ซิสโก้ (Cisco) โชว์สถิติการใช้งานระบบประชุมวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ออนไลน์ในประเทศไทยประจำเดือนมีนาคม 63 อย่างเป็นทางการ ระบุจำนวนการประชุมบนเว็บเอ็กซ์ (WebEx) เพิ่มขึ้น 766% จนเป็นอัตราเติบโตที่สูงที่สุดในกลุ่มอาเซียน ขณะที่จำนวนผู้ร่วมปรชุมเพิ่มขึ้น 3013% ทยานทะลุ 1 ล้านรายแบบสบายๆ
วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการซิสโก้ ประเทศไทย และภูมิภาคอินโดจีน กล่าวว่าสถิติการประชุมออนไลน์นี้ไม่ได้แยกข้อมูลการใช้งานแบบแยกประเภทขององค์กรแบบชัดเจน แต่จากการประเมินพบว่าหน่วยงานภาคการศึกษามีการใช้งานมากขึ้นชัดเจนเป็นอันดับ 1 ขณะที่เอกชนมีการขยายตัวไปใช้กับการประชุมในกลุ่มพนักงานหลายระดับ จากที่มักใช้เฉพาะการประชุมในผู้บริหารระดับสูงเท่านั้น เบื้องต้นวางเป้าหมายหวังให้การเรียนการสอนออนไลน์ และการประชุมออนไลน์ถูกนำไปใช้ต่อเนื่องในยุคหลังโควิด-19
“เป้าหมายหลังจากนี้ คือระบบคอนเฟอร์เรนซ์จะเป็นเครื่องมือสำคัญ เพราะที่ผ่านมา เราโปรโมทมาตลอด มีการจัดเซสชัน ทำเวิร์กช็อป เป็นกรณีศึกษานานมาก แต่การรับรู้ตอนนี้เร็วขึ้นมากในทันที นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นในการนำระบบประชุมออนไลน์ ไปเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติหน้าที่จริง ซึ่งถ้ากลับไปทำแบบเดิม ก็จะเสียโอกาสไป”
ภาวะการระบาดของโควิด-19 ทำให้หน่วยงานเอกชนต้องเปลี่ยนมาให้พนักงานทำงานจากบ้าน ขณะที่โรงเรียนและมหาวิทยาลัยต้องปิดสถานที่แล้วเปลี่ยนมาให้นักเรียนศึกษาผ่านระบบวิดีโอจากบ้าน สถานการณ์นี้ทำให้แพลตฟอร์มระบบการประชุมออนไลน์ขยายตัวขึ้นรวดเร็ว โดยเฉพาะเดือนมีนาคม 63 ซึ่งเป็นช่วง “เอาจริง” ที่รัฐบาลเริ่มมีการประกาศขอความร่วมมืออย่างเป็นทางการ
ซิสโก้ระบุว่า จากเดือนกุมภาพันธ์ 63 การประชุมออนไลน์ของชาวไทยบนระบบซิสโก้มีจำนวนเพียง 27,689 ครั้ง ตัวเลขนี้เพิ่มเป็น 239,896 ครั้งในเดือนมีนาคม 63 คิดเป็นสัดส่วนการเติบโต 766% หรือเกิน 7 เท่าตัว
ในมุมจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม จากสถิติเดือนกุมภาพันธ์ที่มีผู้ร่วมประชุม 33,628 ราย ตัวเลขเพิ่มเป็น 1,047,109 รายในเดือนเดียว ดีดตัวขึ้น 3013.80%
สถิติเหล่านี้เป็นตัวเลขรวมการใช้งานบนแพลตฟอร์ม Cisco Webex บริการที่ซิสโก้การันตีว่าไม่ได้เป็นเพียงระบบที่ใช้เพื่อประชุมทางไกล แต่ยังใช้เป็นห้องเรียนเสมือน เปิดตัวสินค้า จัดอีเว้นท์ออนไลน์ แหล่งรวมพลปาร์ตี้ออนไลน์ของพนักงานได้ด้วย เพื่อตอบความต้องการที่เพิ่มขึ้น Cisco Webex จึงเปิดให้ผู้ใช้ทั่วโลกทดลองผ่านเวอร์ชันฟรีนาน 3 เดือน แบบไม่จำกัดเวลาการประชุม บนจุดเด่นเรื่องการรองรับผู้เข้าร่วมประชุมผ่านวิดีโอได้ 1,000 คนในคราวเดียว
สำหรับประเทศไทย วัตสันระบุว่าความท้าทายหลักของหน่วยงานไทยคืออุปกรณ์ โดยเฉพาะองค์กรภาครัฐ หรือเอกชนบางราย ผู้ใช้บางรายต้องนำเอาพีซีเก่ามาใช้งาน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นหลัก และขาดแคลนอุปกรณ์พื้นฐานที่จำเป็น
วัตสันมองว่านอกจากทูลส์หรือเครื่องมือ หน่วยงานองค์กรยังต้องปรับกระบวนการทำงานหรือปรับโปรเซสให้เป็นเวอร์ชวลออนไลน์ด้วย อีกสิ่งที่สำคัญคือเรื่องความปลอดภัย ทั้งการอบรมและการส่งข้อความที่บ้าน ล้วนทำให้การทำงานจากที่บ้านมีความเสี่ยง เพราะไม่มีกรอบรั้วล้อมรอบเหมือนระบบคอมพิวเตอร์ที่สำนักงาน ทำให้มีโอกาสที่ใครอาจเข้ามาดึงข้อมูลได้
เบื้องต้น ซิสโก้ระบุว่ายังไม่มีแผนขยายช่วงเวลาทดลองให้บริการฟรี และยังไม่มีการปรับเป้าหมายเชิงพาณิชย์ในช่วงหลังโควิด-19 โดยย้ำว่าซิสโก้ยังมองทุกอย่างเหมือนเดิม แต่เชื่อว่าในวิกฤติจะมีโอกาส ซึ่งสุดท้ายแล้ว ระบบเทเลคอนเฟอร์เรนซ์ก็จะเป็นแพลตฟอร์มใหม่ที่คนคุ้นเคยและจะใช้งานมากขึ้นแน่นอน
“หลังจากโควิดไปแล้ว เราจะดูว่าอะไรเป็นนิวนอมอล เราจะเอาขึ้นมาเป็นโซลูชันที่ปรับใช้ได้ มาทำการตลาดต่อไป”