xs
xsm
sm
md
lg

ทำผิด ม.112 เผาพระบรมฉายาลักษณ์ : มุมมองทางกฎหมายและคติชนวิทยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.สายป่าน ปุริวรรณชนะ และ ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์



ดร.สายป่าน ปุริวรรณชนะ นักวิชาการอิสระ
ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาปัญญาและการวิเคราะห์ธุรกิจ
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง

คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
เมื่อไม่นานมานี้ นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า ได้ออกมาแสดงความเห็นเรื่อง จากสเปนถึงไทย: เผารูป แต่งเพลง วาดการ์ตูนล้อกษัตริย์ การทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ผิดกฎหมายหรือไม่? กรณีลักษณะนี้ในประเทศอื่นๆ เป็นอย่างไร ? ทั้งใน Facebook ดังปรากฎใน https://www.facebook.com/PiyabutrOfficial/photos/a.2260389780911559/2954366391513891/?type=3 และในคลับเฮาส์ https://www.joinclubhouse.com/event/PDjBZ6Wb

ทั้งนี้นายปิยบุตร ได้อ้างว่าว่าการเผารูปกษัตริย์เป็นเสรีภาพ สอดคล้องกับบทความในประชาไทที่นำเสนอ ย้อนดูศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปเคยชี้เผารูปกษัตริย์เป็นเสรีภาพในการแสดงออก https://prachatai.com/journal/2021/03/91934 และหลวงปู่พุทธะอิสระ ไล่ ปิยบุตร ไปอยู่สเปน https://www.brighttv.co.th/news/politics/picture-burn-isara

ที่ย้อนแย้งหนักคือมีการออกมาชักชวนให้เผาพระบรมฉายาลักษณ์และอ้างว่าเป็นเสรีภาพใน “การเผาพระบรมฉายาลักษณ์” ถือว่าเป็นเพียงเสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of expression) หาใช่การอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันผิดประมวลกฎหมายมาตรา ๑๑๒ นั้น ก็หาไม่

ข้ออ้างนี้แม้ในทางกฎหมายก็อ่อนด้อยและไม่ถูกต้องเพราะตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พศ. 2560

มาตรา ๒๕ บัญญัติไว้ว่า สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทำการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น

มาตรา ๓๔ บัญญัติไว้ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน

ดังนั้นสิทธิ์และเสรีภาพต้อง หนึ่ง ไม่ไปละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น สอง ไม่ผิดกฎหมาย สาม ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และ สี่ ต้องไม่เป็นภัยความมั่นคงของรัฐ แต่การเผาพระบรมฉายาลักษณ์ในที่สาธารณะและถ่ายทอดสดผ่าน Facebook live ของนายแอมมี่ เดอะ บ็อททอม บลูส์ นั้น

หนึ่ง ถือว่าผิดกฎหมายป. อาญามาตรา 112. มูลฐานความผิดคือการอาฆาตมาดร้ายองค์พระมหากษัตริย์ และเป็นการกระทำที่ผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ที่บัญญัติไว้ว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้

สอง เป็นการละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่เคารพสักการะศรัทธาในสถาบันพระมหากษัตริย์ และแม้แต่เป็นการล่วงละเมิด จ้วงจาบสถาบันเองดีด้วย

สาม การเผาพระบรมฉายาลักษณ์แล้วถ่ายทอดสดย่อมเป็นภัยความมั่นคงแห่งรัฐ เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์คือองค์รัฎฐาธิปัตย์ ย่อมเป็นความมั่นคงแห่งรัฐ การล่วงละเมิด ขู่อาฆาตมาดร้ายองค์พระมหากษัตริย์ด้วยการเผารูปย่อมเป็นภัยความมั่นคงแห่งรัฐ

สี่ การเผาพระบรมฉายาลักษณ์ถ่ายทอดสดผ่าน Facebook live ย่อมเป็นการขัดต่อศีลธรรมประเพณีอันดีของประชาชน เพราะคนไทยเคารพสักการะพระเจ้าแผ่นดินและสถาบันไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม

นอกจากนี้ยังเป็นการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2560 มาตรา 14 วรรคสองและสาม ดังที่บัญญัติไว้ว่า

“มาตรา ๑๔ ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

(๒) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

(๓) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

นอกจากนี้ยังเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๑๘ ที่บัญญัติไว้ว่า

ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ดังต่อไปนี้

(๑) โรงเรือน เรือ หรือแพที่คนอยู่อาศัย
(๒) โรงเรือน เรือ หรือแพอันเป็นที่เก็บหรือที่ทำสินค้า
(๓) โรงมหรสพหรือสถานที่ประชุม
(๔) โรงเรือนอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นสาธารณสถาน หรือเป็นที่สำหรับประกอบพิธีกรรมตามศาสนา
(๕) สถานีรถไฟ ท่าอากาศยาน หรือที่จอดรถหรือเรือสาธารณะ
(๖) เรือกลไฟ หรือเรือยนต์ อันมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป อากาศยาน หรือรถไฟที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะ

ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี

ทั้งนี้ป้ายที่มีนั่งร้านหนุนถือเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรือน และเนื่องจากเป็นทัณฑสถาน จึงเป็นสถานที่ราชการ อันเป็นสถานที่ตามข้อ 4 ของมาตรา 218 นี้

ข้อโต้แย้งที่ว่าที่ศาลสเปนถือว่าการเผาพระบรมฉายาลักษณ์ไม่ผิดกฎหมาย เป็นเสรีภาพในการแสดงออกนั้น ไม่อาจจะนำมาใช้ได้

ทั้งนี้ตามทฤษฎีการเป็นอาชญากรรม (Criminalization theory) ย่อมเกิดจากประเพณีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป ในบางวัฒนธรรมบางเรื่องถือว่าไม่ผิด เช่น ฝรั่งเอาเท้าชี้หน้ากัน ไม่ถือว่าดูหมิ่นเหยียดหยาม แต่ถ้าทำแบบนั้นกับคนไทย ถือว่าเป็นการดูหมิ่นเกียรติเหยียดหยามกันมาก เพราะคนไทยถือกันว่าเท้าเป็นของต่ำ ต้องไม่เอามาใช้ชี้หน้าใคร ดังนั้นถ้าเผาพระบรมฉายาลักษณ์ที่สเปนถือว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่ในประเทศไทยถือว่าผิดกฎหมายได้ เพราะวัฒนธรรมประเพณีแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ไทยเรานับถือและเทอดทูนสถาบันไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม แม้กระทั่งคำกราบบังคมทูลของไทยยังเป็นขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม อันเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูงสุด

หากมองด้วยมุมมองทางคติชนวิทยาและมานุษยวิทยาย่อมนำมาซึ่งข้อโต้แย้งกับคำกล่าวอ้างที่กล่าวว่าการเผาพระบรมฉายาลักษณ์เป็นเรื่องที่ไม่ผิด

จริง ๆ การเผาสิ่งที่เกี่ยวข้องกับคนใดคนหนึ่ง ถือว่าเป็นการสาปแช่งอย่างหนึ่ง เช่น เอาเศษผมหรือเล็บมารวมกันแล้วเผา ถือว่าเป็นการสาปแช่งทำเดรัจฉานวิชาเพื่อทำร้ายคนที่เป็นเจ้าของเศษผมหรือเล็บ เป็นพิธีไสยศาสตร์และเดรัจฉานวิชาในแบบไทยๆ เพราะคนไทยมีคติชนเช่นนี้


ในหนังสือชื่อ The Rites of Passageเขียนโดยนักมานุษยวิทยาชาวเนเธอร์แลนด์ (Chicago: The University of Chicago Press, 1960), หน้า 4. ได้กล่าวถึงลักษณะการทำพิธีกรรมที่เรียกว่า sympathetic rites หรือพิธีกรรมที่สื่อถึงความรู้สึกร่วม โดยการทำพิธีกรรมที่อยู่บนความเชื่อที่ว่ามีการแลกเปลี่ยนระหว่างสิ่งที่เหมือนกันต่อสิ่งที่เหมือนกัน หรือสิ่งที่ตรงข้ามกันกับสิ่งที่ตรงข้ามกัน ภาชนะที่ใช้บรรจุกับสิ่งที่บรรจุไว้ หรือบางส่วนและทั้งหมด ของรูปหรือวัตถุหรือสิ่งที่เป็นของจริงทั้งที่เป็นวาจาหรือการกระทำ “those based on belief in reciprocal action of like on like, of opposite on opposite, of container and the contained, of the part and the whole, of image and real object or real being, or word and dead”

การทำพิธีกรรมในลักษณะที่ว่านี้ดำรงอยู่รวมถึงปรับเปลี่ยนให้เข้ากับปริบทสังคมไทยมาเป็นเวลาช้านาน ไม่ว่าจะเป็น “พิธีกรรมทางบวก” อาทิ

การสร้างพระพุทธรูปฉลองพระองค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ การสร้างอนุสาวรีย์

การกราบไหว้บูชาป้ายชื่อวิญญาณ (ซินจู้) และรูปถ่ายบรรพบุรุษ แม้ในพระบรมราชจักรีวงศ์ก็มีพระราชพิธีสังเวยพระป้ายในวันตรุษจีนทั้งที่พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต และที่พระที่นั่งเวหาสน์จำรูญ พระราชวังบางปะอินที่อยุธยา

การห้อยเสื้อผ้าของผู้ตายบนโคมถ่งพวงในพิธีกงเต๊กของพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีนข้ามสะพานโอฆสงสาร หรือ “พิธีกรรมทางลบ” เช่น การฝังรูปฝังรอย การใช้ชิ้นส่วนของเล็บมือ เส้นผม เสื้อผ้า เพื่อการสาปแช่งหรือทำเสน่ห์ยาแฝด

ขอเล่าเรื่องสร้อยฟ้าทำเสน่ห์ยาแฝดใส่พระไวย โดยเถรขวาดเป็นผู้ทำ โดยการปั้นรูปรอย แล้วจับดิ้นมาปั้นรูปมาทำพิธี ปั้นรูปสองคน มัดตราสัง ปักหนามใส่ พันใบเต่ารั้ง เอาไปฝังในป่าช้า เพื่อให้พระไวยไม่รักนางศรีมาลา

ในขณะที่รูปปั้นดินชื่อสร้อยฟ้ากับพระไวย แล้วมัดใบรัก ใส่เลขยันต์ ทาน้ำมันจันทน์ ทาว่านยาน้ำมันพราย แล้วให้เอาไปซุกไว้ใต้ที่นอน ให้พระไวยหลงรักนางสร้อยฟ้า

๏ ครานั้นเถรขวาดราชครู   พิเคราะห์ดูปรีดิ์เปรมเกษมสานต์
หยิบขี้ผึ้งปากผีมามินาน   เอาเถ้าพรายมาประสานประสมพลัน
ลงอักษรเสกซ้อมแล้วย้อมถม   เป่าด้วยอาคมแล้วจึงปั้น
เป็นสองรูปวางเรียงไว้เคียงกัน   ชักยันต์ลงชื่อศรีมาลา
อิกรูปหนึ่งลงชื่อคือพระไวย   เอาหลังติดกันไว้ให้ห่างหน้า
ปักหนามแทงตัวทั่วกายา   แล้วผูกตราสังมั่นขนันไว้
ซ้ำลงยันต์พันด้วยใบเต่ารั้ง   ให้เณรจิ๋วไปฝังป่าช้าใหญ่
แล้วปั้นรูปสร้อยฟ้ากับพระไวย   เอาใบรักซ้อนใส่กับเลขยันต์
เถรนั่งบริกรรมแล้วซ้ำเป่า   พอต้องสองรูปเข้าก็พลิกผัน
หันหน้าคว้ากอดกันพัลวัน   เอาสายสิญจน์เข้ากระสันไว้ตรึงตรา
รูปนี้จงฝังไว้ใต้ที่นอน   ไม่ข้ามวันก็จะร่อนลงมาหา
แล้วเสกแป้งน้ำมันจันทน์ทา   ประสมด้วยว่านยาน้ำมันพราย
ครั้นเสร็จส่งให้เจ้าสร้อยฟ้า   ไปเถิดสีกาตะวันสาย
พรุ่งนี้ถ้ากะไรได้แยบคาย   ให้นางไหมขยายมาส่งเพล


ส่วน “การเผา” สิ่งที่สัมพันธ์กับบุคคลผู้เป็นที่เกลียดชังนั้นย่อมสัมพันธ์กับพฤติกรรมการแช่งอย่างแน่นอน ดังเช่นการเผาพริกเผาเกลือ การเผาหุ่นแทนตัวบุคคลเพื่อการสาปแช่งที่กระทำกันมาแต่โบราณ และแน่นอนว่าในยุคปัจจุบัน “ภาพถ่าย” ย่อมกลายมาเป็น “วัตถุแทนตัวบุคคล” ในพิธีกรรมอย่างชัดเจน ดังตัวอย่างจากเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มราษฎรเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมได้ “เผารูปถ่าย” ผู้ที่ตนเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร ณ บริเวณห้าแยกลาดพร้าว
(โปรดดูได้จาก https://www.thebangkokinsight.com/488853 เข้าถึงข้อมูลเมื่อ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๔)

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เมื่อพิจารณาจากปริบทสังคมไทยแล้วพฤติกรรมการเผาพระบรมฉายาลักษณ์จึงมิใช่แค่ “การแสดงออกซึ่งเสรีภาพ” ทว่าเป็นวิธีการหนึ่งในการแสดงความเกลียดชังและการสาปแช่งอย่างชัดเจน และย่อมเป็นการอาฆาตมาดร้ายองค์พระมหากษัตริย์อันเป็นความผิดตามมาตรา 112 อย่างชัดเจน


กำลังโหลดความคิดเห็น