"การอนุรักษ์เสือโคร่ง" นั้นมีความหมายมากกว่า เพียงการรักษาให้จำนวนประชากรเสือโคร่งคงอยู่และเพิ่มมากขึ้น แต่ยังหมายถึง "การรักษาผืนป่าขนาดใหญ่ ยังผลให้ป่าสมบูรณ์ ก่อเกิดเป็นระบบนิเวศอันมีความหลากหลายทางชีวภาพ" ที่จะเป็นผลสืบเนื่องช่วยลดภาวะโลกร้อน
เสือโคร่ง 1 ตัว ครอบครองพื้นที่ป่า ตั้งแต่ 60-300 ตารางกิโลเมตร โดยอาณาเขตครอบครองครอบคลุมพื้นที่อาศัยของบรรดาสัตว์ป่าน้อยใหญ่หลากหลายชนิด เสือโคร่งแต่ละตัวมีอาณาเขตอาศัยเป็นของตัวเอง ในพื้นที่ที่มีเหยื่ออุดมสมบูรณ์ เช่นในอุทยานแห่งชาติ จิตวัน (Chitwan) ที่ประเทศเนปาล เสือตัวเมียครอบครองอาณาเขตราว 10-20 ตารางกิโลเมตร และ 30-70 ตารางกิโลเมตรสำหรับเสือตัวผู้ ในขณะที่รัสเซียมีความหนาแน่นของเหยื่อน้อยกว่า และมีอาณาเขตกว้าง 200-400 ตารางกิโลเมตรสำหรับเสือตัวเมีย และ 800-1,000 ตารางกิโลเมตรสำหรับเสือตัวผู้
ปัจจุบันแม้ว่าจะไม่มีตัวเลขยืนยันแน่ชัดในจำนวนของเสือโคร่ง แต่มีการประเมินว่าจำนวนเสือโคร่งลดลงถึงร้อยละ 95 ตั้งแต่เข้าสู่ศตวรรษที่ 20 ซึ่งลดลงจาก 100,000 ตัว จนเหลือไม่เกิน 4,000 ตัวเท่านั้น
ขณะที่ประเทศไทย ในปี 2563 มีประชากรเสือโคร่งอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ประมาณ 130-160 ตัว เพิ่มขึ้นจากปี 2556 60-80 ตัว (จาก 41 ตัว ในปี 2553 เป็น 77 ตัว ในปี 2562 จะเห็นว่าจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 50%) ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในผืนป่าตะวันตกและผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ โดยเฉพาะในพื้นที่มรดกโลกห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งเป็นใจกลางของผืนป่าตะวันตกที่มีการสำรวจด้วยกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติอย่างเป็นระบบ ภายใต้ความร่วมมือของกรมอุทยานแห่งชาติฯ และ WWF ประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังพบว่าเสือโคร่งมีการขยายพันธุ์ทุกปี และออกไปอาศัยอยู่ในพื้นที่โดยรอบผืนป่าตะวันตก เช่น พื้นที่อุทยานฯ ไทรโยค อุทยานฯเขื่อนศรีนครินทร์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี อุทยานฯ แม่วงก์ และอุทยานฯ คลองลาน ที่พบเดินผ่านกล้องดักถ่ายเมื่อเร็วๆ นี้
ชมลิงก์ จำนวนเสือโคร่งในไทยเพิ่มขึ้น
ธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช บอกว่า “ความสำเร็จในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งของไทย คือความสำเร็จในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งของโลก และถือเป็นความสำเร็จในการฟื้นฟูระบบนิเวศของผืนป่าอีกด้วย”
ส่วนปัจจัยหลักที่เป็นภัยคุกคามต่อการอยู่รอดของเสือโคร่งยังมีสาเหตุจากมนุษย์ ถึงแม้ว่าการล่าเสือโคร่งโดยตรงลดลงไป แต่เมื่อยังมีการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งทำให้พื้นที่ป่าไม้ลดลง รวมถึงการลักลอบล่าสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่ง ก็มีผลกระทบต่อการเพิ่มประชากรเสือโคร่ง
ในปีนี้ งานวันเสือโคร่งโลก ประจำปี 2563 ตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 มีการจัดกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่ง โดยใช้ชื่องานว่า "ป่าไทยไม่ไร้เสือ - Roar for Thai Tigers" งานเริ่มตั้งแต่ เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป พร้อมจัดเสวนา นำโดย วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (เปิดให้เข้าชมนิทรรศการภาพถ่ายและกิจกรรมด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง ระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม 2563)
ชมลิงก์ นี่คือบ้านของเสือโคร่ง
ข้อมูลอ้างอิง สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า , WWFประเทศไทย