พาโล อัลโต เน็ตเวิร์กส์ (Palo Alto Networks) ถูกยกเป็นผู้นำตลาดความปลอดภัยเครือข่ายไซเบอร์แซงคู่แข่งอย่างซิสโก้ (Cisco) ได้สำเร็จในไตรมาส 1 ปี 63 ผู้บริหารเผยรายได้จากไทยทุบสถิติสูงที่สุดในอาเซียน ยอมรับปัจจัยผลักดันคือโครงการผ่อนผัน “จ่ายหลังโควิดเบาบาง” ยืนยันคำเดิมว่าไม่เห็นองค์กรไทยชะลอการลงทุนเรื่องซิเคียวริตี มั่นใจตลาดซิเคียวริตีคลาวด์แรงต่อเนื่องเช่นเดียวกับไฟร์วอลล์ที่จะฮอตต่อถึงปีหน้า
ดร.ธัชพล โปษยานนท์ ผู้อำนวยการ บริษัท พาโล อัลโต เน็ตเวิร์ค ประเทศไทย และอินโดจีน กล่าวถึงผลประกอบการของบริษัทช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย.63 ว่ามีรายได้เติบโต 20% รวมจำนวนลูกค้ามากกว่า 73,000 รายใน 150 ประเทศ โดยบริษัทใหญ่ในอันดับฟอร์จูน 100 เป็นลูกค้าบริษัทเกือบทั้งหมด โดยไทยเป็นตลาดที่ทำรายได้สถิติใหม่มากกว่าทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“รายได้ไตรมาสปัจจุบันคาดหวังว่าจะดีกว่าไตรมาสที่ผ่านมาแน่นอน การเติบโตจะยังเป็นเลข 2 หลัก” ดร.ธัชพล กล่าว “โครงการที่เราเปิดให้ลูกค้าใช้บริการก่อนแล้วจึงจ่ายเงินช่วงหลังวิกฤตชะลอตัวหรือสิ้นปีนี้เรียกว่าฮิตมาก เพราะทุกคนติดขัดเรื่องกระแสเงินสด โครงการนี้ติดตลาด เพราะลูกค้าต้องปกป้องตัวเองไม่ให้ถูกโจมตีทางไซเบอร์ เป็นโครงการที่ทำให้พาโล อัลโตฯ ทำตลาดได้ดี โดยเฉพาะไทยที่ทำรายได้ดีที่สุดในอาเซียน”
จากการติดตามรายได้ของบริษัทไซเบอร์ซิเคียวริตีของบริษัทวิจัยชื่ออะแนไลซิสเมสัน (Analysys Mason) ระบุว่า พาโล อัลโต เน็ตเวิร์ค มีรายรับในไตรมาสแรกปี 2563 ราว 869 ล้านเหรียญสหรัฐ ผลจากแรงหนุนการซื้อกิจการ 11 ดีลใหญ่ที่คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,500 ล้านเหรียญในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้รายรับของบริษัทพุ่งพรวด ทั้งที่ในไตรมาสที่ 1 ปี 58 บริษัทมีรายได้ราว 234.2 ล้านเหรียญเท่านั้น
สิ่งที่น่าสนใจคือ สถิติรายได้พาโล อัลโตฯนั้นสูงกว่ารายรับในธุรกิจรักษาความปลอดภัยเครือข่ายของซิสโก้ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 63 ที่ทำรายได้ 776 ล้านเหรียญ ตามข้อมูลของ Analysys Mason พบว่าฟอร์ติเน็ต (Fortinet) ครองตำแหน่งอันดับ 3 ด้วยรายรับธุรกิจไซเบอร์ซิเคียวริตี 577 ล้านเหรียญในไตรมาสเดียวกัน
ตัวเลขผลประกอบการเหล่านี้ทำให้ผู้บริหารพาโล อัลโตฯ ยืนยันว่าแม้วิกฤตโควิด-19 จะทำให้บริษัทระวังการลงทุน แต่พบว่าแทบทุกบริษัทให้ความสนใจลงทุนเรื่องซิเคียวริตีเป็นอันดับแรก ทำให้ไม่เห็นการตัดงบ โดยพบว่าช่วงหลังการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 ลูกค้าองค์กรมีการรีเฟรช หรือการอัปเดตระบบรักษาความปลอดภัยให้ทันสมัย และมีการลงทุนไฟร์วอลล์เจเนอเรชันใหม่สูงมาก เนื่องอาจกังวลว่าไฟร์วอลล์ยุคเก่าอาจรองรับไม่ได้
ล่าสุด พาโล อัลโตฯ ได้สำรวจความคิดเห็นขององค์กรไทยตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด-19 พบว่าสิ่งที่ยังโดดเด่นต่อเนื่องถึงช่วงหลังเกิดโควิด-19 แล้ว คือความจำเป็นในการพัฒนาการตระหนักรู้ของคน ทั้งด้านการสื่อสารและการอบรม เนื่องจากคนเป็นเหตุผลหลักที่จะทำให้การโจมตีเกิดขึ้น สำหรับสิ่งที่โดดเด่นขึ้นในช่วงหลังโควิด-19 คือการให้ความสำคัญต่อคลาวด์ซิเคียวริตี เพราะก่อนนี้บางองค์กรมองว่าไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ แต่หลังจากนี้จะเกิดมุมมองใหม่
ด้านการเลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA ออกไป 1 ปี ดร.ธัชพล ชี้ว่าไม่มีผลให้บริษัทชะลอการลงทุน เนื่องจากเป็นการประกาศในช่วงปลาย พ.ค.63 ซึ่งแทบทุกบริษัทพยายามลงทุนเพื่อปรับให้ระบบรองรับกฎหมาย ทำให้การเบรกหรือตัดงบลงทุนไม่ทันกับช่วงการระบาดของโควิด-19 ช่วงเดือน เม.ย.63
นายคงศักดิ์ ก่อตระกูล ผู้จัดการวิศวกรรม ประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน กล่าวถึงแนวโน้มการโจมตีช่วงครึ่งหลังปีนี้ ว่าจะยังเด่นเรื่องแรนซัมแวร์ ที่จะโจมตีเฉพาะอุตสาหกรรมมากขึ้น เช่น หน่วยงานสาธารณูปโภค คาดว่าอนาคตจะเห็นการโจมตี IoT มากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ยังมีเรื่องการขโมยบัญชีแอ็กเคานต์ และปลอมแปลงบุคคล
อีกแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมซิเคียวริตีไทย คือ ตลาดออนพริมิสจะลดลง และเปลี่ยนไปที่คลาวด์มากขึ้น
“วันนี้ลูกค้ามองว่าอุปกรณ์ไหนที่ไม่จำเป็นก็จะต้องการยุบรวม เพื่อจะได้ลดค่าใช้จ่าย ผมได้ยินคำถามจากลูกค้าบ่อยมาก ว่าถ้าเปลี่ยนมาใช้ระบบนี้ จะยกเลิกอะไรได้บ้าง อีกแนวโน้มคือ ลูกค้าวันนี้ต้องย้ายไปทำธุรกิจบนออนไลน์ การขึ้นทีละเซิร์ฟเวอร์บนคลาวด์นั้นรองรับไม่ทัน ก่อนนี้ ทรานเซ็กชันออนไลน์อยู่ที่หลักพันถึงหมื่นทรานเซ็กชันต่อวัน แต่หลังจากโควิด-19 ตัวเลขนี้เปลี่ยนเป็นแสนถึงล้านทรานเซ็กชันต่อวัน การสร้างเซิร์ฟเวอร์บนคลาวด์แบบเดิมจึงรองรับไม่ทัน แนวโน้มที่เกิดขึ้นจึงมีการพยายามทำบริการที่ไม่ต้องใช้เซิร์ฟเวอร์”
คงศักดิ์ ทิ้งท้ายว่า ไซเบอร์ซิเคียวริตีจะยังไม่มีจุดจบ แม้ช่วงโควิด-19 จะเป็นช่วงที่เหมือนว่าแฮกเกอร์ใจดีและพักการโจมตีไป แต่เมื่อโควิด-19 เบาบาง การโจมตีก็กลับมาเช่นเดิม