xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง! ไม้มีค่าป่าชุมชนสถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มมส.ถูกลอบตัด3,200ต้น แต่จนป่านยังไม่แจ้งความ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มหาสารคาม-เกิดขึ้นได้ยังไงคนร้ายลอบตัดมีค่าไม้จิกหรือต้นเต็งมากถึง 3,200 ต้นในป่าชุมชนสถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช อ.นาดูน คาดมีใบสั่งจากพ่อค้าไม้หากขายไม่ต่ำกว่า 2,000,000 บาท แต่ที่น่าฉงนจนป่านนี้ ผอ.สถาบันฯยังไม่แจ้งความทั้งฝ่ายบริหาร มมส.ต้นสังกัดปิดปากเงียบไม่ชี้แจงใดใด ทำเอาคณาจารย์-นักศึกษางงเป็นไก่ตาแตก


มีรายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ สภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม(มมส)ได้รับการร้องเรียนจากเจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช ในพื้นที่ อ.นาดูน จ.มหาสารคาม ว่าพบเห็นมีการลักลอบตัดต้นไม้มีค่าภายในป่าชุมชนของสถาบันฯจำนวนมาก สำหรับสถาบันวิจัยวลัยรุขเวช เป็นหน่วยงานในสังกัด มมส. เป็นสวนพฤกษชาติศูนย์อนุรักษ์และขยายพันธุ์ไม้พื้นเมืองของภาคอีสาน

หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียน ล่าสุดวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา กรรมการสภาคณาจารย์ มมส.และที่ปรึกษาได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่ของสถาบันวิจัยวลัยรุกเวช พบว่ามีการลักลอบตัดไม้มีค่าจริง โดยเฉพาะต้นจิกหรือต้นเต็ง ราว 3,200 ต้น ในพื้นที่ป่าชุมชน 550 ไร่ คาดว่ากลุ่มคนร้ายน่าจะลักลอบตัดในช่วงสถานการณ์โควิด-19ระบาดตั้งแต่เดือนมีนาคมมาอย่างต่อเนื่อง


หนึ่งในกรรมการสถาคณาจารย์ มมส.เปิดเผยว่า มีหลักฐานเป็นถ่ายภาพคนร้ายขณะลักลอบตัดไม้ได้ด้วย แต่ยังไม่สามารถดำเนินคดีใดๆได้ เนื่องจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหาสารคามหลังทราบเรื่องแล้ว ไม่ได้สั่งการให้ทางสถาบันเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพียงแต่มีคำสั่งให้เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ รปภ.ดูแลช่วงกลางคืนให้มากขึ้นเท่านั้น

“เจ้าหน้าที่แจ้งว่าหลังพบต้นไม้ถูกลอบตัดได้เข้าไปในหมู่บ้าน สอบถามชาวบ้านและผู้นำชุมชนแล้ว แต่ได้รับการปฏิเสธว่าไม่รู้เห็น ไม่รู้เรื่องอะไรเลย”กรรมการสภาคณาจารย์คนเดิมระบุ


อย่างไรก็ตาม กรรมการสภาคณาจารย์และที่ปรึกษาได้ตั้งข้อสังเกตร่วมกันว่า น่าจะเป็นขบวนการมอดไม้ ลอบเข้าไปตัดไม้เพื่อนำไปขาย เนื่องจากมีจำนวนมากเกินกว่าจะนำไปใช้ส่วนตัว หรือนำไปใช้ประโยชน์ภายในสถาบัน เช่นทำรั้ว เพราะไม่พบมีโครงการทำรั้วหรือใช้ประโยชน์จากไม้เหล่านี้แต่อย่างใด


เชื่อว่ากลุ่มคนพวกนี้ทำกันเป็นขบวนการ พบว่าก่อนตัดจะมีการลิดยอดและกิ่งของต้นไม้ออก เพื่อให้เวลาต้นไม้ล้ม เสียงจะไม่ดังมาก


นอกจากนี้ยังสังเกตพบอีกว่า คนร้ายจะเลือกตัดเป็นหย่อมๆ กระจายทั่วทั้งป่า หากเป็นต้นใหญ่จะตัดถึงตอ หากเป็นต้นขนาดกลางจะตัดกลางลำต้น เส้นผ่าศูนย์กลางโดยเฉลี่ย 4-9 นิ้ว ไม่เพียงแต่ต้นจิก(ต้นเต็ง)เท่านั้น แต่มีต้นประดู่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 20 นิ้วด้วย และก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่บอกว่า คนร้ายลักลอบตัดไม้พะยูงไปแล้วหนึ่งต้น แต่ไม่สามารถจับคนร้ายได้ ไม้เหล่านี้เหมาะสำหรับการสร้างบ้าน เนื่องจากเป็นไม้เนื้อแข็ง ทนทาน และมอดไม่กิน

กรรมการฯ ให้ความเห็นว่าหากนำไม้ทั้ง 3,200 ต้นดังกล่าวไปขาย อาจมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2,000,000 บาท จึงสันนิษฐานว่าน่าจะมีคำสั่งซื้อตามความต้องการของนายทุนค้าไม้หรือกลุ่มบุคคลที่ต้องการใช้ประโยชน์จากไม้เนื้อแข็งหายากเหล่านี้ โดยได้เข้ามาสำรวจก่อนตัดด้วย

ป่าแห่งนี้เป็นป่าชุมชน ซึ่งชาวบ้านสามารถเข้ามาเก็บของป่าได้ โดยไม่มีรั้วกั้นหรือต้องขออนุญาตแต่อย่างใด แม้จะมี รปภ.คอยตรวจตรา แต่มีกำลังไม่มากพอ เพราะมีแค่ 4 คน ส่วนเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานทำได้แค่เดินนับจำนวนต้นไม้เท่านั้น


กระนั้นก็ตาม แหล่งข่าวในสภาคณาจารย์ มมส.ท่านหนึ่งบอกว่า หลังเกิดเหตุจนถึงขณะนี้ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช ยังไม่ได้แสดงความรับผิดชอบหรือชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด กรรมการสภาคณาจารย์ที่ลงพื้นที่จึงมีความเห็นว่าควรเข้าแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีตามกฎหมายโดยเร็วที่สุด และผู้บริหารในระดับหน่วยงานควรชี้แจงแสดงความรับผิดชอบแก่ประชาคม รวมทั้งผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องมีมาตรการที่เด็ดขาดชัดเจนเพื่อป้องกัน ดูแล และเร่งฟื้นฟูป่าชุมชนผืนนี้ ซึ่งมีคุณค่าต่อชุมชน และเป็นภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยอีกด้วย


“สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช”จัดตั้งเป็นหน่วยงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหาสารคามตั้งแต่ปี 2535 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการอนุรักษ์และขยายพรรณไม้พื้นเมือง มีการเผยแพร่และฝึกอบรมเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติให้กับประชาชนและเยาวชน ปัจจุบันมีสภาพทรุดโทรม ขาดการปรับปรุง พัฒนา และฟื้นฟูให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์แรกของการจัดตั้งโครงการและภารกิจหลักของสถาบัน


กำลังโหลดความคิดเห็น