เพจเฟซบุ๊ค ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยแพร่ภาพนกกกหรือนกกาฮังที่สำนักงานของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา จ.ระนอง ซึ่งเป็นนกเงือกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจำนวน 13 ชนิดของนกเงือกที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย
เมื่อไม่นานนี้ นกกาฮังบินมาให้ถ่ายภาพได้ที่สำนักงานของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา จ.ระนอง ซึ่งแสดงว่าผืนป่าแห่งนี้มีอาหารที่อุดมสมบูรณ์ อย่างที่หลายคนทราบดี หากพบนกเงือกอยู่ในป่าแห่งใด ป่าแห่งนั้นการันตีได้ว่ามีความอุดมสมบูรณ์ เช่นเดียวกับสัญลักษณ์ของชีวิตคู่ของนกเงือกทุกชนิดที่จะมีเพียงผัวเดียวเมียเดียวไปตลอดชีวิต
นกกก (นกกาฮัง, นกกะวะ หรือ นกอีฮาก) มีถิ่นกำเนิดในอินเดียตะวันตกเฉียงใต้ ตลอดถึงพม่า ไทย และเกาะสุมาตรา สำหรับประเทศไทยมีทั่วไปเกือบทุกภาคยกเว้นภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางส่วน และเคยมีมากที่เกาะตะรุเตา ชนิดย่อย homrai พบบริเวณภาคเหนือ ชนิดย่อย biconnis พบทางภาคใต้
นกกก เป็นนกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจำพวกนกเงือกของไทย โดยมีขนาดลำตัว 122 เซนติเมตร ตัวผู้และตัวเมียโดยทั่วไปมีลักษณะคล้ายกัน แต่ตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่า และต่างกันตรงที่ตัวผู้มีตาสีแดงทับทิม โหนกมีสีดำที่ด้านหน้าและด้านท้าย ตัวเมียตาสีซีดหรือสีขาว และไม่มีสีดำที่โหนก จากกลางโหนกของนกกกลงมามีสีเหลืองอ่อนปนสีส้ม สีนี้เกิดจากต่อมน้ำมันที่ก้น เมื่อนกตายลงสีนี้จะหายไปด้วย
อาหารประจำของนกกก คือผลไม้ต่างๆ และสัตว์เล็ก ๆ เช่น กิ้งก่า แย้ หนู งู โดยเอาหางจับฟาดกับกิ่งไม้ให้ตายก่อน แล้วเอาปากงับตลอดตัวให้เนื้อนิ่มกระดูกแตก แล้วโยนขึ้นไปในอากาศ อ้าปากรับให้สัตว์นั้นเข้าไปในปากแล้วกลืนลงไป
นกกกอาศัยอยู่ตามป่าดิบชื้น ป่าดงดิบแล้ง และป่าดงดิบเขา ที่มีต้นไม้สูงๆ ชอบอยู่กันเป็นฝูงเล็กๆ ฤดูผสมพันธุ์จะอยู่กันเป็นคู่ๆ ชอบกระโดด และร้องเสียงดัง ซึ่งเสียงอาจฟังได้ความว่า “กก กก หรือ กาฮัง กาฮัง” ขณะหากินร้องเสียงดังมาก เวลาบินจะกระพือปีกสลับกับร่อน เสียงกระพือปีกดังคล้ายเสียงหอบ ปกติจะเกาะตามกิ่งไม้ โดยเฉพาะต้นไม้ผลในป่า บริเวณต้นที่มีผลสุกชนิดที่ชอบ มันจะมากินทุกวันจนผลไม้หมด จึงไปหากินที่ต้นอื่น
นกกกผสมพันธุ์ในหน้าหนาวจนถึงหน้าร้อน วางไข่ตามโพรงไม้สูง วางไข่ครั้งละ 1-2 ฟอง ก่อนวางไข่ตัวเมียจะเข้าไปในโพรงแล้วทำการตบแต่งโพรงก่อน ตัวผู้คาบดินผสมกับมูลของตัวเมียโบกปิดปากโพรง หรืออาจใช้อาหารที่กินเข้าไปแล้วสำรอกออกมาเพื่อปิดปากโพรง เหลือช่องไว้ตรงกลางพอให้ตัวเมียยื่นปากออกมาได้ ขณะที่ตัวเมียกกไข่และเลี้ยงลูกอยู่นี้ ตัวผู้จะหาอาหารมาเลี้ยงลูกและเมียของมัน
ตอนนี้ในการเข้าศึกษาธรรมชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เป็นรูปแบบใหม่ (New Normal) ทุกคนจะต้องเช็คอิน-เช็คเอาท์ ผ่านแอปพลิเคชันไทยชนะ และมีการจำกัดจำนวนประชาชนที่เข้ามาศึกษาธรรมชาติ (Carrying Capacity ; CC) จึงขอความร่วมมือให้ทุกคนปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ และข้อควรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งลดการใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง นำขยะออกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทุกครั้งเพื่อความปลอดภัยอย่างยั่งยืน