xs
xsm
sm
md
lg

“อาสาพิทักษ์ป่า” ลงทุนย้ายจังหวัด-เปลี่ยนงาน เพื่อเดินทางมาอนุรักษ์ [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




“มีความสุขที่คนอื่นได้เห็นสิ่งที่เราทำ”
ชายพิทักษ์ป่า ผู้มีหัวใจเต็มเปี่ยมไปด้วยการอนุรักษ์ ใช้เวลาว่างจากกิจการ เพาะกล้าหาพันธุ์ไม้ไปปลูกบนภูเขา สร้างแหล่งน้ำ ดับไฟป่า มาอย่างต่อเนื่องนานหลายปี ไม่ท้อแม้โดนดูถูกว่าหากินกับป่า ทุ่มเทแรงกายแรงใจดูแลปกป้องฟื้นฟูผืนป่าเพียงลำพัง จนเริ่มมีความเห็นความตั้งใจ หันมาช่วยทำ

หนุ่มโรงงาน สู่เส้นทางอนุรักษ์ป่า

“มนุษย์มีส่วนอย่างมาก สิ่งต่างๆ ที่ทำลายธรรมชาติ น้ำมือมนุษย์ทั้งนั้นเลย ฉะนั้น ถ้าเปลี่ยนจากการทำลายมาเป็นการรักษา ธรรมชาติมันจะกลับคืนมาเร็ววันมาก ทำลายธรรมชาติแค่คนเดียวต้องใช้คนฟื้นฟูเป็นสิบหรือยี่สิบคน

คนหนึ่งจุดไปเผาป่า ต้องใช้คนยี่สิบสามสิบคนขึ้นไปดับไฟป่า เพระว่ามันเกิดไฟป่าเป็นแนวทางตลอดภูเขาเป็นสิบกิโลฯ กว่าจะดับได้ ใช้เวลาเป็นวันเป็นคืนด้วยน้ำมือเพียงคนเดียว ถ้าเปลี่ยนจากคนคนนั้นมาเป็นช่วยกันอนุรักษ์ ผมว่ามันจะดีขึ้นเยอะเลย”

ทัศน์พล ผลถาวร ชายผู้หลงใหลในธรรมชาติ พลิกชีวิตจากหนุ่มโรงงานมาสู่เส้นทางการอนุรักษ์ธรรมชาติ ที่มีความเพียรพยายาม ทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับการอนุรักษ์ป่า เพื่อหวังให้ทรัพยากรธรรมชาติอยู่คู่มนุษย์ต่อไป

ผู้อนุรักษ์ป่าที่หลายคนมักจะเข้าใจว่าหมายถึงเจ้าหน้าที่อุทยาน แต่ผู้ชายคนนี้เป็นเพียงคนธรรมดาที่ลุกขึ้นมาทำด้วยน้ำพักน้ำแรง พร้อมหัวใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักต่อธรรมชาติ และความหวังของผู้ต้องการเห็นความสวยงามของธรรมชาติให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยการปลูกป่า ฟื้นฟูแหล่งน้ำ ป้องกันไฟป่า

อดีตลูกชาวนาคนธรรมดาที่รักธรรมชาติ ที่เคยผ่านชีวิตทั้งทำงานในโรงงาน และเปิดร้านขายอุปกรณ์ตกปลาในจังหวัดสมุทรปราการ ตัดสินใจย้ายร้านมาเช่าห้องแถวเปิดกิจการใหม่ในอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี พร้อมความคิดฟื้นฟูผืนป่า


“จริงๆ แล้วผมเป็นชาวนา บ้านผมอยู่อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ไม่รู้จักเลยว่าป่าต้นน้ำมันเป็นยังไง รู้จักแต่ภูเขา มันมีภูเขาอยู่ลูกหนึ่งในทุ่งบ้านผม เขาเรียกภูเขาสรรพยา ยอดแหลมๆ นั่นแหละ รู้จักภูเขาจากลูกนั้น แต่ก็ไม่รู้ว่าในภูเขามันมีอะไรบ้าง ก็ไม่ได้สนใจเลย

จนวันหนึ่งมาทำงาน มาเที่ยวจนมาถึงปัจจุบันนี้เราได้มาเห็นกับตาตัวเองว่าป่าต้นน้ำมันเป็นอย่างนี้ มันมีความอุดมสมบูรณ์อย่างนี้ ถ้าเกิดมันสมบูรณ์ ทุกอย่างที่มันอยู่ปลายน้ำมันก็จะสมบูรณ์ไปด้วย”

แต่นอกจากอาชีพส่วนตัวแล้ว เวลาแทบทั้งหมดของของชายผู้นี้เขาทุ่มเทให้กับการดูแล และปกป้องฟื้นฟูป่า โดยเริ่มเพียงลำพัง ตั้งแต่เก็บเมล็ดพันธุ์ต่างๆ มาเพาะปลูกเป็นต้นกล้า เฝ้าดูแลให้เจริญเติบโต จนนำไปปลูกในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม

“ขายแล้วมันก็เลยมีช่วงเวลาว่าทำอะไรดี หลังจากที่เราไปเที่ยวไปเห็นป่า บางทีเราเห็นภูเขาโดนทำลายอะไรต่างๆ ไป ต้นไม้มันเสียหายไป ปลูกป่าดีไหม ทำต้นไม้ขึ้นมาทดแทนของเก่าที่มันเสียหายไป

ก็เริ่มคิดที่จะเพาะกล้า อะไรต่างๆ พวกนี้ เราก็พยายามไปหาเมล็ดพวกนั้นมา แล้วก็เริ่มเพาะ เพาะเองโดยใช้งบประมาณส่วนตัวนี่แหละ

ก็เริ่มต้นปีแรก ผมเอาต้นกล้าที่เพาะได้ไปปลูก ปลูกในพื้นที่เสื่อมโทรม คือพื้นที่ที่โดนไฟไหม้ ก็ลืมคิดไปว่าตรงนี้มันเคยไฟไหม้ ปรากฏว่ามันถึงฤดูแล้งไฟมันก็ไหม้อีก”


พอถึงหน้าแล้ง ต้นกล้าที่ตั้งใจปลูกถูกไฟเผาหมดแทบไม่เหลือ หมดทั้งกำลังใจและเรี่ยวแรงที่ทุ่มเทลงไป ย้อนกลับมานั่งทบทวนคิดว่าจะทำอย่างไรต่อไป จึงคิดว่าต้องทำแนวกันไฟก่อนที่ไฟป่าจะมา จึงได้ลงทุนเอาเครื่องพ่นยาฆ่าแมลงมาดัดแปลงสภาพเป็นเครื่องพ่นลม และเป็นอาสาสมัครดับไฟป่า เข้าไปดับไฟเป็นประจำ

ปีต่อมา ต้นกล้าที่ปลูกเริ่มรอด แต่ด้วยความร้อนและภัยแล้งทำให้น้ำในลำห้วยแห้งขอด ต้นไม้ตายอีก จึงคิดทำฝายเก็บน้ำเพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้แก่ต้นไม้ ลงทุนลงแรงตามลำพัง จนมีคนสนใจเข้ามาร่วมทำฝายได้หลายจุด ช่วยกักเก็บน้ำไว้ได้

แต่ก็ไม่วายเคราะห์ซ้ำกรรมซัด พอถึงหน้าฝนมาน้ำป่ามาแรงมาก ฝายที่ทำไว้ก็พังชำรุดอีก ทำให้ทุกครั้งหลังฝนตก เขาต้องเข้าไปซ่อมแซมทำฝายใหม่ ทำแบบนี้มานานหลายปี...จนป่าเริ่มสมบูรณ์ขึ้น


“ปีที่สองหลังจากปลูกไปแล้ว ต้นไม้รอดจากไฟ พอเราทำแนวกันไฟอะไรต่างๆ ต้นไม้รอดจากไฟ ก็ดีใจ แต่บางปีที่เราเห็นน้ำในห้วยมันไม่พอใช้ มันแห้ง ฝนมันไม่ตก แล้วพอมันแห้งมากๆ ไฟต่างๆ ที่มันเกิดขึ้น มันทำให้น้ำในห้วยมันแห้งไปด้วย

สองฟากข้างมันจะเป็นดิน มีไม้เล็กๆ คลุมเต็มไปหมดเลย แต่พอเกิดไฟป่า ไม้มันแห้งตายหมด น้ำที่มันซึมลงไปสองฟากข้างลำห้วย ซึมไปแทนที่มันจะเก็บรักษาไว้เพื่อต้นไม้อื่นๆ พอแดดมันส่องมามันก็ระเหยหมด

พอระเหย น้ำในลำห้วยก็ต้องซึมออกไปข้างนอกอีก มันก็เลยไม่เหลือน้ำจากลำห้วยลงมาข้างล่าง มาหล่อเลี้ยงผู้คนข้างล่าง ทำไงจะเก็บน้ำตรงนั้นไว้เยอะๆ นอกจากทำแนวกันไฟแล้ว เราก็คือไปทำฝายชะลอน้ำเล็กๆ ไว้ก่อน เริ่มตั้งแต่ปี 59 ก็ใช้เวลาทำตอนนั้น 1 วัน 1 คน 1 ฝาย”


เจอคำดูถูก หากินกับป่า

การทำงานย่อมมีอุปสรรค หากเป็นอุปสรรคเรื่องของธรรมชาติก็พอเข้าใจได้ แต่ในส่วนของคำดูถูกจากคน ทำให้ชายคนนี้ถึงขั้นประกาศล้มเลิก ไม่อยากทำงานอาสาพิทักษ์ป่าต่อไป

ตอนนั้นมีอยู่ช่วงหนึ่งเขียนประกาศเลยบอกว่าขอลาออกจากคนพิทักษ์ป่า คือคิดจะล้มเลิกตอนนั้น บอกว่าขอลาออกจากคำว่าคนพิทักษ์ป่า แต่แล้วพอเขียนอย่างนั้นเสร็จ กลับมาทำธุรกิจของตัวเอง ทุกอย่างมันขยับดีขึ้น แล้วก็หันมามองว่ามันน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่เราทำดีให้แก่แผ่นดินไว้ จนทำให้ทุกชีวิตของเราดีขึ้น

ฉะนั้นไม่ต้องลาออกมันหรอก ถ้าไปทำขอไปทำเงียบๆ ขอไปทำเพียงลำพังโดยที่ไม่ต้องไปขอรับบริจาคจากใคร โดยไม่ต้องบอกเลยว่าจะทำโครงการโน่นนี่นั่น ไม่ต้องไปเขียนบอกแล้ว คว้ากระสอบ คว้าต้นกล้าต่างๆ ขึ้นรถ ขับไปในที่ต้องการที่เราจะทำตรงนั้นเลย แล้วเดี๋ยวค่อยเอาภาพมาลง ไปทำก่อนแล้วค่อยมาบอกดีกว่า”

นอกจากจะเป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติที่เข้าไปฟื้นฟูผืนป่าแล้ว เขายังได้ถ่ายทอดเรื่องราวผลงานของตนเองเผยแพร่ในโลกออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก จนทำให้มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม และสนับสนุนปัจจัยการทำกิจกรรมต่างๆ รวมไปถึงทำให้ธุรกิจของตัวเองดีขึ้น


“มีอยู่ปีหนึ่ง ปีที่ผมจะทำฝายในลำห้วยนี่แหละ ปีนั้นยังไม่มีตังค์เลย คือทุนน้อยมาก ทำไงดี ก็เลยคิดว่าเราน่าจะทำทริปเที่ยวดีไหม เรามีรถ เรามีกล้องถ่ายภาพ เราสามารถพานักท่องเที่ยวไปทำกิจกรรมอะไรต่างๆ ได้ ก็เลยจัดเป็นทริปเที่ยว 2 วัน 1 คืน ถ้ามาสองสามคนก็อยู่ประมาณสัก 3,000 บาท มีอาหาร มีเต็นท์อะไรต่างๆ มีที่พักพร้อมแล้วก็พาขึ้นไปบนเขาถ่ายรูปอะไรต่างๆ ฟรีหมด

ก็เปิดรับอยู่ช่วงหนึ่งเป็นช่วงปีนั้นแค่ปีเดียว เยอะนะคือแบบพอลงจากเขามาเสร็จชุดต่อไปขึ้นเลย สลับกันอยู่ตลอดเวลาเลย ถือว่าประสบความสำเร็จอยู่พอสมควร

ก็หลังจากนั้นทำอยู่ได้ประมาณไม่น่าจะเกิน 20 ทริป ผมเลิก สาเหตุที่ผมเลิกคืองบประมาณมันพอแล้ว ผมตั้งใจว่าทำฝายที่ในลำห้วยนี้ มันจะใช้งบอยู่เท่านี้ ตอนนั้นใช้รถใหญ่ขึ้นลง มันก็เลยต้องใช้งบในการขึ้นลงอยู่พอสมควร พอได้จำนวนเงินที่มากพอ ผมก็เลิกทำ ไม่จัดอีกเลย เพราะถือว่าพอแล้ว”


ลำพังธุรกิจส่วนตัวก็อาจจะอยู่ได้อย่างสบาย แต่งานอาสาที่ทำนั้นไม่ได้ทำแค่ครั้งเดียวแล้วจบไป แต่ต้องทำในทุกๆ วัน ทุนก็เป็นสิ่งจำเป็นอีกอย่างที่ต้องใช้ แต่มาวันนี้ชายผู้นี้มีทั้งกำลังและทุนที่พร้อมจะทำ โดยที่ไม่ต้องขอรับบริจาคจากใครแล้วทั้งสิ้น

“ก็ถือว่ามีคนสนับสนุนเข้ามาเยอะนะ แต่ทีนี้มันมีอยู่ช่วงหนึ่งเขามองว่าเหมือนเราเอาป่าออกมาหากิน มันมีมุมหนึ่งพอเราโพสต์หนักๆ คนโน้นก็อยากให้ คนนี้ก็อยากให้ คนนี้ก็อยากบริจาค พอมันเป็นตัวเงินมากๆ มันจะมีคนมองอีกมุมว่าเราเอาป่าไปหากิน

จากนั้นมาทุกอย่างจบเลย ไม่เอาอะไรเลย ไม่รับบริจาคใดๆ ทั้งสิ้น ผมจะทำในส่วนที่ผมทำได้ ปัจจุบันสิ่งที่ผมทำมาโดยตลอดมันทำให้ธุรกิจของผมมันดีขึ้น ชีวิตผมดีขึ้น ฉะนั้นผมจึงมีความพร้อมมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ก่อนผมมีแค่กำลังที่จะไปทำ ทุนไม่มีหรอก อาศัยคนโน้นคนนี้มาช่วยบ้าง แต่ปัจจุบันไม่ต้องแล้ว ทั้งกำลังทั้งทุนผมมีพร้อมที่จะไปทำแล้ว”


ความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ คือความสุข

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เรียกได้ว่าสิ่งที่เริ่มทำจากคนเล็กๆ คนหนึ่งจากธรรมชาติที่สูญหายไป ลงมือทำแล้วก็เผยแพร่ และถ่ายทอดสิ่งต่างๆ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ให้คนได้เล็งเห็นความสำคัญในการอนุรักษ์ป่า จนถึงวันนี้มีผู้คนสนใจร่วมทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

หลังจากนั้นก็เริ่มมีเพื่อนๆ เข้ามาช่วยมากขึ้น มีน้องๆ เข้ามาช่วยทำกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นปลูกป่า ทำฝายต่างๆ คนที่เคยเกื้อหนุนกันมาตั้งแต่ต้นนะครับ ก็จะมาช่วยแวะเวียนตลอด”

ยอมรับว่าการทำงานอนุรักษ์ป่า คือได้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติที่กลับมางดงามอีกครั้ง และยังยอมรับอีกว่านอกจากได้เห็นความงดงามของธรรมชาติ สิ่งที่ทำลงไปยังสะท้อนให้ทุกอย่างในชีวิตดีขึ้น มีความสุขทุกครั้งที่ได้ลงมือทำ

“มันได้จากการเห็นตัวงานของเราที่ทำไปแล้วมากกว่า เราเห็นความสำเร็จ ที่ทำฝาย เราทำฝายลำห้วยนี้กลับกลายเป็นมีน้ำตลอด ไม่มีแห้งเหือดอีกเลย นั่นแหละเดินขึ้นมาเมื่อไหร่มันมีความสุข

มีอยู่ครั้งหนึ่งผมไปทำฝายในที่แบบไม่เคยมีน้ำมาก่อนเลย แล้วหนนั้นผมเดินเข้าไป น้ำมันเต็มฝายหมดเลย ผมแบบมีความสุขมาก มันทำให้เรามีกำลังใจที่จะเดินต่อ ที่จะทำต่อ ปลูกต้นไม้ก็เหมืนกัน จากที่เคยปลูกแล้วโดนไฟ วันหนึ่งต้นไม้ที่ปลูกไว้มันโต ไม่โดนไฟ มันยิ่งมีกำลังใจมากขึ้น

ถ้าเห็นเป็นรูปธรรมก็คือน้ำในลำห้วย ต้นไม้ที่เราปลูก แต่สิ่งที่เราอาจจะคิดหรือว่ามโนไปเองก็คือในเรื่องของชีวิต เมื่อก่อนที่มันจมดิ่งเลย ลุ่มๆ ดอนๆ มาตลอด

แต่พอความดีที่ทำไปสะสมไป มันทำให้ชีวิตผมดีขึ้น อะไรต่างๆ มันดีขึ้นหมด ไม่ว่าจะเป็นการทำมาหากิน การค้าขาย ทุกอย่างมันเหมือนกับความดีที่เคยทำเอาไว้

ดีใจนะ แล้วก็มีความสุขในสิ่งที่คนอื่นได้เห็นสิ่งที่เราทำ แล้วมีบางคนที่เอาบางส่วน บางสิ่งของผมไปต่อยอด ไปทำที่อื่น ทำให้ผมมีความสุข”


ด้วยจิตใจที่อาสาในการอนุรักษ์ที่เป็นทุนเดิมอยากฟื้นฟูผืนป่าให้กลับมาอุดมสมบูรณ์แล้วนั้น สิ่งหนึ่งในการทำงานอาสาที่ไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น ยังได้น้อมนำคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ ๙ อีกด้วย

“จริงๆ แรงใจมากจากคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ ๙ สอนว่าเราควรจะทำอะไร สอนว่าเราควรจะรักษาธรรมชาติด้วยวิธีไหน ค่อยๆ ศึกษาคำสอนของพระองค์ แล้วก็นำแนวทางตรงนั้นมาเริ่มปฏิบัติ เริ่มทำ ค่อยๆ ทำมาเรื่อยๆ

เคยเข้าไปดูในคำวิจารณ์ของนักวิชาการบ้าง มีใครต่อใครบ้างว่าควรจะทำแบบไหนอะไรยังไง แล้วเราเอามาประกอบกับสิ่งที่เราทำอยู่ว่ามันมีความเป็นไปได้ไหมกับสิ่งที่เขาคิด เขาเขียนอะไรต่างๆ มาแล้วก็ดูจากทฤษฎีของพระองค์ด้วยมาประกอบกันว่าเราควรใช้อะไร”


เส้นทางแห่งความดีที่ได้ทำจากการอนุรักษ์ธรรมชาติ จนเป็นภาพสะท้อนความสำเร็จที่อาจจะแตกต่างกับคนทั่วไปที่อาจตั้งเป้าหมายความสำเร็จของชีวิตว่าอยู่ที่มีความสุขจากการมีเงินทอง หรือหน้าที่การงานทางสังคม แต่สำหรับชายผู้นี้กลับได้เห็นภาพจากการได้อยู่กับธรรมชาติที่รักในทุกๆ วัน และคงเป็นเช่นนี้ต่อไป

“ผมมีอยู่คำหนึ่งที่ถูกสอนมา คือ ความเพียร พระองค์เล่าถึงความเพียร และเห็นความเพียรของพระองค์ที่เป็นตัวอย่างที่เราเห็นนะ ไม่มีท้อเลย พระองค์พยายามทำให้คนกลุ่มหนึ่งเลิกปลูกพืชยาเสพติดให้มาทำเกษตร พระองค์ใช้ความเพียรเข้าไปบอกเล่า ไปแก้ไขอะไรต่างๆ ทำอยู่อย่างนั้นนานมากนะครับกว่าจะสำเร็จได้

เราแค่นี้เองเล็กๆ น้อยๆ ต่อให้ย้อนไปปลูกเป็นอีก 10 ปี ต้นไม่ที่ปลูกไปแล้วมันจะต้องมีเหลือรอดบ้างแหละ ไอ้ตัวที่เหลือรอดนั่นแหละมันเป็นกำลังใจที่ดีสุดๆ เลย”


การให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำ และปฏิเสธไม่ได้ว่าเราทุกคนต้องอาศัยและใช้ประโยชน์จากธรรมชาติในการดำรงชีวิต คงจะดีไม่น้อยหากหันมาช่วยกันอนุรักษ์และพิทักษ์รักษาไว้คนละไม้ละมือให้สิ่งเหล่านี้เป็นที่พึ่งพึงให้กับทุกชีวิตต่อไป

“ผมเคยมีคำนิยามอยู่ประโยคหนึ่งว่า ถ้าคุณอยู่ใกล้ป่า สามารถดูแลรักษาธรรมชาติดูแลพื้นที่ป่าของคุณได้ ให้ลงมือทำไปก่อน พอทำไปแล้วเดี๋ยวคนอื่นเขามาเห็น เขาก็มาช่วยคุณทำเอง ก็จะเป็นเครือข่าย คุณมีป่าอยู่จังหวัดนี้บ้านอยู่ใกล้ป่าทำเลย แยกย้ายกันทำ ป่ามันก็จะสมบูรณ์ขึ้นมา ทุกอย่างมันก็จะสมบูรณ์”




สัมภาษณ์ รายการ “ฅนจริงใจไม่ท้อ”
เรียบเรียง MGR Live
เรื่อง พัชรินทร์ ชัยสิงห์
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “Tuchphol Pholthaworn”


** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **





กำลังโหลดความคิดเห็น