ภาพของฝูงปูก้ามดาบหลากหลายสีสัน โผล่ออกมาจากรู หลังน้ำทะเลลด บริเวณอ่าวน้ำ ตำบลแหลมสัก อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ซึ่งมีสาเหตุจากล็อกดาวน์ทำให้ชายหาดไม่ถูกรบกวน
เมื่อเร็วๆ นี้ นิวัฒน์ วัฒนยมนายม กรรมการที่ปรึกษาหน่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดกระบี่ ได้ลงสำรวจบริเวณชายหาดอ่าวน้ำ เพื่อเก็บภาพนำเสนอด้านการท่องเที่ยวของท้องถิ่นให้ผู้คนได้ชื่นชม กล่าวว่า
“ปัจจุบันปูก้ามดาบ หรือปูทหารที่ชาวบ้านเรียกกันนั้น พบเห็นได้ไม่กี่ชายหาดแล้ว สาเหตุมาจากการท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมา ได้ไปรบกวนฝูงปูจนไม่มีที่อยู่ จนเหลือเพียงแค่ชายหาดในท้องถิ่นที่ยังไม่ถูกรบกวน”
ถือว่าเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ ที่ยังมีปูก้ามดาบออกมาหากิน ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยพบพวกมัน เพราะคนเข้าไปรบกวนฝูงปูจนไม่มีที่อยู่ ซึ่งทำให้เห็นว่าการอนุรักษ์สามารถทำได้ไปพร้อมกับการท่องเที่ยวได้ คาดว่าหลังคลายล็อกโควิดจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น จำเป็นจะต้องมีการบริหารจัดการให้ดีเพื่อให้คนได้เห็นภาพของธรรมชาติที่งดงามแบบนี้
ปูก้ามดาบคือตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน
หากที่ใดมีความสมดุลทั้งดิน น้ำ และพรรณไม้ ก็จะมีปูก้ามดาบอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
ถ้าจะเปรียบ "นกเงือก" คือดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ทางชีวภาพของผืนป่า “ปูก้ามดาบ” ก็คือตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน เพราะหากที่ใดมีความสมดุลทั้งดิน น้ำ และพรรณไม้ก็จะมีปูก้ามดาบอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
ปูก้ามดาบ หรือ ปูเปี้ยว (Fiddler crabs, Ghost crabs) เป็นปูทะเลขนาดเล็ก มีลักษณะกระดองเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ก้านตายาว กระดองมีสีสันสวยงาม เช่นสีแดง สีฟ้า สีเหลือง สีเทาอมดำ โดยเฉาะตัวผู้จะมีก้ามข้างหนึ่งใหญ่มาก บางชนิดมีขนาดใหญ่และยาวพอๆ กับกระดองเลยทีเดียว ลักษณะเด่นดังกล่าวเลยกลายที่มาของชื่อเรียก ปูก้ามดาบ ซึ่งก้ามของปูตัวผู้เหล่านี้ จะใช้เป็นอาวุธโบกไปมาเพื่อข่มขู่ศัตรูหรือผู้บุกรุกที่เข้ามาในเขตอาณาเขตของมัน และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเอาไว้เรียกร้องความสนใจจากตัวเมียในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ขณะที่ปูตัวเมียก้ามทั้ง 2 ข้างจะมีขนาดเล็กเท่ากัน
ปูก้ามดาบ แม้ไม่ถูกจัดให้เป็นเมนูอาหารทะเลเช่นปูชนิดอื่น แต่ก็เสี่ยงที่จะถูกคุกคามเนื่องจากมีคนนิยมจับไปเลี้ยงกันมากเพราะความสวยงามแปลกตา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ จึงต้องเข้ามาบูรณาการร่วมกันเพื่อสร้างจิตสำนึกและอนุรักษ์ปูก้ามดาบเหล่านี้ให้คงอยู่ โดยเฉพาะการรักษาสภาพป่าโกงกางให้ให้มีความเป็นธรรมชาติมากที่สุด เพราะปูก้ามดาบ คือหนึ่งในดัชนีชีวัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าชายเลนที่สำคัญ
ข้อมูลอ้างอิง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)