xs
xsm
sm
md
lg

สนข.ดันชิฟโหมดเดินทางด้วยระบบราง ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สนข.ศึกษาและพัฒนาเครื่องมือวิเคราะห์ต้นทุนส่วนเพิ่มในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภาคคมนาคมขนส่ง เครื่องวัดความคุ้มค่า การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ตั้งเป้าปี 63 ไทยลดปล่อยลง 7% เชื่อทำได้ หากชิฟโหมดใช้ระบบรางมากกว่ารถยนต์ส่วนตัว

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาเพื่อเผยแพร่โครงการครั้งที่ 1 การปฐมนิเทศโครงการศึกษาและพัฒนาเครื่องมือวิเคราะห์ต้นทุนส่วนเพิ่มในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมาตรการและนโยบายด้านการขนส่ง เพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพว่า จากที่ประเทศไทยได้ลงนามในฐานะที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) การลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2560 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบ แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2564-2573 โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 7% เทียบกับการปล่อยในกรณีปกติ (Business as Usual) ในภาคพลังงานและคมนาคมขนส่ง ภายในปี 2563 และลดลง 20-25% ในปี 2573

สนข.ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และบริษัท พีเอสเค คอนซัลแทนส์ จำกัด ศึกษา ระยะเวลา 12 เดือน (มี.ค. 61 - มี.ค. 62) จัดทำเครื่องมือในการวัดค่าการปล่อยก๊าซเรือกระจก และการใช้พลังงาน เพื่อนำมาใช้ในการวางแผนลงทุนโครงการขนส่งมวลชนและโครงสร้างพื้นฐานว่ามีความคุ้มค่าในการลงทุนแค่ไหน สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เท่าไรงทุนเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะต้องรวมกับแผนการสนับสนุนส่งเสริมให้ใข้ระบบขนส่งสาธารณะในการเดินทางมากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาจาก 3 ส่วน คือ ด้านคมนาคมและพลังงาน, ด้านอุตสหกรรมและผลิตภัณฑ์, ด้านการจัดการของเสีย ซึ่งกระทรวงคมนาคมเกี่ยวข้องกับการขนส่งทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และอากาศ ซึ่งขณะนี้ในภาคพลังงานได้มีการพัฒนาการใช้เชื้อเพลิงที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปมาก ทั้งการใช้พลังงานทดแทน เชื้อเพลิงชีวภาพ โซลาร์เซลล์ เป็นต้น ซึ่งยังเชื่อว่าปี 2563 ไทยจะลดการปล่อยกาล๊าซเรือนกระจกที่ 7% ตามเป้า

อย่างไรก็ตาม ที่ปรึกษาจะลงรายละเอียดการพัฒนาโครงการต่างๆที่ภาครัฐจะลงทุน ซึ่งจากแผนปฎิบัติการยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคม ปี 2560-2564 จะมีการลงทุนด้านถนน, รถไฟ, รถไฟฟ้า, ทางน้ำ และทางอากาศ รวม 313 โครงการ โดยคัดเลือกโครงการขนาดใหญ่มาวิเคราะห์รายละเอียดในการศึกษาและคำนวนปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งระบบรางส่วนใหญ่จะมีการ shift mode หรือเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางซึ่งจะส่งผลต่อค่า CO2 ที่ออกมาด้วย

สำหรับภาคการคมนาคมขนส่ง ได้มีการประเมินศักยภาพรวมในปี 2573 ที่จะต้องลดก๊าซเรือนกระจกได้ 41 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยแบ่งเป็นมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคคมนาคมขนส่งที่ 31 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และมาตรการใช้เชื้อเพลงชีวภาพสำหรับยานพาหนะอีก 10 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งค่าเป้าหมายดังกล่าว ทำให้ภาครัฐต้องกระจายความร่วมมือไปในแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถดำเนินการแผนงานและโครงการที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ภายใต้หลักการการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมและมีกลไกการตรวจสอบตามกรอบของระบบตรวจวัด รายงาน และทวนสอบโครงการ (Measurement, Reporting and Verification, MRV) ต่างๆ ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น