โดย - ดร.อุดม หงส์ชาติกุล
ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้านการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ การสร้างชุดภาพอนาคต
ผู้ก่อตั้ง Social Lab ประเทศไทย
1st Cohort Fellow ของ Academy for Systems Change
ปัญหาเรื่องการระบาดของ COVID-19 เป็นปัญหาเชิงระบบที่ซับซ้อน ด้วยองค์ความรู้และศาสตร์เรื่องโรคระบาดที่โลกมีมาอย่างยาวนาน เราจึงมีการประเมิน มีมาตรการต่างๆ ที่ยังพอจะจัดการไม่ให้เกิดความสูญเสียชีวิตอย่างมากมายเหมือนการระบาดในอดีต อย่างไรก็ดี ด้วยสภาวะสังคมที่ต่างออกไป มีปัจจัยมากมายที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาด และยากต่อการควบคุม ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางระหว่างประเทศ การติดต่อปฏิสัมพันธ์กัน รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึง ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ รวมถึงการรับข่าวสารที่ไม่มีแหล่งข้อมูลอ้างอิง และ Fake News ต่าง ๆ
๐ เริ่มเร็วจบช้า VS เริ่มช้าจบเร็ว
องค์ความรู้ด้านการแพร่ระบาด ได้มีคาดการณ์ไว้ไปในแนวทางเดียวกันหมด รวมถึงการคาดการณ์จากผู้รู้ด้านระบาดวิทยาในประเทศไทย มีความเห็นตรงกันว่า การแพร่ระบาดจะเกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างแน่นอน เพียงแต่เราต้องพยายามอย่างดีที่สุดให้การแพร่ระบาดเข้าสู่ระยะที่ 3 ช้าที่สุด ทั้งนี้ เพื่อให้มีเวลาในการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ให้พร้อมมากที่สุด ซึ่งรวมถึงประวิงเวลาเพื่อให้เรามีทรัพยากรด้านต่างๆ เช่น มียาเพียงพอที่จะรักษาผู้ป่วย ด้วยเหตุนี้ปัญหาเรื่อง COVID-19 จึงเป็นไปในรูปแบบที่มี 2 ทางเลือก ที่เรียกได้ว่า “เริ่มเร็วจบช้า หรือ เริ่มช้าจบเร็ว” โดยหากการแพร่ระบาดเข้าสู่ระยะที่ 3 เร็วเท่าไหร่ ปัญหาการรับมือก็จะยิ่งใหญ่มากขึ้นเท่านั้น หรืออาจไปถึงขั้นที่เรียกว่าไม่สามารถรับมือได้ ดังที่ขณะนี้กำลังเกิดขึ้นที่ประเทศอิตาลี อิหร่าน และสหรัฐอเมริกา
ในขณะนี้เมื่อผู้ป่วยติดเชื้อ สิ่งดีที่สุดที่ทำได้คือ การรักษา (ตามอาการ) ด้วยยาที่ไม่ได้ถูกคิดมาเพื่อรักษา COVID-19 สำหรับวัคซีนที่จะใช้ป้องกัน COVID-19 นั้น ยังไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าจะมีเมื่อไหร่ ทั้งนี้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา การผลิตวัคซีนใหม่จะใช้เวลาไม่เร็วกว่า 12 เดือน และอาจจะยาวนานไปถึง 24 เดือน นั่นหมายความว่าโลกเราจะต้องเผชิญอยู่กับความท้าทายของ COVID-19 ต่อไปอีกระยะหนึ่ง
ภาพ - ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้านการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ การสร้างชุดภาพอนาคต
๐ “เมื่อไหร่จะจบ” และหลัง COVID19 ชีวิตเราจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
เรื่องที่สำคัญเกี่ยวกับปัญหาเรื่องการแพร่ระบาด COVID-19 มีอีกหนึ่งเรื่องที่เกี่ยวข้องกันคือมาตรการต่างๆ ที่ประเทศต่างๆ กำลังใช้ในการจัดการกับการแพร่ระบาด ซึ่งมีเพื่อวัตถุประสงค์ในการหยุดการแพร่ระบาด ลดการสูญเสียให้ได้มากที่สุด ซึ่งมาตรการต่างๆ นี้ ก็ได้เปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดการเดินทาง การใช้ชีวิตประจำวัน การไปเรียนหนังสือ การไปทำงาน ซึ่งลดความสะดวกสบาย ลดอิสระในด้านต่างๆ ที่เคยมีมา ซึ่งได้สร้างความลำบาก อึดอัด อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เป็นคำถามที่ผมโดนถามมาตั้งแต่เริ่มมีการรับรู้ถึงการแพร่ระบาดของ COVID-19 คือคำถามที่ว่า COVID-19 เมื่อไหร่จะจบ งานนี้ยาวไหม ทั้งนี้เพราะได้รับผลกระทบในด้านต่าง ๆ รวมถึงด้านเศรษฐกิจ รายได้ การดำเนินชีวิต และมีความต้องการที่จะกลับไปใช้ชีวิตที่เรียกว่า “การดำเนินชีวิตแบบปกติ” ซึ่งมีนักคิด นักวิชาการหลายท่านพยายามตั้งคำถามว่า ที่ผ่านมามนุษย์เราดำเนินชีวิตแบบปกติจริงหรือไม่ หรือมนุษย์เรากำลังร่วมกันสร้างปัญหาให้โลกใบนี้อยู่หรือเปล่า
๐ ชัยชนะเล็ก VS เอาอยู่
จากข่าวสารที่หลายๆ ประเทศมีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงซึ่งเป็นข่าวที่ดี เป็นชัยชนะเล็กๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นชัยชนะที่ยั่งยืน แท้จริงนั่นเพียงเป็นเรื่องการสามารถจำกัดการแพร่ระบาด ลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลงจนเหลือศูนย์ รวมถึงมีทรัพยากรที่เพียงพอต่อการดูแลผู้ติดเชื้อ มิได้หมายความว่าจะไม่มีการแพร่ระบาดอีก มิได้หมายความว่าเรา “เอาอยู่” แล้ว
จึงเป็นเรื่องที่เสี่ยงที่จะเกิดการระบาดซ้ำเป็นอย่างยิ่ง หากเราจะกลับไปดำเนินชีวิตแบบปกติ (Business As Usual) ใช้ชีวิตอย่างไม่ระมัดระวัง ทั้งนี้ จนกว่าที่เราจะมีวัคซีนที่ใช้สำหรับ COVID-19 ซึ่งในปัจจุบันเรายังไม่มีวัคซีน ยังไม่มีวิธีการที่จะป้องกัน COVID-19 ไม่ให้แพร่ระบาดได้ การแพร่ระบาดจึงสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้น กับคำถามที่ว่า “เมื่อไหร่จะจบ?” คำตอบคือ “เมื่อเรามีวัคซีนสำหรับ COVID-19 อย่างเพียงพอครับ” ตราบใดที่เรายังไม่มีวัคซีนเท่ากับว่าเรายังไม่รู้จัก COVID-19 อย่างแท้จริง ยังไม่มีการยืนยันทางวิชาการอย่างเป็นทางการว่า COVID-19 คือไวรัสอะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร และการผลิตวัคซีนโดยปกติจะใช้เวลาอย่างน้อย 12 เดือน และอาจจะถึง 24 เดือน ดังนั้น การผ่อนปรนมาตรการต่างๆ หลังจากที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงจึงเป็นเพียงชัยชนะเล็กๆ เท่านั้น และยังคงต้องระมัดระวังกันอย่างต่อเนื่องต่อไป
เรื่องนี้เองตรงกับศาสตร์ด้านกระบวนการสร้างการเปลี่ยนแปลง คือเมื่อผู้นำมีความคิดที่สร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ และได้เริ่มดำเนินการขับเคลื่อนร่วมกันกับผู้มีส่วนได้เสียรอบข้าง ด้วยความตระหนักรู้ถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเปลี่ยนแปลง ด้วยความร่วมมือและความมุ่งมั่นตั้งใจที่ดี ก็จะมีโอกาสและสามารถสร้างให้เกิดการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงได้ไม่ยากนัก
ด้วยความพยายาม และความเหนื่อยยากในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง "หลุมพราง หรือกับดักสำคัญ" ที่ผู้นำ และนักขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ต้องพึงระวังเสมอคือ “การประกาศชัยชนะเร็วเกินไป หรือด่วนประกาศชัยชนะ” จะทำให้การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเพียงกิจกรรมชั่วครั้งคราว และหลายครั้งปัญหาที่เริ่มจะหมดไปก็กลับมาใหม่ หรือปัญหาอาจจะมากกว่าเดิม
ความท้าทายคือ จะทำอย่างไรให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริงอย่างยั่งยืน ซึ่งนั่นหมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่รากฐาน ค่านิยม วัฒนธรรม วิถี พฤติกรรมการดำเนินชีวิต
๐ โลกหลัง COVID-19 (Post-COVID-19 era) ปัญหาหรือโอกาส ความท้าทายของทุกคน
ความซับซ้อนของปัญหาวิกฤติ COVID-19 เป็นวิกฤติของโลก ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางอย่างที่เราไม่เคยพบมาก่อน และไม่มีใครสามารถคาดได้ว่าจะจบเมื่อไหร่ จะจบอย่างไร จะมีผลกระทบขนาดไหน ขณะนี้เริ่มมีการพูดถึงโลกหลังจากการแพร่ระบาด COVID-19 (Post-COVID-19) กันบ้างแล้ว อะไรน่าจะเป็นโอกาส อะไรที่น่าจะต้องระมัดระวังต่อไปในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีและควรมีการศึกษากันอย่างกว้างขวางเพื่อเตรียมการในด้านต่างๆ ต่อไป ซึ่งแน่นอนโลกใบนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป การดำเนินชีวิตของมนุษย์จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป โลกจะไม่มีวันที่เราจะกลับไปเป็นเหมือนเดิม จากผลกระทบที่มีอยู่มากมาย ทั้งด้านร่างกายและด้านจิตใจ
สิ่งที่ผู้นำและทุกคนต้องคิดตั้งแต่วันนี้ ในตอนนี้คือผลกระทบในระยะสั้น ด้านร่างกาย ความเป็นอยู่ เรื่องปากท้อง เรื่องเศรษฐกิจ ด้านสภาพจิตใจ ความรู้สึกปลอดภัยซึ่งจะเป็นปัญหาที่จะส่งผลกระทบกันต่อเนื่องต่อไปในอีกหลากหลายมิติ รวมถึงต้องเริ่มคิดถึงมาตรการที่จะรองรับในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ทั้งด้านสังคม เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และด้านนโยบายการเมือง
•สิ่งที่ทุกคนเริ่มทำได้ด้วยตนเองคือการทำความเข้าใจว่า เรื่องการแพร่ระบาด การป้องกัน ดูแลปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงการใช้ชีวิต เตรียมตัวสำหรับสถานการณ์ที่อาจยืดเยื้อยาวนาน จะใช้ชีวิตกินอยู่อย่างไร ในด้านธุรกิจ มองหาโอกาสในการที่จะปรับเปลี่ยนธุรกิจ มีอะไรที่เราน่าจะทำได้ในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ ทำอย่างไรให้ลดผลกระทบกับทีมงาน คู่ค้าและองค์กร
•ในด้านสังคมชุมชนทำอย่างไรให้เกิดความร่วมมือ ความไว้วางใจ เชื่อมโยง ช่วยเหลือและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
•ในระดับประเทศทำอย่างไรให้เกิดความเชื่อมั่น ในสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำทำอย่างไรให้คนโดยทั่วไปรู้สึกถึงความปลอดภัย มาตรการที่ฟื้นฟูสังคม สภาพจิตใจ รวมถึงการสร้างให้เกิดความร่วมมือจากทุกฝ่าย มีความพร้อมที่จะร่วมกันเดินหน้าต่อไป