กรณีลูกช้างป่าห้วยขาแข้งพลัดหลง ตั้งแต่ช่วงกลางเดือน มิ.ย. จนถึงตอนนี้โขลงแม่ก็ยังไม่มารับ ทางสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ได้มีการประชุมทบทวนวิธีการปฎิบัติ ณ สำนักงานฯ
โดยมี นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผอ.สบอ.12 นายบรรพต มาลีหวล (ผอ.กลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า) ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สบอ.12 หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์เขานางรำ หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง หัวหน้าเขตฯ ห้วยขาแข้ง เข้าร่วมประชุม ซึ่งได้ข้อสรุปดังนี้
ให้เจ้าหน้าที่ผู้เก็บข้อมูลติดตามช้างฝูงแม่ เก็บข้อมูลเชิงลึกเน้นเจาะลงลึกถึงกลุ่มฝูงช้างเป้าหมาย ที่มีแม่ช้างลูกอ่อนอยู่เป็นหลัก โดยให้ติดตามการเคลื่อนไหว และวิเคราะห์แยกแยะเชิงลึกให้ทราบถึงทิศทาง วงรอบ เส้นทางการเดินหากินของฝูงช้าง และวิเคราะห์เชิงลึกถึงโครงสร้างของฝูงช้าง ว่า ช้างฝูงนี้มีช้างตัวเมียกี่ตัว ประกอบด้วยช้างที่มีนมเป็นช้างแม่ลูกอ่อนกี่ตัว ทั้งนี้เพื่อจะได้มั่นใจว่า มีช้างตัวแม่อยู่ในฝูงหรือไม่ จะได้เพิ่มความมั่นใจในความปลอดภัยของลูกช้าง ในกรณีที่จะต้องเปิดคอกให้ลูกช้างเดินออกจากคอกไปหาแม่ หรือการจะเคลื่อนย้ายพาลูกช้างไปส่งแม่ช้าง ณ จุดที่แม่ช้างอยู่ ทั้งนี้มอบหมายให้ได้ข้อมูลเชิงลึกนี้ภายใน 5 วัน
ให้ทางหัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงฯ เพิ่มอาหารเสริม เช่น ลูกเดือย ถั่วเขียว และถั่วแดง และให้ปิดไฟส่องคอก ในบางคืนที่เดือนหงาย ลดจำนวนคนเฝ้าระวังลง จากเดิมเจ้าหน้าที่ชุดเฝ้าระวังจากเดินวันละ 6 นาย ให้เหลือเพียงวันละ 4 คน สลับกันชุดละ 2 คน แทน
ทั้งนี้ให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติปรับวิธีการปฎิบัติ และแก้ไขปัญหาที่คิดว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้แม่ช้างไม่เข้ามาใกล้คอก โดยให้ตั้งเป้าหมายว่าจะต้องหาวิธีการต่างๆ ที่จะให้แม่ช้างเข้ามารับลูกช้างกลับป่าอย่างปลอดภัยให้ได้ และถ้าเป็นเวลากลางวัน หากลูกช้าง-แม่ช้าง มีการตอบโต้กันในระยะ 300-400 เมตร ให้เปิดคอกให้ลูกช้างเดินเข้าหาฝูง โดยการตามติดของเจ้าหน้าที่อย่างทันที
สำหรับประเด็นการหาแม่มารับเลี้ยง ให้ชะลอไปก่อน อย่างน้อย 1 เดือน หรือจนกว่าจะเห็นว่า การปล่อยลูกช้างคืนแม่ ไม่สำเร็จแน่นอนแล้ว หรือไม่ก็อาจจะต้องเปลี่ยนแผนนำลูกช้างไปปล่อยที่ป่าอนุรักษ์แหล่งอื่น ที่ไม่มีสัตว์ผู้ล่า (เสือโคร่ง) ซึ่งจะต้องประชุมกับผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบอีกครั้งก่อนที่จะลงมือปฎิบัติจริง
ลิงก์ ชมความน่ารักของลูกช้างป่าห้วยขาแข้ง เจ้าหน้าที่พาฝึกกินหญ้าและลงเล่นน้ำ