เพจเฟซบุ๊ก สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า Wildlife Conservation Bureau, Thailand หยิบยกเอาสัตว์ป่าหายากอย่าง “ควายป่า” ที่พบถิ่นที่อยู่อาศัยเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี และมีจำนวนประชากรค่อนข้างคงที่ ประมาณ 50-70 ตัวเท่านั้น
ในบันทึกฉบับเก่าของคุณผ่อง เล่งอี้ อดีตอธิบดีกรมป่าไม้ ได้เล่าถึงประสบการณ์ในวันพบกับควายป่าบริเวณที่ราบลุ่มริมฝั่งน้ำกลางป่า จ.อุทัยธานี เอาไว้ว่า...
“ตื่นเต้นมากที่เห็นฝูงควายป่าเป็นครั้งแรกในชีวิต ตัวของมันใหญ่มาก เวลามันวิ่งแผ่นดินสะเทือน…”
นั่นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วง พ.ศ. 2513 ก่อนที่อีกสองปีต่อมา คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ จะพิจารณาให้ห้วยขาแข้งมีสถานะเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
และในอีก 20 ปี ต่อมา ป่าใหญ่พื้นที่กว่า 1,800,000 ไร่ ก็ถูกยกระดับสถานะการอนุรักษ์อีกขั้น เป็น “มรดกโลกทางธรรมชาติ” ร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อันเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแห่งนี้
ความอุดมสมบูรณ์ ในที่นี้ไม่ได้หมายความเพราะควายป่าเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสัตว์ป่าน้อยใหญ่ ที่พบเห็นได้ยากยิ่งชนิดอื่น ๆ ทั้งกระทิง วัวแดง นกยูง ช้างป่า นกเงือกกรามช้าง
ในทางข้อมูลวิชาการ และการสำรวจ ยังระบุด้วยว่า ที่นี่มีสายพันธุ์นกมากลำดับต้นๆ ของภาคพื้นเอเชีย รวมไปถึงเสือโคร่ง ที่วันนี้มีรายงานจากนักวิจัยยืนยันชัดว่า “มีประชากรเพิ่มขึ้น” จนได้ชื่อเป็นพื้นที่แห่งความหวังของการฟื้นฟูประชากรสัตว์ผู้ล่าที่อยู่บนจุดสูงสุดห่วงโซ่อาหารของป่าไทย ซึ่งมีผลเชิงประจักษ์จากภาพถ่าย และข้อมูลการกระจายตัว การขยายถิ่นฐานอาณาเขตหากินไปยังผืนป่าข้างเคียง อย่างอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และอุทยานแห่งชาติคลองลาน
อะไรคือสาเหตุ ที่ทำให้สัตว์ป่า อยากอยู่ในห้วยขาแข้ง ?
หากตัดเอาเรื่องการจัดการ งานคุ้มครองที่เกิดขึ้นภายหลังออกไปเสีย ความอุดมสมบูรณ์ของห้วยขาแข้งนั้นย่อมเกิดจากต้นทุนอันอุดมสมบูรณ์ของความหลากหลายทางระบบนิเวศตั้งแต่พื้นที่ยอดเขาจนถึงที่ราบลุ่มริมน้ำ อันเป็นคุณสมบัติพิเศษ ยากจะหาแห่งใดเสมอเหมือน
โดยเฉพาะป่าบริเวณที่ราบลุ่ม ซึ่งอยู่ใจกลางห้วยขาแข้งอย่างพอเหมาะพอเจาะ ถือเป็นห้องครัวขนาดใหญ่ของสรรพชีวิต (ยกเว้นมนุษย์) มีโป่งเป็นจำนวนมากให้สัตว์กีบลงมาหากิน และชักชวนสัตว์ผู้ล่าลงมาเยี่ยมเยือน
ยิ่งในฤดูแล้งด้วยแล้ว บริเวณแถบนี้ เปรียบได้กับโอเอซิส เลยทีเดียว
และแน่นอนว่า ณ ที่แห่งนี้ยังเป็นแหล่งหากินของควายป่า สัตว์ประจำถิ่นที่ราบลุ่มภาคกลางของไทยนับแต่อดีต ที่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงฝูงเดียว ในป่าห้วยขาแข้ง ได้เข้ามาใช้ประโยชน์ และคงรักษาเผ่าพันธุ์ของพวกมันเองไว้ได้มาจนถึงปัจจุบัน ดังที่อ้างถึงไว้ในตอนต้นเรื่อง
ซึ่งหากจะกล่าวถึงควายป่าต่อ ปัจจุบันพบว่า มีอยู่ราว 50-70 ตัว เป็นจำนวนประชากรคงที่เช่นนี้เสมอมา
เหตุที่ประชากรไม่เพิ่มมากขึ้น แม้การดูแลรักษาห้วยขาแข้งในปัจจุบันจะได้รับการพัฒนาให้เข็มแข็งและมีความทันสมัยเทียบเท่าระดับสากล แต่ด้วยข้อจำกัดทางภูมิประเทศ กอปรกับมีภัยคุกคามทางธรรมชาติ เช่น ความแห้งแล้งในบางปี ไฟป่า หรือการลักลอบเลี้ยงสัตว์เชิงปศุสัตว์ในพื้นที่ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งรบกวนควายป่า จนไม่สามารถเพิ่มจำนวนขึ้นได้
หรือกล่าวง่ายๆ จำนวนของควายป่าจึงถูกควบคุมไว้ด้วยถิ่นที่อยู่อาศัยนั่นเอง และคงไม่ใช่เรื่องเกินเลยมากไปนัก ถ้าจะกล่าวว่า หากไร้ซึ่งป่าห้วยขาแข้ง หนังสือแบบเรียนหรือเอกสารทางวิชาการในปัจจุบัน คงระบุสถานะของควายป่าว่า “สูญพันธุ์” ไม่ต่างจากความชีวิตที่จากไปในอดีต
“มาตรการอนุรักษ์ควายป่า”
มาตรการและแนวทางในการอนุรักษ์ควายป่า ภายใต้ยุทธศาสตร์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พ.ศ.2560-2579 ระยะ 20 ปี ประกอบด้วย
1.โครงการธนาคารพันธุกรรมสัตว์ป่า เพื่อดำรงและฟื้นฟูพันธุกรรมของควายป่าให้เป็นสายพันธุ์แท้และมีความแข็งแรงมากขึ้น โดยเซลล์พันธุ์กรรมของควายป่าจะถูกจัดเก็บรักษาอย่างเป็นระบบมาตรฐาน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน
2.โครงการสถาบันสุขภาพสัตว์ป่าแห่งชาติ เพื่อดูแลสุขภาพของสัตว์ป่าทั้งในถิ่นอาศัยและนอกถิ่นอาศัยให้ดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ
3.โครงการศูนย์ประสานงานสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) เพื่อให้มีหน่วยงานซึ่งเป็นศูนย์กลางที่รวบรวมข้อมูลสารสนเทศด้านโรคอุบัติใหม่ซ้ำ ช่วยในการจัดการทรัพยากรสัตว์ป่า
4.โครงการเครือข่ายเฝ้าระวังและสอบสวนโรคสัตว์ป่า เพื่อสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังและสอบสวนโรคสัตว์ป่า อันเป็นคุกคามร้ายแรงของความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรสัตว์ป่าอย่างยั่งยืน
ข้อมูลอ้างอิง สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า