรงค์ เมืองวงษ์ ผู้จัดการแคมเปญสัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย
สวัสดิภาพของสัตว์ป่าเป็นหัวใจสำคัญของข้อเรียกร้องนี้ ดังนั้น องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกจึงยึดมั่นในจุดยืนที่จะไม่สนับสนุนการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าเพื่อป้อนเข้าสู่ธุรกิจการท่องเที่ยว และไม่สนับสนุนทุกกิจกรรมที่เป็นการค้าสัตว์ป่าทั้งที่ถูกและผิดกฎหมาย ทางองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเน้นย้ำด้วยว่าการกอบโกยผลประโยชน์จากชีวิตสัตว์ป่าไม่ได้แค่ทำให้ชีวิตสัตว์ป่าต้องทุกข์ทรมานเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อคนด้วย เพราะเป็นที่มาของโรคระบาดจากสัตว์สู่คนหลายชนิด อย่างเช่นโรคโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดทั่วโลกอยู่ในขณะนี้

“สัตว์ป่าไม่ได้เกิดมาเพื่อให้ความบันเทิงแก่มนุษย์ หรือไม่ใช่สินค้า พวกมันสมควรได้แสดงออกพฤติกรรมตามธรรมชาติและใช้ชีวิตอย่างอิสระอยู่ในป่า ถึงเวลาแล้วที่พวกเราต้องร่วมมือกันยุติการแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจจากสัตว์ป่า เพื่อปกป้องชีวิตสัตว์ สุขภาพมนุษย์ และระบบเศรษฐกิจโลก” นายฉัตรณรงค์กล่าวปิดท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น