xs
xsm
sm
md
lg

กพท.ติวแอร์ไลน์ ปรับตัวรับมาตรการ ICAO ชดเชยค่าปล่อยก๊าซคาร์บอน หวั่นทำต้นทุนพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กพท.ติวเข้มสายการบินระหว่างประเทศ เตรียมพร้อมรับประกาศ ICAO มาตรการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตั้งค่าปริมาณการปล่อยปี 63 เป็นฐาน และตั้งแต่ปี 64 หากปล่อยก๊าซเกินต้องชดเชย หวั่นหากไม่เตรียมพร้อมจะเป็นภาระทำต้นทุนสายการบินเพิ่ม

นายศรัณย เบ็ญจนิรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ กพท. (CAAT) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 เป็นต้นไปองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) จะออกมาตรการชดเชยและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคการบินระหว่างประเทศ หรือ CORSIA และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี 2562 ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคการบินระหว่างประเทศด้วยหลักการ CNG 2020 โดยกำหนดระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2020 (พ.ศ. 2563) เป็นฐาน ซึ่งหลังจากนั้นภาคการบินระหว่างประเทศต้องรักษาระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไว้ให้ไม่เกินกว่าที่กำหนดไว้ในปี 2020 หากปล่อยก๊าซเรือนกระจายในปริมาณที่สูงกว่าฐานปี 2020 จะต้องชดเชย

ประเทศไทยได้ประกาศเข้าร่วมมาตรการในการประชุมสมัชชาองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ครั้งที่ 39 โดยจะบังคับใช้กับสายการบินที่มีเส้นทางบินระหว่างประเทศทั้งหมด ซึ่งสายการบินต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน จึงต้องเตรียมความพร้อมภายใต้มาตรการชดเชยและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคการบินระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ กพท.ได้เชิญบริษัท แอร์บัส (AIRBUS) นักวิชาการ และผู้แทนจากสายการบินต่างๆ เข้าร่วมประชุมเพื่อรับมือกับมาตรการดังกล่าว ตามคำแนะนำ 5 วิธีการ ให้สามารถจัดระบบการตรวจวัด รายงานผลและประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกับสายการบินในประเทศไทย โดยเลือก 2 สายการบินที่มีความแตกต่าง คือ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่มีเครื่องบินหลายแบบ บริการ Full Setrvice และสายการบินไทยแอร์เอเชีย มีเครื่องบินแบบเดียว บริการโลว์คอสต์ เข้ามาเรียนรู้และวัดผล เพื่อเป็นต้นแบบ และแนวทางปฏิบัติในเบื้องต้น

“สายการบินมีเวลา 6 เดือนทำให้ต้องดึงแอร์บัสมาช่วย เพราะทางยุโรปมีมาตรการและมีประสบการณ์ และเลือกการบินไทยและแอร์เอเชียมาเป็นต้นแบบในการเรียนรู้และแนวทางปฏิบัติสำหรับสายการบินที่มีเครื่องบินหลายแบบ และแบบเดียว และมีอีก 5 วิธีของการวัดค่า ที่จะนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับแต่ละสายการบินได้ จะเริ่มเก็บค่าข้อมูลการปล่อยในปี 62-63 ว่าแต่ละสายการบินปล่อยคาร์บอนปริมาณเท่าไรเพื่อใช้เป็นฐาน และในปี 64 และต่อๆ ไปจะวัดค่าหากปล่อยเกินจากฐานจะมีค่าชดเชย ดังนั้น สายการบินต้องหาวิธีที่ลดการใช้น้ำมัน ขณะที่ปริมาณการเติบโตด้านขนส่งทางอากาศ แนวโน้มปล่อยมากขึ้นแน่ ดังนั้นจะต้องเรียนรู้และหาเทคโนโลยีมาช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ เพื่อให้มีผลต่อต้นทุนน้อยที่สุด เพราะสายการบินต้องแข่งขันด้วย” นายศรัณย์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น