xs
xsm
sm
md
lg

“ปลัดอุตสาหกรรม” ปลื้มวิศวกรคนไทยรับรางวัลนวัตกรรมสิ่งแวดล้อมระดับโลก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ UN Environment ร่วมกับ องค์กร ASHRAE ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศผลรางวัล “ASHRAE- UN Environment 2019 Lower GWP Refrigeration and Air-Conditioning Innovation Award” ให้ โครงการ Crocodile ซึ่งเป็นผลงานของทีมวิศวกรไทย โดยเป็น 1 ใน 5 โครงการ ที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติระดับโลก ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยเป็นอย่างยิ่งกระทรวงอุตสาหกรรมขอแสดงความยินดีกับกลุ่มวิศวกรคนไทยที่คิดค้นโครงการ Crocodile จนได้รับรางวัลระดับโลก โดยมี นายวรท ล้ำเลิศพงศ์พนา, นายวัลลภ ล้ำเลิศพงศ์พนา, นายจิตรกร สุขเจริญ และนายกิตติธัช ชำนาญวาด จากกลุ่มบริษัท ไอ.ที.ซี
“โครงการ Crocodile เป็นระบบทำความเย็นและปรับอากาศระบบแรกในประเทศไทย และประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ใช้คาร์บอนไดออกไซด์เป็นสารทำความเย็นทั้งหมดโดยไม่มีสารทำความเย็นอื่นเจือปน และเป็นระบบแรกในโลกที่นำการสกัดสารโดยใช้คาร์บอนไดออกไซด์ที่สภาวะเหนือจุดวิกฤตมาร่วมกันกับระบบทำความเย็นเป็นระบบปิดระบบเดียว โดยคาร์บอนใดออกไซด์เป็นสารทำความเย็นที่มีค่าศักยภาพในการทำให้โลกร้อน (GWP) เท่ากับ 1 ซึ่งถือว่าต่ำมาก (เมื่อเทียบกับสารทำความเย็นที่ใช้กันทั่วไป เช่น R 410A ที่มีค่าGWP เท่ากับ 2088) ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน และเป็นสารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม เช่น โครงการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้วยหลักการ BCG ที่ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด เป้าหมายเพื่อที่จะบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการป้องกันการเกิดมลพิษและช่วยลดการใช้พลังงาน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น”

กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม แสดงความยินดีกับ นายวรท ล้ำเลิศพงศ์พนา, นายวัลลภ ล้ำเลิศพงศ์พนา, นายจิตรกร สุขเจริญ และนายกิตติธัช ชำนาญวาด จากกลุ่มบริษัท ไอ.ที.ซี กลุ่มวิศวกรคนไทยที่คิดค้นโครงการ Crocodile
กอบชัย กล่าวว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ประเทศไทยได้รับรางวัลนี้ คือ การออกแบบให้เป็นระบบที่มีของเสียเป็นศูนย์จริง ๆ หรือ Zero Waste โดยใช้คาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นของเสียทางอุตสาหกรรมมาเป็นสารทำความเย็น และใช้คาร์บอนไดออกไซด์ ที่สภาวะเหนือจุดวิกฤตมาเป็นตัวทำละลายในระบบสกัดสาร (Extraction) ทำให้สามารถนำของเสียจากการเกษตรกรรมเช่น เปลือกมังคุด เปลือกทุเรียน เปลือกมะม่วง แม้กระทั่งก้านหรือใบกระเพรา หรือสมุนไพรอื่น ๆ อีกหลายอย่างมาสกัดสาร เพื่อได้สารสำคัญที่จะได้มูลค่าทางเศรษฐกิจ และมีคุณค่าทางยาได้ หรืออีกนัยหนึ่ง อาหาร คือ ยา (Food Healthy)
นอกจากนี้ยังมีการนำพลังงานจากความร้อนที่เกิดขึ้นในระบบที่ปกติจะถูกระบายทิ้งสู่บรรยากาศ มาใช้ทำน้ำร้อนเพื่อใช้ในอาคาร โดยสามารถทำน้ำร้อนได้ถึงอุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส ทำให้ระบบนี้ไม่มีการสูญเสียพลังงาน (Net Zero Energy)
“อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ คือ ออกแบบให้เดินระบบทำความเย็นใช้ได้ทั้งกลางวันและกลางคืน โดยเฉพาะตอนกลางคืนที่มีบรรยากาศเย็นและค่าไฟถูก จะเก็บพลังงานความเย็นเพื่อใช้ในตอนกลางวัน โดยใช้เทคโนโลยี Cooling Batt ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นผลพวงจากการส่งเสริมและสนับสนุนจากทุกภาคส่วนในสังคม ที่ต้องการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ จนได้รับรางวัลและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซี่งถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จและความภาคภูมิใจของคนไทย” กอบชัย กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น