xs
xsm
sm
md
lg

จ้าวป่ามาแล้ว!! เสือโคร่ง โผล่ให้เห็น ย้ำถึงผืนป่าคลองลานเป็นถิ่นอาศัยถาวร

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


จ้าวป่ามาแล้วนะ
เมื่อวานนี้ (20 ก.ค.2563) ภาพที่รอคอย จ้าวป่า “เสือโคร่ง” (Panthera tigris) ในที่สุดก็โผล่เดินอย่างองอาจผ่านกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ (Camera trap survey) เทคนิคในการติดตามประชากรเสือโคร่งเพื่อประเมินประชากรอย่างถูกต้องและแม่นยำ เมื่อเวลา 11.13 น. ย้ำถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าคลองลาน ว่าคือถิ่นอาศัยและกระจายพันธุ์ของ ‘นักล่าชั้นบนสุดของระบบห่วงโซ่อาหาร’

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 ก.ค.2563 เพจเฟซบุ๊กอุทยานแห่งชาติคลองลาน ได้โพสต์ เสือดาว และเสือดำ ออกมาปรากฎตัวพร้อมกันในผืนป่าคลองลาน ก็ว่าสร้างความตื่นเต้นให้กับทีมเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าและเจ้าหน้าที่ WWF ประเทศไทยมาก แต่ครั้งนี้มากยิ่งกว่า เพราะออกมาปรากฎก่อนถึง “วันเสือโคร่งโลก” ในวันที่ 29 ก.ค.ที่จะถึงนี้

จ้าวป่ามาแล้ว.....หลังจากพบเสือดาว และเสือดำในอุทยานแห่งชาติคลองลาน
เป็นที่น่าตื่นเต้นดีใจของทีมเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า และเจ้าหน้าที่ WWF ประเทศไทย
ในการเข้าไปเก็บข้อมูลชุดที่สอง กับการได้มาซึ่งภาพของ เสือโคร่ง จ้าวแห่งพงไพร
จากการทำงานร่วมกันมาเกือบ 10 ปี ระหว่างอุทยานแห่งชาติคลองลานและ
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF Thailand)
โดยได้รับการอนุมัติจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
เพื่อศึกษาการกระจายพันธุ์ของเสือโคร่งและสัตว์ป่าในพื้นที่ ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา
ครั้งนี้เป็นรอบที่ 5 ในการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ
เสือโคร่ง เป็นสัตว์ผู้ล่าที่อยู่ในอันดับสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร การได้พบเห็นเสือโคร่ง
ในพื้นที่ นั่นหมายความว่าสัตว์ป่าและผืนป่ายังมีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก
ซึ่งแน่นอนที่สุด ต้องได้รับการปกป้องดูแลอย่างดีที่สุดเช่นเดียวกัน


ลิงก์จ้าวป่าโผล่แล้ว ในผืนป่าคลองลานเสือโคร่งนักล่าชั้นบนสุดในระบบห่วงโซ่อาหาร

ก่อนหน้านี้ เสือดาว และเสือดำ ออกมาปรากฎตัวพร้อมกันในผืนป่าคลองลาน
อนุรักษ์เสือ ช่วยปกป้องผืนป่าให้คงอยู่

การปรากฎตัวของ ‘นักล่าชั้นบนสุดในระบบห่วงโซ่อาหาร’ ไม่เพียงแต่ชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า แต่การออกล่าเหยื่อของพวกมัน ช่วยให้ระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์ และทำให้ผืนป่ายังคงอยู่ต่อไปเพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ เพื่อลดผลกระทบของภาวะโลกร้อนได้

การอนุรักษ์เสือโคร่งไว้ในป่าจึงมีความสำคัญมาก ถ้าประชากรของเสือโคร่งยังคงอยู่ พวกมันจะทำการควบคุมประชากรสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ อย่างเก้ง กระทิง หมูป่า และกวาง ให้อยู่ในปริมาณพอเพียง ด้วยการออกล่าเหยื่อมาเป็นอาหารตามวิถีชีวิตของพวกเขา

แต่เมื่อมนุษย์เข้าไปล่าเสือตามความเชื่อผิดๆ หรือเห็นเป็นกีฬาที่มีความท้าทาย สนุกกับการล่าทั้งที่ไม่ได้นำมาเป็นอาหารที่จำเป็น อย่างเช่นในกรณี คดีเสือดำ นั่นเท่ากับว่าเป็นผู้ทำร้าย และทำลายความสมดุลของธรรมชาติ เพราะยิ่งเสือถูกดึงออกจากระบบนิเวศมากเท่าใด จำนวนสัตว์กินพืชก็จะเพิ่มขึ้น เมื่อป่าถูกทำลายเพิ่ม ความชื้นลดลง ทำให้ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ฤดูแล้งยาวนานขึ้น ปริมาณน้ำจืดลดลง และอาจก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติตามมาง่ายขึ้น สุดท้าย ผลกระทบจากการล้มสลายของระบบนิเวศก็จะย้อนกลับมาทำลายมนุษย์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

จากรายงาน Beyond the Stripes: Save Tigers, Save So Much More จัดทำขึ้นโดย WWF ในปี 2560 พบว่า การรักษาประชาเสือโคร่งให้อยู่คู่กับผืนป่านั้น จะช่วยรักษาแหล่งน้ำจืดได้อย่างน้อย 9 แห่ง เป็นจำนวนที่สามารถหล่อเลี้ยงประชากรในทวีปเอเชียได้มากกว่า 830 ล้านคน และยังช่วยฟื้นฟูป่าที่มีบทบาทสำคัญในการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้มนุษย์ได้สูดอากาศที่มีมลพิษน้อยลง

แต่ที่น่าเศร้าก็คือ ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ประชากรเสือโคร่งทั่วโลกลดลงไป 95% เกือบครึ่งนึงของพื้นที่ป่าที่มีเสือโคร่งและสัตว์ป่าอีกหลากหลายสายพันธุ์อาศัยอยู่ ก็ตกอยู่ในความเสี่ยงจากการถูกบุกรุกเพื่อแปลงสภาพเป็นพื้นที่ทางการเกษตร หรือการขยายถิ่นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ยกตัวอย่างพื้นที่ป่าบนเกาะสุมาตราของอินโดนีเซียที่หายไปมากกว่า 50% และกลายเป็นพื้นที่ทำการเกษตรในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ทั้ง ๆ ที่ ที่นี้เป็นบ้านหลังใหญ่ของเสือโคร่ง ลิงอุรังอุตัง และแรด ซึ่งล้วนเป็นสัตว์ที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ทั้งสิ้น

หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า การทำงานฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง การทำงานวิจัยในพื้นที่ป่า รวมทั้งการทำงานต่อต้านการลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย คืองานอนุรักษ์ที่ใช้ระยะเวลายาวนานถึงจะเห็นผล จากการพบภาพจ้าวป่าเสือโคร่งสายพันธุ์อินโดจีน อาศัยอยู่และกระจายพันธุ์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นเพียงประเทศเดียวในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงที่มีประชากรเสือโคร่งอาศัยอยู่มากถึงหลักร้อยตัว ในขณะที่ประเทศลาว และกัมพูชานั้น ไม่พบหลักฐานการมีอยู่ของเสือโคร่งแล้ว จึงตอกย้ำให้คนไทยตระหนักถึงการร่วมปกป้องเพื่อให้พวกเขาคงอยู่ในผืนป่าชั่วลูกหลาน



กำลังโหลดความคิดเห็น