xs
xsm
sm
md
lg

ผุดโปรแกรม “Manifest Online” ติดตามกำจัด “ขยะติดเชื้อ” ลดลักลอบทิ้งกลางทาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์อนามัยที่ 5 ราชบุรี ผุดโปรแกรม “Manifest Online” ติดตามกำจัด “ขยะติดเชื้อ” ประเทศไทย ลดปัญหาบริษัทขนส่งลอบทิ้งกลางทาง ลดการติดเชื้อในสิ่งแวดล้อม อาหารและประชาชน ร่วม ม.แม่โจ้ - ม.ธรรมศาสตร์ เตรียมพัฒนาแท็กติดรถขนส่งขยะติดเชื้อในปี 2562

นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ ว่า มูลฝอยติดเชื้อ ส่วนมากมักเกิดจากโรงพยาบาล ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องจัดการควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อโรค ปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม แหล่งน้ำ อาหาร ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และเกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของโรงพยาบาล เนื่องจากปริมาณมูลฝอยติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย ปีละ 3 - 6% ซึ่งปี 2559 มีจำนวนทั้งสิ้น 55,646 ตันต่อปี และจากการตรวจสอบพบมูลฝอยติดเชื้อถูกทิ้งปะปนกับขยะ มูลฝอยทั่วไป หรือหายไปจากระบบ ร้อยละ 28 หรือ 15,646 ตันต่อปี แสดงให้เห็นถึงกระบวนการควบคุมกำกับการขนส่งมูลฝอยติดเชื้อไม่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลเพียงพอ

นพ.ดนัย กล่าวว่า กระบวนการควบคุมกำกับขนส่งมูลฝอยติดเชื้อแบบเดิม จะต้องมีการชั่งน้ำหนัก ระบุรายละเอียดต่างๆ เช่น แหล่งที่เก็บ ขน กำจัดมูลฝอยติดเชื้อ เป็นต้น รวมถึงบันทึกในแบบฟอร์มกระดาษทำสำเนา 6 สำเนา สำหรับผู้ก่อกำเนิดขยะหรือโรงพยาบาล ผู้เก็บ ผู้ขน ผู้กำจัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ดูแลกำกับ เพื่อใช้ในการควบคุม กำกับ ติดตาม และตรวจสอบ ซึ่งมีขั้นตอนค่อนข้างซับซ้อน ทำให้การจัดการควบคุมกำกับไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ เนื่องจากมีการรายงานไม่สม่ำเสมอ ไม่ครบถ้วน ควบคุมกำกับและติดตามยาก ไม่ทันเวลา อปท. ยังไม่สามารถสรุปสถานการณ์ทั้งด้านปริมาณ และรูปแบบการจัดการขยะมูลฝอยติดเชื้อของโรงพยาบาล ดังนั้น ศูนย์อนามัยที่ 5 ราชบุรี จึงได้จัดทำระบบโปรแกรม “Manifest Online” เพื่อควบคุมกำกับการขนส่งและกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้ออย่างเป็นระบบ

นพ.ชลทิศ อุไรฤกษ์กุล ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 5 ราชบุรี กล่าวว่า ที่ผ่านมา การขนส่งขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาลไปกำจัดยังแหล่งกำจัดนั้นไม่มีอะไรเป็นหลักประกัน ว่า ขยะติดเชื้อจะไปถึงแหล่งกำจัดจริง เพราะการบันทึกข้อมูลเป็นแบบการจดด้วยกระดาษ และต้องมีการกรอกถึง 6 สำเนา ทำให้การติดตามเป็นไปได้ยากว่ามีการนำขยะไปทิ้งจริงหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมา เชื่อว่า มีการลักลอบทิ้งขยะติดเชื้อกลางทาง แต่ไม่ทราบว่ามีจำนวนเท่าไร สาเหตุเนื่องมาจากผู้ขนส่ง ซึ่งรับค่าขนส่งและค่ากำจัดขยะจากโรงพยาบาลไปแล้ว แต่หากมีการลักลอบทิ้งก็ไม่ต้องเสียค่าน้ำมันในการขนส่ง รวมไปถึงไม่ต้องไปเสียค่ากำจัดขยะติดเชื้อที่ปลายทางด้วย ซึ่งการลักลอบทิ้งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน เสี่ยงโอกาสติดเชื้อทั้งในดิน แหล่งน้ำ และประชาชน

นพ.ชลทิศ กล่าวว่า ศูนย์อนามัยที่ 5 ราชบุรี จึงคิดโปรแกรมการขนส่งมูลฝอยติดเชื้อของประเทศไทย “Manifest Online” ขึ้น ซึ่งทันทีที่ขยะมูลฝอยติดเชื้อถูกขนส่งออกจากโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็จะได้รับการบันทึกข้อมูลลงในโปรแกรมทันที เช่น ปริมาณขยะเท่าไร บริษัทใดเป็นผู้ขนส่ง และบริษัทกำจัดขยะปลายทาง เมื่อได้รับขยะแล้วก็จะบันทึกข้อมูลลงในโปรแกรม ว่า ได้รับขยะแล้วจริงหรือไม่ ปริมาณเท่ากันหรือไม่ ซึ่งระบบจะมีความเป็นเรียลไทม์ ทำให้เมื่อบันทึกข้อมูลแล้ว ข้อมูลจะแจ้งกลับไปยังโรงพยาบาลที่ขนส่งขยะ อปท. ในพื้นที่ของโรงพยาบาล และ อปท. พื้นที่ของบริษัทกำจัดทันที ทำให้ทราบปริมาณขยะมูลฝอยติดเชื้ออย่างชัดเจน ลดการลักลอบนำไปทิ้งกลางทาง เพราะมีข้อมูลบ่งบอกชัดในโปรแกรม ถือเป็นการคุ้มครองประชาชนอีกทางหนึ่ง รวมถึงลดการใช้กระดาษ Carbon foot print ที่ส่งผลต่อการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ ลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกได้ โดยขณะนี้โรงพยาบาลสังกัด สธ. เกือบทุกแห่งใช้ระบบนี้แล้ว โดยแต่ละปีจะมีขยะมูลฝอยติดเชื้อประมาณ 30,000 ตันต่อปี แต่มีการบันทึกลงในโปรแกรมประมาณ 20,000 ตัน เรียกว่า ขยะติดเชื้ออยู่ในระบบแล้วถึง 2 ใน 3 ซึ่งปัญหาเกิดจากโรงพยาบาลไม่ได้บันทึกประจำทุกวัน ตรงนี้ก็ต้องให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งเข้มในการบันทึกข้อมูลมากขึ้น ส่วนบริษัทกำจัดขยะที่ใช้ระบบดังกล่าว หากเป็นบริษัทเอกชนมีไม่เกิน 10 แห่ง ส่วนของเทศบาลต่างๆ นั้นก็ประมาณ 5 - 6 แห่ง โดยรวมแล้วมีประมาณกว่า 10 แห่ง

“สำหรับการดำเนินการในปี 2562 จะมีการพัฒนาให้การบันทึกข้อมูลดีขึ้น ซึ่งขณะนี้กรมอนามัยได้ลงนามบันทึกความร่วมมือร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการทำแท็กติดรถของบริษัทขนส่ง เพื่อเวลาไปถึงบริษัทกำจัดแล้ว พอผ่านเซ็นเซอร์ก็จะรู้ได้ทันทีว่าขนขยะมาเท่าไร” นพ.ชลทิศ กล่าว

เมื่อถามว่า ขยะที่หายไปจากระบบนั้นไปอยู่ที่ไหน นพ.ดนัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา จะเห็นมีข่าวว่ามีขยะจาก รพ. ถูกทิ้งตามข้างทาง ซึ่งเรื่องนี้หากไม่ปรากฏเป็นข่าวเราก็ไม่ทราบ เพราะทาง รพ. มีการว่าจ้างบริษัทเก็บ ขนส่ง และทำลาย ซึ่งอย่างที่บอกว่ามีการลงข้อมูลในกระดาษทำให้การติดตามยาก ถึงปลางทางก็หายไปแต่เราไม่รู้ คาดว่า ซึ่งอันตรายเกิดการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม แต่หลังจากพัฒนาโปรแกรมนี้แล้วจะใช้ข้อมูลเดียวกันตั้งแต่ต้นทาง ปลายทางเลย อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาด้วย รถที่ขนส่งขยะติดเชื้อจาก รพ. จะมีลักษณะเป็นรถเก็บความเย็นเพื่อควบคุมการแพร่กระจายเชื้อโรคต่างๆ มีทั้งรถ 4 ล้อ และ 6 ล้อ ส่วนถุงขยะจะเป็นสีแดง สังเกตง่ายหากพบว่ามีการออกนอกเส้นทางหรือลอบเอาไปทิ้งตามธรรมชาติสามารถแจ้งได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอทุกแห่ง นอกจากนี้ ยังจะคุยกับกรมการขนส่งให้ติดระบบจีพีเอสรถขนส่งขยะด้วย สำหรับขยะติดเชื้อของ รพ. ส่วนใหญ่มาจาก รพ. ของรัฐ 57% คลินิกเอกชน 19% รพ. เอกชน 17% และ รพ.สต. 6%




กำลังโหลดความคิดเห็น