ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ม.ขอนแก่นพร้อมทั้งองค์ความรู้และบุคลากรเดินหน้างานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชา-กัญชงเพื่อการแพทย์ เล็งขยายงานวิจัยสมุนไพรไทยชนิดอื่นเพื่อใช้ทางการแพทย์เพิ่ม เผย KKU PHAR-Forest เป็นป่าสมุนไพรขนาดใหญ่เพื่อใช้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สนองความต้องการสังคมได้อย่างมีคุณภาพ
มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข). ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มข. ศ.พญ.ผิวพรรณ มาลีวงษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา อาจารย์ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษฏ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ รศ.ดร.ภก.ไพบูลย์ ดาวสดใส คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มข. ร่วมต้อนรับ นายจุลภาส เครือโสภณ ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจระหว่างประเทศ ในโอกาสเยี่ยมชมพร้อมให้คำปรึกษาแนวทางการพัฒนา การวิจัย และการบริหารจัดการด้านกัญชา-กัญชงเพื่อการแพทย์ และสมุนไพรไทยอื่นๆ ที่สามารถนำไปใช้ในด้านการแพทย์ รวมถึงการพัฒนาและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม
ในโอกาสเดียวกันนี้ได้พาคณะของนายจุลภาสเข้าเยี่ยมชมพื้นที่และแปลงปลูกกัญชา-กัญชงเพื่อการแพทย์ และศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ (ไก่พื้นเมือง) คณะเกษตรศาสตร์ มข. รวมถึงพื้นที่ KKU PHAR-Forest และอาคารปฏิบัติการวิจัยและผลิตผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย คณะเภสัชศาสตร์ มข.อีกด้วย
ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มข. กล่าวถึงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชาและกัญชงเพื่อการแพทย์ของ ม.ขอนแก่น ว่า เป็นความร่วมมือระหว่างคณะเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ และหน่วยงานภาครัฐด้านสาธารณสุข เป็นการบูรณาการทำงานตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ คือ การปลูก ผลิต พัฒนา และนำไปใช้ ซึ่งคณะเกษตรศาสตร์ได้นำกัญชา-กัญชงที่ได้รับอนุญาตแล้วนำไปปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อนำผลผลิตเน้นไปใช้ในทางการแพทย์ โดยจะมีคณาจารย์และนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ช่วยดูแลอย่างใกล้ชิด
ปัจจุบันทางการแพทย์มีความสนใจนำผลิตภัณฑ์กัญชา-กัญชงไปใช้รักษาและบรรเทาอาการโรคต่างๆ มากกว่า 10 โรค รวมถึงการนำส่วนอื่นๆ ของกัญชาที่เหลือจากการสกัดไปใช้ในทางสัตวแพทย์อีกด้วย ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความพร้อมไปสู่การขยายวิจัยและพัฒนาพืชเสพติดอื่นๆ เพื่อนำไปใช้ในทางการแพทย์อีกหลายชนิด
ด้านนายจุลภาส เครือโสภณ ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า สำหรับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชาและกัญชงรวมถึงสมุนไพรต่างๆ ในไทย เดิมทียังมีการวิจัยน้อย จึงเป็นการสร้างโอกาสอันดีที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นร่วมวิจัยและพัฒนาในส่วนนี้ ทั้งนี้ ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข จึงได้มีการร่วมพัฒนาและก่อตั้งแผนกสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจเพื่อนำสมุนไพรไทยที่มีการลงทะเบียนต่อกระทรวงสาธารณสุขออกจำหน่ายและเผยแพร่สู่สาธารณะ นำเข้าไปจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ
เนื่องจากสมุนไพรไทยมีจุดเด่นมากมาย นอกเหนือจากกัญชาและกัญชงแล้ว มองว่าสมุนไพรไทยที่มีหลากหลายชนิดที่สามารถวิจัยและพัฒนาให้เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทย
“งานด้านการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรไทยจะทำให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นโดดเด่น คณะเกษตรศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ จะกลายเป็นแหล่งผลิตสมุนไพรที่มีคุณภาพที่มีป่าสมุนไพรเป็นของตัวเอง เป็นจุดเด่นของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมีไม่กี่แห่งในโลกที่มีความพร้อม มีศักยภาพที่ทำได้” นายจุลภาสกล่าว
ขณะที่อาจารย์สถาพร สุรพัฒน์ คณะกรรมการบริหารสมาคมศิษย์เก่า ม.ขอนแก่น และตัวแทนจากภาคเอกชน ระบุว่า การปลูกกัญชาภายใต้นโยบายของ ม.ขอนแก่นนั้นจะมีความแตกต่างจากที่อื่น โดยที่อื่นจะรีบปลูกและสกัดสารในกัญชา แต่ ม.ขอนแก่นพยายามพัฒนาสายพันธุ์ของกัญชา โดยผสมผสานระหว่างพันธุ์กัญชาในท้องถิ่นกับจากต่างประเทศเพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่ดีที่สุด นำมาซึ่งสารสกัดจากกัญชาที่มีคุณภาพสูง เพื่อนำไปใช้ในทางการแพทย์ ใช้เป็นยาหรือน้ำมัน ลดการปนเปื้อน ระยะยาวเมื่อกฎหมายอนุญาตหรือมีการเปิดเสรีแล้ว ม.ขอนแก่นสามารถนำองค์ความรู้ถ่ายทอดแก่ผู้สนใจในเชิงพาณิชย์ได้
รศ.ดร.ภก.ไพบูลย์ ดาวสดใส คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มข.กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะเภสัชศาสตร์มีพื้นที่ที่เรียกว่า KKU PHAR-Forest เป็นพื้นที่ที่ผสานการอนุรักษ์ธรรมชาติและดิจิทัล เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนักศึกษา และนำไปสู่การวิจัย ประกอบด้วยสมุนไพรไทยที่หายากและมีคุณค่า เช่น ว่านชักมดลูก ฟ้าทะลายโจร ทั้งนี้ การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชาและกัญชง รวมถึงสมุนไพรอื่นเพื่อใช้ในทางการแพทย์นั้น ถือว่า ม.ขอนแก่นมีนักวิชาการที่พร้อมจะเข้ามาร่วมทำงานจำนวนมาก