ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ประชาชนทั้งชาวไทยและต่างชาติ ตอบรับแคมเปญ “Everyday Say No To Plastic Bags” อย่างคึกคัก หลังจากเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อต่างๆ เริ่มงดให้ “ถุงพลาสติกหรือถุงก๊อบแก๊บ” แบบใช้ครั้งเดียวทิ้งที่ก่อผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น สังคมปลอดขยะ (zero Waste Society) ภายใต้โรดแมปการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573
สำหรับการรณรงค์งดใช้ถุงพลาสติก ตั้งเป้ายกเลิกการใช้พลาสติกประเภทครั้งเดียวทิ้ง 4 ชนิด ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้ว, หลอดพลาสติก, แก้วพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง และกล่องโฟม ให้หมดไปจากประเทศไทยภายในปี 2564
ย้อนกลับไป 20 กว่าปีที่ผ่านมา มีการนำพลาสติกและโฟมมาใช้มากขึ้นในรูปแบบของบรรจุภัณฑ์ต่างๆ มีการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วถึงจำนวน 45,000 ล้านใบต่อปี โฟมบรรจุอาหาร 6,758 ล้านใบต่อปี แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง 9,750 ล้านใบต่อปี ซึ่งบรรจุภัณฑ์เหล่านี้เป็นวัสดุที่ย่อยสลายยาก ใช้ระยะเวลายาวนานกว่า 400 ปี อีกทั้งการจัดการที่ไม่ถูกต้องยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางบกและทางทะเล
ทั้งนี้ ปัจจุบันคนไทยสร้างขยะประมาณ 27.8 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 76,200 ตันต่อวัน โดยเฉลี่ย 1 คน สร้างขยะ 1.17 กก.ต่อวัน มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้ 9.58 ล้านตัน (ร้อยละ 34) กำจัดได้อย่างถูกต้อง 10.88 ล้านตัน (ร้อยละ 39) และส่วนที่เหลืออีกประมาณ 7.36 ล้านตัน (ร้อยละ 27) ยังกำจัดไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะการกำจัดแบบเทกองหรือเผากลางแจ้ง การลักลอบทิ้งในพื้นที่สาธารณประโยชน์ และการทิ้งลงสู่แหล่งน้ำ
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ระบุว่าการงดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วและพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายภาคเอกชน ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ตลอดจนร้านสะดวกซื้อ กว่า 75 บริษัท ทั่วประเทศ และคาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ภายใต้โครงการ Everyday Say No To Plastic Bags โดยช่วงนำร่อง 5 - 6 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ไทยลดการใช้ถุงพลาสติกลงกว่า 2,000 ล้านใบ หรือ 5,755 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 400 ล้านบาท ถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่มีถุงพลาสติกดีขึ้นจากอันดับ 5 ไปสู่อันดับที่ 10
แน่นอนว่า หากดำเนินการอย่างจริงจังหลังดีเดย์ 1 มกราคม 2563 คาดว่าการรณรงค์งดใช้ถุงพลาสติกจะลดปริมาณขยะถุงพลาสติกหูหิ้วลดลง 45,000 ล้านใบต่อปี ส่งผลให้ปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัดลดลง 225,000 ตันต่อปี เท่ากับว่ารัฐจะประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอยได้ 340 ล้านบาทต่อปี รวมทั้ง ประหยัดพื้นที่รองรับและกำจัดขยะมูลฝอยในการฝังกลบได้ประมาณ 616 ไร่
ทั้งนี้ ห้างฯ ร้านสะดวกซื้อต่างๆ จะงดให้บริการถุงพลาสติกหูหิ้ว ลักษณะเป็นถุงพลาสติกที่มีความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน เป็นแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ส่วนถุงพลาสติกแบบอื่น เช่น ถุงร้อนใส่อาหาร ใส่ข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว หรือพลาสติกหุ้มอาหารและของแช่แข็ง และพลาสติกหูหิ้วหนาๆ ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้จะยังคงใช้ต่อไป จนกว่าจะมีวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมใช้ทดแทนได้อย่างเพียงพอ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะพิจารณามาตรการด้านภาษีสำหรับสินค้านวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมด้วย
กล่าวสำหรับ ทส. ได้ระบุสินค้าผ่อนผันที่ยังสามารถใช้ถุงพลาสติกได้อยู่ 4 ชนิด ได้แก่ อาหารที่ต้องอุ่นร้อน, อาหารเปียก, เนื้อสัตว์ และผลไม้
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญต่อการจัดการปัญหาขยะ มีมติเห็นชอบ “แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ. 2559 - 2564” ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นสังคมปลอดขยะ หรือ Zero Waste Society ภายใต้แนวคิด 3Rs ส่งเสริมการจัดการขยะในทุกห่วงโซ่อุปทานครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ประกอบด้วย การลดปริมาณขยะ (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)
โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายการลดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ภายในปี 2564 ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี 2570 ซึ่งจะช่วยลดปริมาณพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดได้ประมาณ 780,000 ตันต่อปี ประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอย 3,900 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1,200,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์
สำหรับวัสดุทดแทนถุงพลาสติกเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย สถาบันพลาสติก อยู่ระหว่างหาแนวทางการใช้วัสดุทดแทนพลาสติกและส่งเสริมการนำพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) รวมทั้ง ศึกษาความเป็นไปได้สำหรับกระบวนการ pyrolysis ในการหลอมขยะพลาสติกให้เป็นน้ำมัน และนำน้ำมันมาผลิตเม็ดพลาสติก พร้อมจัดทำกฎหมายเพื่อใช้ในการบริหารจัดการขยะ พลาสติก โดยการทบทวน ปรับปรุง (ร่าง) พ.ร.บ.ส่งเสริมการลดและนำของเสียมาใช้ประโยชน์ พ.ศ. …เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
ขณะที่ ผลสำรวจเผยว่าประชาชน 90% เห็นด้วยกับนโยบายงดแจกถุงฯ รวมทั้ง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมพกถุงผ้าสำหรับใส่สินค้าต่างๆ กันบ้างแล้ว ขณะเดียวกันผู้ประกอบการได้เตรียมมาตรการรองรับ เพื่อลดผลกระทบและอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า แต่ต้องยอมรับว่ายังเตรียมการไม่ครอบคลุม เช่น การเตรียมบริการถุงกระดาษ ซึ่งไม่ใช่ทุกที่ๆ จะพร้อมให้บริการ, การจำหน่ายถุงผ้าราคาถูกสำหรับใช้งานระยะยาว หรือหากจำเป็นต้องรับถุงพลาสติกหูหิ้ว ผู้บริโภคต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยนำเงินที่ได้เข้าร่วมกองทุนด้านสิ่งแวดล้อม หรือบริจาคให้กับโรงพยาบาลหรือมูลนิธิต่างๆ ต่อไป เป็นการปรับพฤติกรรมผู้บริโภค รวมทั้ง การให้แต้มสะสมคะแนน เมื่อไม่รับถุง เป็นต้น
สำหรับวิกฤตขยะพลาสติกเป็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งสัตว์ทะเล สัตว์บก และ มนุษย์ อย่างมหาศาล รอบปี 2562 ที่ผ่านมา มีสัตว์ทะเลหายากและสัตว์ป่าจำนวนมากสังเวยชีวิตให้ขยะพลาสติก โดยเฉพาะกรณีการเสียชีวิตของ พะยูนน้อย “มาเรียม” ที่สร้างความตระหนักในการจัดการขยะพลาสติกในเมืองไทยเป็นอย่างมาก
อ้างอิงข้อมูลจากกรีนพีซระบุว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศแถบเอเชีย ซึ่งก่อมลพิษพลาสติกในทะเลมากถึง 60% ของขยะพลาสติกที่ถูกปล่อยทั้งหมดลงทะเลทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วในประเทศไทย จากกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่ามีการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วจำนวนมหาศาลถึง 45,000 ล้านใบต่อปี และเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ มีการใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ยคนละ 8 ใบต่อปี ทําขยะพลาสติกเพิ่มปริมาณมากถึง 80 ล้านใบต่อวัน
โดยบรรดาถุงพลาสติกหูหิ้วมาจาก 3 แหล่งใหญ่ 1. ตลาดสด เทศบาล เอกชน และแผงลอย กว่า 18,000 ล้านใบต่อปี คิดเป็น 40% 2. ร้านขายของชํา 13,500 ล้านใบต่อปี คิดเป็น 30% และ 3. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ 13,500 ล้านใบต่อปีเช่นกัน คิดเป็น 30%
ข้อมูลจากกรีนพีซ ประเทศไทย ระบุถึงขยะที่สามารถระบุที่มาได้ 5 อันดับแรก มาจากผลิตภัณฑ์ของกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ ได้แก่ 1.เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP, 7-Eleven) 2. โอสถสภา (เครื่องดื่ม, ผลิตภัณฑ์ความงาม, ลูกอม) 3. กลุ่มธุรกิจ TCP (เครื่องดื่ม, ขนมขบเคี้ยว) 4. เสริมสุข (เครื่องดื่มและน้ำดื่ม) และ 5. สิงห์คอร์เปอเรชั่น (เครื่องดื่มและน้ำดื่ม)
นอกจากนี้ ไทยยังเผชิญวิกฤตขยะพลาสติกข้ามแดน กรีนพีซ ระบุว่า ในช่วงปี 2560 - 2561 มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม เป็นประเทศผู้นำเข้าขยะพลาสติกเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ก่อนจะเร่งกำหนดระเบียบควบคุมการนำเข้าขยะทันที จนเส้นทางได้เปลี่ยนไปยังประเทศที่ไม่มีการควบคุมอย่างเข้มงวด อย่าง อินโดนีเซีย และตุรกี
ในปี 2561 ไทย นำเข้าขยะพลาสติกจากผู้ส่งออกหลักคือญี่ปุ่น สหรัฐฯ และฮ่องกง ช่วงต้นปี 75,000 ตันต่อเดือน และช่วงปลายปีลดเหลือ 35,000 ตันต่อเดือน พร้อมกันนี้ ไทยได้ประกาศห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะพลาสติก ภายในปี 2564
อย่างที่กล่าวในข้างต้นขยะพลาสติกเป็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ จากรายงาน “Throwing Away the Future: How Companies Still Have It Wrong on Plastic Pollution Solutions,” ของกรีนพีซ สหรัฐอเมริกา ระบุว่าแม้ผู้คนจะเริ่มมีความตื่นตัวสถานการณ์ขยะพลาสติกมากขึ้น แต่ปริมาณการผลิตยังไม่ลดลง ยังมีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งโลกถึง 8% ในกระบวนการผลิตพลาสติก และคาดว่าจะใช้เพิ่มขึ้นถึง 20% ภายในปี 2593
มีการคำนวณว่าการผลิตพลาสติกอีก 30 ปีข้างหน้า จะทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากถึง 5.6 หมื่นล้านตัน หรือราว 10 - 13% ของปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เราจะปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศได้ เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก
ด้านการจัดการพลาสติกได้อย่างเห็นผลในต่างประเทศ ยกตัวอย่าง ประเทศเดนมาร์ก ดำเนินการ 2 มาตรการหลัก ได้แก่ 1. กฎหมายเก็บภาษีถุงพลาสติกจากผู้ค้าปลีกตั้งแต่ปี 2546 เพื่อกดดันให้ร้านค้าปลีกคิดค่าธรรมเนียมถุงพลาสติกกับ ทำให้ลูกค้าหันมาใช้ถุงผ้าแทนหรือนำถุงพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งมาตรการนี้ทำให้เดนมาร์กลดการใช้ถุงพลาสติกได้ถึง 66%
และ 2. ระบบเก็บเงินมัดจำค่าขวดพลาสติกเพิ่มจากราคาสินค้าซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคนำขวดพลาสติกมาคืนเพื่อรับเงินที่มัดจำไว้ ขวดพลาสติกเหล่านี้ร้านค้าจะรวบรวมและนำไปรีไซเคิล ทำให้เดนมาร์กสามารถรีไซเคิลขวดพลาสติกได้ถึง 90% เป็นการจัดการที่ถือเป็นต้นแบบในหลายประเทศ อาทิ เยอรมนี, ไอร์แลนด์, สวีเดน, ออสเตรีย, จีน, ไต้หวัน, ฮ่องกง เกาหลีใต้ ฯลฯ
สำหรับการรณรงค์งดใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastic) ในเมืองไทย ภายใต้โรดแมปการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 - 2573 ด้านผู้ประกอบการ นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า สมาคมฯ ร่วมกับผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เกต ร้านสะดวกซื้อ และภาคีเครือข่ายสมาคมผู้ค้าปลีกไทยทั่วประเทศ ซึ่งปีที่ผ่าน เริ่มงดให้บริการถุงพลาสติก ทุกวันที่ 4 ของเดือน ตามนโยบาย ทส. ที่ผ่านมาลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วไปแล้วกว่า 2,000 ล้านใบ คิดเป็นมูลค่ากว่า 400 ล้านบาท แน่นอนว่า หากดำเนินการอย่างจริงจัง ปี 2563 จะสามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วได้มากถึง 9,000 ล้านใบต่อปี หรือคิดเป็น 20% ของขยะถุงพลาสติก
โดยฝากข้อเสนอแนะถึงรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนโรดแมปการจัดการขยะพลาสติกอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไป ดังนี้
- ภาครัฐต้องเร่งประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ประชาชนรับทราบและร่วมด้วยช่วยกันงดรับถุงพลาสติกหูหิ้วอย่างทั่วถึง จากข้อมูลการวิจัยผู้บริโภคในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีการรับรู้ต่อแคมเปญงดให้ถุงพลาสติกหูหิ้วที่จะเริ่มวันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป แต่ประชาชนในต่างจังหวัดยังรับทราบถึงการประชาสัมพันธ์ดังกล่าวน้อยมาก
- ภาครัฐควรศึกษาเส้นทางการจับจ่ายของลูกค้า (Customer Journey) อย่างเข้าใจและเข้าถึงเพื่อให้เกิดผลสูงสุด กล่าวคือจะต้องให้ผู้บริโภคตระหนักรู้ตั้งแต่อยู่บ้าน ที่ทำงาน หรือจุดเริ่มต้นของเส้นทางการจับจ่าย ซึ่งการประชาสัมพันธ์ ณ จุดขาย เป็นเพียงการแก้ที่ปลายเหตุเท่านั้น
- ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมแคมเปญ “EVERYDAY SAY NO TO PLASTICS BAGS” มีสัดส่วนเพียง 1 ใน 5 ขณะที่ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วในไทยมีมากถึง 45,000 ล้านใบต่อปี ภาครัฐต้องเร่งประชาสัมพันธ์ จัดกิจกรรมเชิญชวนให้ภาคส่วนอื่นๆ เข้าร่วม แคมเปญ นับตั้งแต่ร้านค้าปลีกอื่นๆ ตลาดสด เทศบาล เอกชน แผงลอย และร้านขายของชําทั่วประเทศ ซึ่งเป็นผู้ใช้ ปริมาณถุงพลาสติกหูหิ้ว อีก 4 ใน 5” ของปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วทั้งประเทศ
- ภาครัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอและชัดเจนในการทําโครงการรณรงค์ลด ละ เลิก การ ใช้ถุงพลาสติก หูหิ้ว และกำหนดโลโก้ “งดให้ถุงพลาสติกหูหิ้ว” เป็นสากลและมาตรฐานเพื่อที่ร้านค้าต่างๆ นำไปเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักรู้แก่ ผู้บริโภค ยกตัวอย่าง “ฉลากเบอร์ 5 ลดการใช้พลังงาน”
- ภาครัฐควรจัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมการลดใช้ งดใช้ถุงพลาสติกเป็นกาลเฉพาะ เพื่อให้ห้าง ร้านค้า ที่เข้าร่วมโครงการ นําเงินที่ผู้บริโภคบริจาคจากการต้องใช้ถุงพลาสติกในกรณีจําเป็น
- การลดขยะถุงพลาสติกหูหิ้ว ไม่ควรเป็นเรื่องของความสมัครใจ แต่ควรเป็นเรื่องของการใช้กฎระเบียบบังคับ เพราะสมาชิกสมาคมฯ ได้ดำเนินการเรื่องนี้มาเป็นระยะเวลามากกว่า 5 ปี โดยเป็นภาคสมัครใจและให้ผลประโยชน์ตอบแทนในรูปแบบต่างๆ แต่ก็ยังได้ผลน้อยมาก
- การจะแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกให้ได้ผล ภาครัฐต้องออกเป็นประกาศ กฎกระทรวง ให้มีผลบังคับใช้กับผู้บริโภคทุกคนทั่วประเทศ
-การประเมินผลสัมฤทธิ์ของแคมเปญ “Everyday Say No to Plastic Bags” (เริ่ม 1 ม.ค. 2562)ควรให้การดําเนินแคมเปญผ่านไปแล้ว 6 เดือน เพราะช่วง 6 เดือนแรก ร้านค้าและผู้บริโภคจะต้องปรับตัว ปรับพฤติกรรมให้เตรียมพร้อมในการจับจ่ายแต่ละครั้งด้วยการเตรียมถุงผ้าหรือถุงพลาสติกอื่นๆ ก่อนที่จะเดินเข้าร้าน
- ภาครัฐต้องประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 6 เดือนแรก เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นของโครงการ
หัวใจสำคัญของการรณรงค์งดใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastic) คือ ความร่วมมือจาก “ประชาชน” และ “ผู้ประกอบการ” ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ระยะแรกอาจมีปัญหาติดขัดต้องปรับตัวกันบ้าง ทั้งนี้ ในอนาคต ทส. จะประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการห้ามใช้ถุงพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งด้วย