กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย จัดการประชุมรับฟัง ความคิดเห็นร่างมาตรการสร้างแรงจูงใจในการเพิ่มประสิทธิภาพของแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจก ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่างๆ อันเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงมาตรการสร้างแรงจูงใจฯ ให้สมบูรณ์และเหมาะสมต่อการนำไปปรับใช้ให้มีประสิทธิภาพต่อไป
สมหวัง เรืองนิวัติศัย รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและข้อตกลงปารีส ซึ่งต้องมีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศเพื่อลดอุณหภูมิโลก และภาคป่าไม้เป็นภาคที่มีความสำคัญในการเป็นแหล่งดูดซับและกักเก็บคาร์บอน อส. ในฐานะหน่วยบูรณาการความร่วมมือระหว่างรัฐและประชาชนในการดำเนินการ เพื่อช่วยให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในภาคป่าไม้ กอปรกับปัจจุบันประเทศ ยังมีความต้องการใช้พื้นที่ป่าและทรัพยากรป่าไม้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การทำลายป่ายังเกิดขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง
ดังนั้นการส่งเสริมการลดการทำลายป่า ลดการทำให้ป่าเสื่อมโทรม เพิ่มบทบาทในการอนุรักษ์ป่า การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และการเพิ่มพื้นที่ป่าในการกักเก็บคาร์บอน ตลอดจนการส่งเสริมการปลูกป่า ควรจะมีมาตรการสร้าง แรงจูงใจเชิงบวกเพื่อเป็นกลไกและเครื่องมือให้ภาคประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ได้ร่วมกันเพิ่มพื้นที่ป่า เพื่อเพิ่มศักยภาพของแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการรักษาไว้ซึ่งการบริการของระบบนิเวศ เพื่อสนับสนุนการพัฒนา ด้านสังคมและเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
"ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างมาตรการสร้างแรงจูงใจในการเพิ่มประสิทธิภาพของแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้มาตรการสร้างแรงจูงใจฯ มีความครบถ้วนและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น"
ด้าน ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า มาตรการสร้างแรงจูงใจเชิงบวกในการเพิ่มประสิทธิภาพของแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ครอบคลุมด้านกฎระเบียบและข้อตกลง ด้านการเงิน ด้านสังคม และด้านสนับสนุนการสร้างแรงจูงใจ รวม 12 มาตรการ 25 แนวทาง จะเป็นกลไกและเครื่องมือสำคัญของภาคป่าไม้ในการเพิ่มพื้นที่ป่า เพิ่มศักยภาพของแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่ป่า และลดภาวะโลกร้อนในระยะยาว ซึ่งมาตรการสร้างแรงจูงใจฯ นั้น จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งความร่วมมือระหว่างประเทศ ความร่วมมือด้านนโยบายของประเทศ ความร่วมมือด้านศักยภาพการดำเนินงาน และความร่วมมือด้านการติดตามประเมินผล เพื่อขับเคลื่อนและยกระดับมาตรการสร้างแรงจูงใจฯ ให้เป็นกรอบ แนวทาง แผนการดำเนินงาน วิธีการ และรูปแบบในการจัดการป่าของภาคส่วนต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
"เป็นความท้าทายของผู้เกี่ยวข้องที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการนำมาตรการสร้างแรงจูงใจเชิงบวกไปปฏิบัติและปรับใช้ ให้เป็นผลสำเร็จทั้งการอนุรักษ์ป่า การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และการเพิ่มพื้นที่ป่า รวมถึงต้นไม้ในการเป็นแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจกและการให้บริการของระบบนิเวศป่าไม้ตลอดจนรักษาไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ และคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างสมดุลและยั่งยืนต่อไป"