เสือโคร่ง จ้าวป่า ยามออกล่าเหยื่อ ใช้ประสาทสัมผัสทางตาและฟังเสียง มากกว่าการดมกลิ่น และมักจะออกล่าเพียงตัวเดียวแบบฉายเดี่ยว เมื่อพบเหยื่อเป้าหมาย มันจะค่อยๆ เข้าไปใกล้เหยื่อให้มากที่สุด และจู่โจมเข้าทางด้านข้างหรือด้านหลัง ซึ่งเป็นการสังหารเหยื่อเป้าหมายที่เฉียบขาด กระโจนตระปบและเข้ากัดลำคอหรือบริเวณด้านหลังส่วนหัวของเหยื่อจนจบชีวิตภายในไม่ถึงนาที
เหยื่อที่เสือโคร่งชอบออกล่า มักเป็นสัตว์ขนาดกลางถึงใหญ่ เช่น หมูป่า กวาง เก้ง หรือแม้แต่กระทิง ควายป่า แต่อาหารที่เสือโคร่งค่อนข้างโปรดปราน คือ กวางและหมูป่า ส่วนสัตว์ขนาดเล็กอย่าง นก บางคราวก็ตกเป็นเหยื่อ ซึ่งเสือโคร่งในบางพื้นที่ก็ยังกินจระเข้ ปลา นก สัตว์เลื้อยคลาน หรือแม้แต่นักล่าด้วยกันเองอย่างเสือดาวและหมี และพอกินเหยื่อจนอิ่มแล้ว ถ้าไม่หมด เสือจะนำหญ้า หรือเศษใบไม้มาคลุมไว้เพื่อจะกลับมากินต่อใน 2-3 วัน
เสือโคร่ง 1 ตัว สามารถกินเนื้อได้ถึง 40 กิโลกรัมในหนึ่งครั้ง โดยเสือต้องกินเก้งถึง 3 ตัวต่อสัปดาห์จึงจะพอเพียงต่อความต้องการของร่างกาย หรือกินกวาง 1 ตัวอาจอยู่ได้ทั้งสัปดาห์ แต่ถ้าเป็นกระทิง อาจอยู่ได้โดยไม่ต้องล่าเหยื่ออีกนานถึง 2 สัปดาห์
ในการล่าเหยื่อแต่ละครั้ง ใช่ว่าจ้าวป่าไม่เคยพลาดเป้าแต่บ่อยครั้งต่างหากที่พลาด เพราะโอกาสประสบความสำเร็จมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ดังนั้นขณะออกล่าจึงสูญเสียพลังงานมาก การเลือกเหยื่อขนาดเล็ก เช่น เก้ง จึงอาจไม่ได้รับพลังงานที่เพียงพอ หรือมีสภาพร่างกายสมบูรณ์พอที่จะผสมพันธุ์ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เล็งเป้าไปยังสัตว์ขนาดใหญ่ ยิ่งไปกว่านั้น เสือโคร่งยังมีคู่แข่งที่คอยแย่งอาหาร ได้แก่ หมาใน และเสือดาว เสือดำ ซึ่งต่างก็กินเหยื่อชนิดเดียวกับที่เสือโคร่งกิน ยกเว้นเหยื่อขนาดใหญ่อย่าง กระทิง ควายป่าที่มีขนาดใหญ่เกินกว่าที่สัตว์ชนิดอื่นจะกินได้
สังคมของสัตว์ผู้ล่าในผืนป่าที่ประกอบด้วย เสือโคร่ง เสือดาว เสือดำ และหมาใน หากจะอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ก็จำเป็นจะต้องมีสัตว์ที่ตกเป็นเหยื่อหลากหลายชนิด และมีจำนวนมากเพียงพอต่อสัตว์ผู้ล่าทั้งหมด
‘เสือโคร่งอินโดจีน’ ในอดีตเคยกระจายตัวอยู่ทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบได้ในผืนป่าประเทศกัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และไทย แต่เนื่องจากการพัฒนาหลายๆ ด้านทางสังคม เศรษฐกิจมานานนับทศวรรษ เช่น การสร้างถนนไปสู่ถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่ง ทำให้จำนวนประชากรของพวกมันลดลงอย่างเห็นได้ชัด
มาวันนี้ที่ประเทศเวียดนามและกัมพูชาไม่อาจพบเห็นเสือโคร่งได้อีก เพราะพวกมันได้สูญพันธุ์ไปจากป่าธรรมชาติของทั้งสองประเทศแล้ว ส่วนประเทศลาวและพม่าพอมีประชากรหลงเหลืออยู่บ้าง สามารถอ้างอิงจากรายงานของ International Tiger Forum 2010 ซึ่งระบุว่า ลาวมีจำนวนประชากรเสือโคร่งเหลืออยู่ 23 ตัว ส่วนประเทศพม่ามีจำนวนสูงสุดอยู่ที่ 85 ตัว แต่นั่นก็คือข้อมูลเก่าเมื่อ 9 ปีมาแล้ว
ในประเทศไทย ข้อมูลจากสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ระบุว่า มีประชากรเสือโคร่งอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ประมาณ 130-160 ตัว เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่มีราว 60-80 ตัว (จาก 41 ตัว ในปี 2553 เป็น 77 ตัว ในปี 2562 จะเห็นว่าจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 50%) ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในผืนป่าตะวันตกและผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ โดยเฉพาะในพื้นที่มรดกโลกห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งเป็นใจกลางของผืนป่าตะวันตกที่มีการสำรวจด้วยกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติอย่างเป็นระบบ ภายใต้ความร่วมมือของกรมอุทยานแห่งชาติฯ และ WWF ประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังพบว่าเสือโคร่งมีการขยายพันธุ์ทุกปี และออกไปอาศัยอยู่ในพื้นที่โดยรอบผืนป่าตะวันตก เช่น พื้นที่อุทยานฯ ไทรโยค อุทยานฯเขื่อนศรีนครินทร์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี อุทยานฯ แม่วงก์ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาพบเสือโคร่งใหม่ไม่ต่ำกว่า 10 ตัว และอุทยานฯ คลองลาน ที่พบเดินผ่านกล้องดักถ่ายเมื่อเร็วๆ นี้
ชมลิงก์ จำนวนเสือโคร่งในไทยเพิ่มขึ้น
ข้อมูลอ้างอิง สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า , WWF ประเทศไทย ,มูลนิธิสืบนาคะเสถียร