สถานการณ์ภัยแล้งในฤดูกาลปี 2563 (มกราคม-เมษายน 2563) ได้เกิดขึ้นเร็วกว่าปีก่อน และส่อเค้าความรุนแรง ยาวนานมากขึ้น จากปริมาณน้ำในเขื่อนที่ลดลงร้อยละ 33.1 (YoY) ซึ่งเป็นการลดลงในแทบทุกภาคของประเทศ และยังเป็นระดับน้ำที่วิกฤติกว่าปี 2558 ที่เกิดภัยแล้งรุนแรงอีกด้วย
ข้าว มันสำปะหลัง และอ้อย เป็นพืชฤดูแล้งที่ได้รับผลกระทบจากผลผลิตเสียหายหนักที่สุด ซึ่งอาจช่วยผลักดันราคาพืชฤดูแล้งกลุ่มนี้ให้ปรับตัวขึ้นได้ในระยะสั้น แต่ด้วยแรงฉุดด้านผลผลิตที่ลดลง จะเป็นปัจจัยฉุดรายได้เกษตรกรในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 ให้หดตัวอยู่ในกรอบร้อยละ 0.5-1.0 (YoY) ซึ่งนอกจากภัยแล้งจะกระทบต่อภาคการผลิตในประเทศแล้ว ยังส่งผลต่อเนื่องถึงภาคการส่งออกที่อาจขาดแคลนผลผลิตเพื่อการส่งออก ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่ความต้องการในตลาดโลกชะลอตัวลง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลกระทบในเบื้องต้นของสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2563 อาจทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 17,000-19,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นราวร้อยละ 0.10-0.11 ของ GDP ทั้งนี้ ยังต้องติดตามระดับความรุนแรงของภัยแล้งโดยเฉพาะในเดือนมีนาคม-เมษายน และระยะเวลาการเกิดภัยแล้งที่อาจลากยาวไปในช่วงแล้งนอกฤดูกาล จนไปกระทบต่อภาพรวมความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งปีนี้ให้อยู่ในภาวะวิกฤติมากขึ้น
เป็นเรื่องที่น่ากังวลใจไม่น้อย สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งในฤดูปี 2563 ที่ในขณะนี้ได้เกิดขึ้นเร็วกว่าปีก่อน (ฤดูร้อนปี 2562 ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาคือ ตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ.2562) และถ้าหากย้อนกลับไปในปี 2562 ก็จะพบว่า ประเทศไทยประสบภาวะภัยแล้งอย่างหนักจากปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงฤดูแล้ง เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง และเมื่อถึงฤดูฝนก็มีฝนตกน้อยซ้ำเติมไปอีก จนทำให้ระดับน้ำต้นทุนในเขื่อนที่กักเก็บเอาไว้ใช้สำหรับฤดูแล้งปี 2563 น้อยตามไปด้วย
สัญญาณการขาดแคลนน้ำจึงเริ่มปรากฎให้เห็นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 และส่งผลกระทบต่อเนื่องมาในปี 2563 ที่ส่อเค้าความรุนแรงและยาวนานมากขึ้นกว่าปีก่อน จากอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญที่ยังคงมีอยู่ พิจารณาได้จาก ระดับน้ำในเขื่อน ณ 16 ม.ค.2563 ที่มีปริมาตรน้ำใช้การได้ในเขื่อนทั้งประเทศอยู่ที่เพียง 19,693 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือลดลงร้อยละ 33.1 (YoY) ซึ่งเป็นการลดลงในแทบทุกภาคของประเทศ อีกทั้งยังเป็นระดับน้ำที่ต่ำกว่าปี 2558 ที่เกิดภัยแล้งรุนแรงซึ่งมีระดับน้ำอยู่ที่ 20,664 ล้านลูกบาศก์เมตร
นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่าในระยะ 3 เดือนนี้ (ม.ค.-มี.ค.2563) ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งประเทศอาจต่ำกว่าค่าปกติราวร้อยละ 10 รวมถึงอุณหภูมิเฉลี่ยจะสูงกว่าค่าปกติราว 0.5 องศาเซลเซียส ทำให้คาดว่าสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2563 น่าจะมีความรุนแรงมากขึ้นกว่าปีก่อน จนกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรที่จะเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูแล้งนี้ให้ลดลง รวมถึงส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังรายได้เกษตรกรให้ต้องเผชิญความยากลำบาก
ดังนั้น จากความแห้งแล้งที่ส่อเค้าความรุนแรงตั้งแต่ในขณะนี้ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภัยแล้งในฤดูกาลปี 2563 (มกราคม-เมษายน) ที่อาจทำให้เกิดความแห้งแล้งเร็วขึ้นและรุนแรงกว่าปีก่อน จะส่งผลกระทบต่อพืชเกษตรฤดูแล้ง รายได้เกษตรกร และมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ดังนี้
ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง และอ้อย เป็นพืชที่ได้รับผลกระทบหนักสุดจากปัญหาภัยแล้งโดยเฉพาะข้าวนาปรังที่เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญและส่วนใหญ่ต้องอาศัยน้ำในเขื่อนเป็นหลัก จึงเป็นพืชที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในวงกว้าง เนื่องจากตรงกับฤดูกาลเก็บเกี่ยวซึ่งมีผลผลิตออกสู่ตลาดเกินกว่าครึ่งของผลผลิตทั้งปี อีกทั้งผลผลิตพืชเกษตรเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภัยแล้งในปี 2563 (ม.ค.-เม.ย.2563) น่าจะสร้างความเสียหายทำให้ผลผลิตลดลงอยู่ในกรอบร้อยละ 4.0-6.0 (YoY) จนมีผลทำให้ราคาพืชเกษตรในช่วงฤดูแล้งปรับเพิ่มขึ้นในทุกรายการ โดยข้าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2-11.4 (YoY) มันสำปะหลังเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3-5.4 (YoY) และอ้อยเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.0-29.7 (YoY) ส่งผลต่อรายได้เกษตรกรในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 ให้อาจหดตัวอยู่ในกรอบร้อยละ 0.5-1.0 (YoY) โดยเป็นผลจากแรงฉุดด้านผลผลิตเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในช่วงที่เกิดภัยแล้งในฤดูกาลจะช่วยดันราคาในประเทศให้สูงขึ้นได้ แต่หากพิจารณาในด้านการส่งออก อาจต้องประสบปัญหาการขาดแคลนผลผลิตเพื่อการส่งออก ท่ามกลางภาวะที่ความต้องการในตลาดโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ก็อาจส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรกลุ่มนี้ให้ภาพที่ไม่ดีนัก
ผลกระทบต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจในช่วงภัยแล้งในฤดูกาล (ม.ค.-เม.ย.2563) โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจอาจอยู่ที่ราว 17,000-19,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.10-0.11 ของ GDP ซึ่งเป็นการประเมินความเสียหาย ของข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง และอ้อยเป็นหลัก อีกทั้งยังมองว่า ภัยแล้งในฤดูกาลปี 2563 น่าจะวิกฤติมากกว่าปี 2562 และน่าจะวิกฤติมากกว่าปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่มีภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปีอีกด้วย
ทั้งนี้ ในการประเมินครั้งนี้จะเป็นการประเมินในเบื้องต้น ซึ่งหากรวมผลเสียหายของพืชเศรษฐกิจอื่น และระดับความรุนแรงของภัยแล้งที่มากขึ้น ก็อาจทำให้มีมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่าที่ประเมินไว้ อย่างไรก็ตาม คงต้องฝากความหวังไว้กับนโยบายประกันรายได้เกษตรกรของรัฐบาลที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ก็อาจช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจให้อยู่ในวงจำกัดได้
ต้องติดตามระดับความรุนแรงของสถานการณ์ภัยแล้งในฤดูกาลอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.2563 ที่น่าจะแล้งจัดและเป็นช่วงที่มีผลผลิตข้าวนาปรังออกสู่ตลาดจำนวนมากจนอาจกระทบต่อผลผลิตข้าวที่เสียหาย รวมถึงอาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง และระยะเวลาภัยแล้งที่อาจลากยาวต่อเนื่องถึงช่วงกลางปีนี้ได้ จากอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญที่ยังคงมีอยู่ต่อเนื่องจากปีก่อน ซึ่งคงต้องจับตาสถานการณ์ภัยแล้งต่อไป ถ้าหากลากยาวไปจนถึงเดือนพ.ค.2563 ซึ่งเป็นช่วงภัยแล้งนอกฤดูกาล ก็อาจกระทบต่อฤดูกาลเพาะปลูกข้าวนาปีและสร้างความความสูญเสียทางเศรษฐกิจของภาพรวมทั้งปีนี้ให้อยู่ในภาวะวิกฤติมากขึ้นไปอีก
ดังนั้น คงต้องมีการติดตามระยะเวลาและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นระยะ และอาจต้องมีการทบทวนตัวเลขความเสียหายตามความเหมาะสมต่อไป รวมถึงต้องติดตามสภาพอากาศในช่วงระยะข้างหน้า เนื่องจากความรุนแรงของภัยแล้งมีระดับไม่เท่ากันในแต่ละเดือน