กรณีปลาวาฬนำร่อง เพศผู้ น้ำหนักประมาณ 500 กิโลกรัม ซึ่งมีอาการป่วยและพลัดหลงเข้ามาเกยตื้นในคลองนาทับ ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา และต่อมาปลาวาฬตัวนี้ได้ตายลง โดยสำรอกขยะพลาสติกจำนวนหนึ่งออกมาจากทางปาก
เมื่อทีมสัตวแพทย์ ศูนย์วิจัยฯ ชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง ได้ทำการผ่าชำแหละเพื่อศึกษาสาเหตุการตายอย่างละเอียด จึงพบว่าปลาวาฬตัวนี้มีถุงพลาสติกอยู่ในกระเพาะอาหารจำนวนกว่า 80 ชิ้น น้ำหนักกว่า 8 กิโลกรัม ทำให้มันไม่สามารถย่อยอาหารได้ และค่อยๆ ขาดอาหารจนป่วยตายในที่สุด แม้ทีมสัตวแพทย์พยามช่วยเหลืออย่างเต็มที่แล้วก็ตาม
การตายของปลาวาฬนำร่อง ชนิดครีบสั้นตัวนี้ เป็นสัญญาณบอกให้รู้กันทั่วโลกว่าขณะนี้ปัญหาขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลที่ลอยเป็นแพอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยมีขนาดใหญ่กว่าประเทศฝรั่งเศสถึง 3 เท่า กำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติหนักขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ความพยายามในการจัดการขยะเหล่านี้ขององค์กรต่างๆ มีสิ่งที่ท้าทายเกิดขึ้นทุกวันนั่นคือปริมาณขยะใหม่ที่เพิ่มขึ้น แม้จะพยายามกำจัดเท่าใด กลับดูเหมือนว่าปริมาณขยะพลาสติกในทะเลและมหาสมุทรทั่วโลกกลับไม่มีทีท่าว่าจะลดลงเลย
กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อ้างอิงข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษในปี 2556 ซึ่งได้สำรวจปริมาณขยะมูลฝอยทั่วประเทศจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยรวม 26.77 ล้านตัน แต่ถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้องเพียง 7.2 ล้านตัน มีขยะมูลฝอยที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์อยู่ที่ 5.1 ล้านตัน ในขณะที่ขยะมูลฝอยจำนวน 6.9 ล้านตันไม่ได้นำไปกำจัดอย่างถูกต้อง
ส่วนอีก 7.6 ล้านตันคือปริมาณขยะมูลฝอยที่ตกค้างอยู่ในพื้นที่ จะเห็นได้ว่าเกินครึ่งของขยะมูลฝอยในประเทศไทยไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี ขยะที่ไม่ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธีเป็นปัญหาใหญ่ของการจัดการขยะของไทย ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น 1.ขาดจิตสำนึกเพื่อสาธารณะ เมื่อประชาชนยังเห็นแก่ความสะดวกสบาย จึงสร้างขยะมากมายโดยไม่รู้ตัว (คนไทยสร้างขยะประมาณ 1.1 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน) โดยเฉพาะการใช้ถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้ยากและเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม
2.ขาดแรงจูงใจในการจัดการขยะ เนื่องจากคนไทยไม่ได้เห็นประโยชน์ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตมากพอ เช่น เรื่องการแยกขยะ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการแยกประเภทขยะก่อนทิ้งเพราะไม่ได้เห็นผลอย่างชัดเจนว่าการแยกขยะก่อนทิ้งนั้นสำคัญอย่างไร หรือจะเป็นเรื่องการนำของกลับมาใช้ใหม่ คนส่วนใหญ่ยังมองว่าการทิ้งขยะเป็นวิธีกำจัดขยะที่ง่ายที่สุด 3.ขาดการส่งเสริมทัศนคติที่ดีและความเข้าใจในเรื่องการจัดการขยะที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม และ 4.ขาดมาตรการทางกฎหมายที่จะลดการใช้ขยะอย่างจริงจัง เช่น การห้ามใช้ถุงพลาสติก หรือ การเพิ่มภาษีของบริษัทผู้ผลิตพลาสติก เป็นต้น
อย่างไรก็ตามปัญหาขยะพลาสติกล้นโลกในเวลานี้ได้ส่งผลเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะแม่น้ำลำคลอง ทะเล และมหาสมุทร ที่มีแพขยะลอยวนอยู่ ขยะเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตสัตว์จำนวนมาก โดยเฉพาะสัตว์ทะเลหายาก เช่น ปลาวาฬ ปลาโลมา พะยูน และเต่าทะเล ที่มีจำนวนสัตว์เกยตื้นเมื่อปี 2560 จำนวนกว่า 400 ตัว หลายตัวป่วยและตายเพราะมีขยะพลาสติกกีดขวางระบบย่อยและดูดซึมอาหาร นอกจากนี้ขยะประเภทเศษอวนยังเป็นอันตรายต่อชีวิตสัตว์ที่ว่ายไปติด ซึ่งเป็นสาเหตุให้สัตว์ทะเลหายากจำนวนมาก ต้องตายไปและมีจำนวนลดน้อยลงทุกที
หากมนุษย์ทุกคนที่ใช้พลาสติกยังคงมีพฤติกรรมแบบ 100 กว่าปีที่ผ่านมา เชื่อว่าวิกฤติของทะเลไทยและทะเลอื่นๆ ทั่วโลกจะยิ่งหนักขึ้น และสุดท้ายแล้วในท้องทะเลอาจมีสัตว์ประเภทเดียวที่เหลืออยู่นั่นคือสัตว์ต่างๆ ที่สร้างหรือประดิษฐ์ขึ้นมาจากพลาสติก เช่น ตุ๊กตา หรือของเล่นรูปสัตว์ต่างๆ ซึ่งกลายเป็นขยะที่มีปริมาณสูงในอันดับต้นๆ นอกเหนือจากภาชนะและบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ที่ทำมาจากพลาสติก
ซึ่งหากเวลานั้นมาถึง คงไม่มีใครอยากคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตคนจำนวนมากที่พึ่งพามหาสมุทรเป็นทั้งที่อาศัย ทำมาหากิน และขยายเผ่าพันธุ์ หากวันหนึ่งมันต้องล่มสลายลงไปโดยใช้ประโยชน์อันใดไม่ได้อีกเลย เป็นเพียงมหาสมุทรที่เต็มไปด้วยขยะมูลฝอยและสิ่งมีพิษ หากพิจารณาให้ถี่ถ้วน ผลกระทบจากความศิวิไลซ์ครั้งนี้ เป็นผลมาจากการกระทำของคนทั้งสิ้น และก็คนอีกเช่นกันที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการ “ฆาตกรรมปลาวาฬ” ที่กินถุงพลาสติกซึ่งเป็นขยะที่คนที่ลงไปในทะเล จนตาย (ชมเนื้อหาจากคลิปวิดีโอ)