ซิสโก้อัปเดตเทรนด์ตลาด SMB ไทย พบมีคะแนนความพร้อมทางด้านดิจิทัลมากขึ้นจากขั้นที่ 1 เป็นขั้นที่ 2 ระบุหลังโควิด-19 ไทยก้าวแซงทุกประเทศ เป็นรองเพียงสิงคโปร์ เผย SMB ไทยแห่ให้ความสนใจรูปแบบการจ่ายค่าบริการระบบไอทีที่เปิดให้บริษัทมีทางเลือกเป็นสมาชิกที่ผ่อนชำระแบบ 0% ได้นาน 3 ปี โดยซิสโก้เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการที่ร่วมเทรนด์นี้ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 และยอมควักเงินจากกองทุนของบริษัทมาชำระเงินค่าระบบไอทีแทนลูกค้าก่อน
นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการซิสโก้ ประเทศไทย และภูมิภาคอินโดจีน กล่าวว่าภาพรวมปี 2019 ของธุรกิจขนาดย่อม หรือ SMB ประเทศไทยมีคะแนนเฉลี่ยความพร้อมทางด้านดิจิทัลอยู่ในขั้นที่ 1 จนเมื่อเปรียบเทียบคะแนนใหม่ที่วัดได้ในปี 2020 ทำให้ซิสโก้เห็นความก้าวหน้าเพราะ SMB ไทยขยับไปอยู่ขั้นที่ 2 หมายถึงการเริ่มนำไอทีมาใช้มากขึ้น แม้จะยังไม่ถึงขั้นเชิงรุก แต่ก็ก้าวหน้าเรื่องการเห็นประโยชน์ของเทคโนโลยีดิจิทัล การขยับมาอยู่ขั้นที่ 2 ถือว่าดี แต่ไทยก็ยังต้องแข่งกับตัวเองต่อไปเพื่อยกระดับค่าเฉลี่ย
“ไทยถือว่าพร้อมมากที่สุดในอาเซียน แซงมาเลเซีย เป็นรองแค่สิงคโปร์ เป็นนิมิตหมายที่ดีว่า SMB ในไทยเริ่มปรับใช้ดิจิทัลในกิจการมากขึ้น ทำให้เราขยับขึ้นมาเป็นลีกที่ 2” วัตสัน ระบุ “SMB ไทยมีทั้งรายที่ไปดิจิทัลแบบก้าวหน้าแล้ว และยังมีรายที่ล้าหลังอยู่ รัฐบาลอาจจะต้องดูว่าจะขับเคลื่อนส่วนนี้ไปพร้อมกันอย่างไรได้บ้าง การจะโฟกัสเฉพาะกลุ่มหน้าหรือกลุ่มหลัง แล้วเฉลี่ยมาก็จะปรับภาพรวมได้ไม่มาก ควรพัฒนาให้ไปด้วยกันจะดีกว่า เราจึงยังหวังให้ภาครัฐช่วยเสริมกลุ่มหลัง จะปรับการเร่งสู่ดิจิทัลที่ดีขึ้นได้”
เหตุที่ต้องปรับให้ SMB ไทยก้าวสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้น เป็นเพราะการปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ “ดิจิทัล” ของ SMB ไทยจะเพิ่มมูลค่า 41,000 ล้านเหรียญสหรัฐให้แก่จีดีพีของไทย ภายในปี 2567 (ราว 1.2 ล้านล้านบาท) และช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม เพราะ SMB คิดเป็นสัดส่วน 85.5% ของแรงงานทั้งหมดในไทย และสร้างมูลค่าให้จีดีพีถึง 43% ตัวเลข 41,000 ล้านเหรียญนี้มาจากผลการศึกษาความพร้อมทางด้านดิจิทัลของธุรกิจเอสเอ็มอีในเอเชีย-แปซิฟิก (Asia Pacific SMB Digital Maturity Study) ประจำปี 2563 ซึ่งซิสโก้ และบริษัทวิจัยไอดีซีดำเนินการช่วงก่อนและหลังโควิด-19 การสำรวจนี้พบว่า SMB ที่มีความพร้อมด้านดิจิทัลมากกว่าจะได้รับประโยชน์ 2 เท่าในแง่ของรายได้ และผลผลิตเมื่อเทียบกับธุรกิจที่ไม่สนใจเรื่องการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล
การศึกษาพบว่า 73% ของ SMB ไทยมีแผนปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่ดิจิทัล ขณะที่ 50% ตระหนักว่าคู่แข่งกำลังปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่ดิจิทัล และพวกเขาต้องก้าวตามให้ทัน ขณะที่อีก 23% กำลังดำเนินการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลเพราะลูกค้าต้องการ ที่น่าสนใจคือ การจัดซื้อหรืออัปเกรดซอฟต์แวร์ไอทีเป็นการลงทุนที่ SMB ไทยให้ความสำคัญมากที่สุด (20%) ตามมาด้วยการจัดซื้อและอัปเกรดฮาร์ดแวร์ไอที (15%) และการลงทุนในคลาวด์ (11%)
การสำรวจพบว่า SMB ไม่ได้มองเรื่องงบประมาณเป็นปัญหาท้าทายที่ต้องเผชิญ แต่เป็นเรื่องการขาดแคลนทักษะด้านดิจิทัลและการเข้าถึงบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ รองลงมาคือ การไม่มีโรดแมปในการปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ดิจิทัล และการขาดแคลนเทคโนโลยีที่จำเป็น
ที่สุดแล้ว SMB ไทยยังคงมีความคืบหน้าในการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่ดิจิทัลเช่นเดียวกับ SMB หลายประเทศ โดยผลการศึกษาชี้ว่า ปัจจุบัน 16% ของ SMB ในภูมิภาคนี้มีความพร้อมด้านดิจิทัลขั้นสูง (ขั้นที่ 3 และ 4) เปรียบเทียบกับ 11% ในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ SMB มากกว่าครึ่งหนึ่งเพียงเล็กน้อยได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลในระดับหนึ่ง และอยู่ในสถานะของ Digital Observer (ขั้นที่ 2) และมีเอสเอ็มอีเพียง 31% เท่านั้นที่ยังคงตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของตลาดในลักษณะเชิงรับ และแทบไม่ได้ดำเนินการใดๆ ในการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล (ขั้นที่ 1)
ภายในภูมิภาคนี้ SMB ในสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ยังคงเป็นผู้นำในกลุ่ม Digital Observer โดยการจัดอันดับไม่มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม จีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน และไทยได้แซงหน้าเกาหลี ฮ่องกง และมาเลเซียตามลำดับ นอกจากนี้ SMB ในอินโดนีเซียและเวียดนามมีความคืบหน้าในการดำเนินงานปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลอย่างเห็นได้ชัด
เพื่อรุกตลาด SMB ไทยและอาเซียนให้ดีขึ้น ซิสโก้ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์และโซลูชันในชื่อ Cisco Designed ร่วมกับการปรับรูปแบบการชำระเงินใหม่ที่เพิ่งเริ่มประกาศใช้เมื่อเมษายนที่ผ่านมา โดยบอกว่าเป็นความตั้งใจของซิสโก้ในการลดภาระของผู้ประกอบการ ให้ไม่ต้องจ่ายเงินก้อนในทีเดียว และทยอยจ่ายได้ในเวลา 3 ปี เป้าหมายที่ซิสโก้วางไว้คือ การทำให้โครงการมีความยืดหยุ่นมากที่สุด เพราะการไม่ต้องลงทุนจ่ายเงินค่าระบบไอทีเป็นก้อนแบบรอบเดียวจะทำให้ลูกค้า SMB หมุนเงินหรือนำเงินไปใช้ลงทุนอย่างอื่นก่อนได้ ซิสโก้จึงเชื่อว่าโครงการนี้จะช่วยให้ SMB บ้านเราบริหารสภาพคล่องดีขึ้น
“โมเดลนี้เป็นเทรนด์ แม้จะเพิ่งเปิดตัวไม่นาน เราพบว่ามีเสียงตอบรับดีมาก ทั้งไทยและทั่วอาเซียน หลายบริษัทสนใจขอข้อมูล แต่ไม่มีการดูสถิติว่ามีความสนใจจำนวนเท่าไหร่ ราคาจะเป็น 0% ไม่แพงกว่าราคาเหมารวม ถ้าจ่ายไม่หมดสามารถยืดเวลาจ่ายชำระได้ใน 3 ปี เชื่อว่ายังขยายได้มากกว่า 3 ปีเพราะเป็นแบบสมาชิก”
ซิสโก้ระบุว่า รูปแบบการซื้อระบบไอทีแบบ “ใช้ก่อนค่อยจ่ายทีหลัง” นั้นเกิดขึ้นได้เพราะการดึงองค์กรอย่าง “ซิสโก้แคปปิตอล” กลุ่มทุนของซิสโก้มาเป็นผู้ชำระเงินแทน เป็นการใช้เงินสดของซิสโก้ที่จะไม่ได้ถูกนำฝากในธนาคารปกติ กลับมาช่วยสร้างสภาพคล่องให้ลูกค้า ทั้งหมดนี้ทำให้ซิสโก้ยังสามารถบันทึกยอดขายได้ตามปกติ และเชื่อว่ารูปแบบการชำระเงินนี้จะทำให้ยอดขายของซิสโก้สูงขึ้นด้วย
“เป็นการช่วยเกลี่ยและแบ่งเบาภาระการจ่ายออกไป โมเดลนี้เราเพิ่งเริ่มทำช่วงคาบเกี่ยวโควิด-19 ซึ่งเรามีการเพิ่มคำถามในการสำรวจเพื่อย้ำอีกทีว่าก้าวต่อไปของ SMB จะเป็นอย่างไร พบว่า 94% บอกว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้ยังสำคัญและจำเป็นอยู่ ส่วนใหญ่ 69% บอกว่าไม่ใช่แค่นั้น เพราะโควิดช่วยเร่งให้เอาเทคโนมาใช้มากขึ้น เพื่อให้อยู่รอดหลังโควิด-19”