วันเสือโคร่งโลก (เมื่อ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับองค์กรพันธมิตรจัดงานในปีนี้เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจว่าทำไมถึงต้องอนุรักษ์เสือโคร่ง สัตว์ป่า ‘นักล่าชั้นบนสุดในระบบห่วงโซ่อาหาร’
พงศ์บุญย์ ปองทอง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การจัดงานในปีนี้เป็นโอกาสพิเศษ ครบรอบ 10 ปี ของการประชุมสุดยอดผู้นำด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง เมื่อปี 2553 จัดประชุมครั้งแรก ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สหพันธ์รัฐรัสเซีย และเป็นที่มาของการจัดงานนี้ทุกปี
“ป่าใดมีจ้าวป่า-เสือโคร่ง ไม่เพียงเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า แต่การออกล่าเหยื่อของเสือโคร่ง ช่วยให้ระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์ เป็น Umbrella species ทำให้ผืนป่าที่มีเสือโคร่งอาศัยอยู่เกิดความหลากหลายทางทรัพยากรชีวภาพ อุดมไปด้วยสัตว์ป่าอื่นๆ ทั้งที่เป็นนักล่าหรือเหยื่อ และสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณนานาชนิด ทำให้เกิดการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ ลดผลกระทบของภาวะโลกร้อนได้”
ประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ เสริมว่า การอนุรักษ์เสือโคร่งให้คงอยู่ในป่ามีความสำคัญมาก ถ้าประชากรของเสือโคร่งคงอยู่ พวกมันจะทำการควบคุมประชากรสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ อย่างเช่นเหยื่อหลักที่เป็นสัตว์กินพืชเท้ามีกีบ กระทิง หมูป่า กวาง เก้ง จะคงอยู่ในป่าในปริมาณสมดุล
“หากมนุษย์เข้าไปล่าเสือตามความเชื่อผิดๆ หรือมองเป็นกีฬาที่ท้าทาย สนุกกับการล่าทั้งที่ไม่ได้นำมาเป็นอาหารที่จำเป็น นั่นเท่ากับเป็นผู้ทำลายความสมดุลของธรรมชาติ ยิ่งเสือถูกดึงออกจากระบบนิเวศมากเท่าใด จำนวนสัตว์กินพืชก็จะเพิ่มขึ้น ผืนป่าก็จะถูกทำลายเพิ่ม (ทั้งโดยมนุษย์ผู้บุกรุก และสัตว์กินพืช) ความชื้นที่ลดลง ทำให้ฝนไม่ตกตามฤดูกาล เกิดฤดูแล้งยาวนานขึ้น ปริมาณน้ำจืดลดลง และอาจก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติตามมาง่ายขึ้น สุดท้าย ผลกระทบจากการล่มสลายของระบบนิเวศจะย้อนกลับมาทำลายมนุษย์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้”
ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญเสือโคร่ง กล่าวว่า “หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า การทำงานฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งซึ่งเป็นการทำงานวิจัยในพื้นที่ป่า รวมถึงการทำงานต่อต้านการลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย คืองานอนุรักษ์ที่ต้องใช้ระยะเวลายาวนานถึงจะเห็นผล ช่วงที่ผ่านมาจนถึงปีนี้ พวกเราได้เห็นภาพเสือโคร่งสายพันธุ์อินโดจีน อาศัยอยู่และกระจายพันธุ์เพิ่มขึ้นในประเทศไทย ประชากรเสือโคร่งที่เพิ่มขึ้นเป็น 130-160 ตัว โดยเพิ่มจากเดิม 60-80 ตัว หรือกว่า 50% และยังเป็นเพียงประเทศเดียวในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงที่มีประชากรเสือโคร่งอาศัยอยู่มากถึงหลักร้อยตัว ในขณะที่ประเทศลาวและกัมพูชานั้น ไม่พบหลักฐานการมีอยู่ของเสือโคร่งแล้ว ก็เป็นหลักฐานตอกย้ำให้คนไทยตระหนักถึงผลลัพธ์จากความพยายามของหลายภาคส่วนที่ร่วมกันทำงานวิจัยเพื่อปกป้องให้เสือโคร่งคงอยู่ในผืนป่าไทยชั่วลูกหลาน”
สำหรับพันธมิตรร่วมจัดงานซึ่งมีส่วนในการเพิ่มประชากรเสือโคร่ง ได้แก่ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประเทศไทย องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ประเทศไทย (WWF) องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ประเทศไทย สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มูลนิธิฟรีแลนด์ และแพนเทอรา (Panthera)
นักวิจัยเสือโคร่งคนสำคัญแห่งผืนป่าตะวันตก สมโภชน์ ดวงจันทราศิริ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ) ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เล่าถึงความยากลำบากในการทำงานวิจัยในป่า ว่า เราไม่สามารถนัดเจอกับเสือได้ว่าให้มาเจอกันที่จุดไหน ถ้าโชคดีก็ 4-5 วัน ถ้าโชคร้ายก็รอเป็นเดือน การที่ต้องเฝ้ารอมันนี่คือการฝึกความอึด เป็นความยากของการที่ไม่สามารถกำหนดได้ เราก็ต้องหาวิธีทำงานให้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด ใกล้เคียงรอบที่มันจะมาหาเรามากที่สุด เช่น การเอากล้องไปดักตามทางที่เขาจะเดิน เราก็จะกะเวลาให้ได้ใกล้เคียง แต่พอเราพัฒนา เสือเองก็มีพัฒนาการด้วยเช่นกัน เรารู้แล้วว่ามันจะมา มันก็รู้เช่นกันว่าเราจะมา เสือก็เดินเล่น ไม่แวะให้ เราก็ไปคิดค้นวิธีว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้ผลสำเร็จ ทำไปเรียนรู้ไป อย่างน้อยเราก็ต้องเชื่อว่าเราเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ฉลาดที่สุด ฉะนั้นเสือจะมาฉลาดกว่าเราไม่ได้ เราก็ต้องมีการเรียนรู้คิดค้นไปเรื่อยๆ
“ความสำเร็จของการอนุรักษ์เสือโคร่งในช่วง 10 ปี ตัวเลขประชากรเสือโคร่งที่เพิ่มขึ้นแม้จะเป็นตัวชี้วัดที่มองเห็นได้ทันที แต่อยากให้มองถึงผลลัพธ์ด้านคุณภาพจากปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับเสือด้วย เช่น ความสมบูรณ์ของสัตว์ป่าที่เหยื่อ การปกป้องป่าจากผู้ลักลอบตัดไม้และล่าสัตว์ รวมถึงความร่วมมือชุมชนที่เป็น Buffer zone ให้คนอยู่กับป่า หรือแม้กระทั่งความร่วมมือในโครงการวิจัยเสือโคร่งจากหลายหน่วยงานในอนาคต”
ลิงก์ เสือโคร่งตัวแรกที่เดินผ่านกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า มีชื่อว่าT5